xs
xsm
sm
md
lg

แนวคิดใหม่ของอนาคตแห่งการทำงาน จากมุมมอง Intel

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยทำให้รัฐบาลได้ประกาศมาตรการรับมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ การปิดพื้นที่สาธารณะชั่วคราวทั้งห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงาน และขอความร่วมมือนายจ้างให้อนุญาตพนักงานทำงานจากที่บ้านได้ (Work from home หรือ WFH) จนถึงสิ้นเดือนเมษายนหรือจนกว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น

สถานการณ์และวิธีการรับมือต่อโรคระบาดนี้ดำเนินไปอย่างคล้ายคลึงกันในทุกภูมิภาคและทั่วโลก ซึ่งรัฐบาล บริษัท และธุรกิจทั่วโลกต่างปรับใช้นโยบายการทำงานจากที่บ้านแก่พลเมืองและพนักงานของตน

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่มีต่อวิถีชีวิตและการทำงานนี้จะยังคงส่งผลต่อไปในอีกระยะหนึ่ง ทั้งการทำงานที่จะต้องเปลี่ยนไปตามความเป็นจริงแบบใหม่ในปัจจุบัน และการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ตอบโจทย์การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้ธุรกิจและการจ้างงานสามารถดำเนินต่อไปได้ ถึงแม้ว่าการปรับตัวนี้อาจสร้างความสับสนให้กับคนทำงานที่ต้องหาความสมดุลระหว่างความจำเป็นในการมีงานทำกับความท้าทายที่ต้องเผชิญเมื่อทำงานจากที่บ้าน ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มแย่ลง


ซานโตช วิศวะนาธาน กรรมการผู้จัดการบริษัทอินเทลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้เล็งเห็นความสำคัญที่น่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองของทั้งพนักงานและนายจ้างต่อการเปลี่ยนนิยามของคำว่าสถานที่ทำงานในแบบที่ควรจะเป็น และประโยชน์ของการทำงานจากที่บ้านในอนาคต

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในเรื่องวิถีการทำงานอย่างน้อย 4 เรื่องอันได้แก่

1.ความสามารถในการทำงานจากทุกที่กลายเป็นมาตรฐานใหม่

เทคโนโลยีได้ค่อยๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ใช้งานมานานหลายปี แต่การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมานี้ทำให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและหลายๆ ธุรกิจจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และเร่งด่วนเพื่อหาวิธีทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีข้อจำกัดมากมายจากมาตรการยับยั้งโรคระบาดในปัจจุบัน

ถึงแม้จะมีความขัดข้องบ้างในระยะแรกๆ และยังคงมีอีกหลายปัญหาที่ต้องจัดการโดยเฉพาะมาตรฐานด้านความปลอดภัยของข้อมูล แต่กลับกลายเป็นการพิสูจน์แล้วว่าการแยกย้ายทำงานจากหลากหลายสถานที่ยังช่วยให้เรารักษาประสิทธิภาพในการทำงานได้ โดยเฉพาะในส่วนงานสำคัญของทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งพัฒนาพื้นฐานของสังคมแห่งการเชื่อมต่อในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง

และเมื่อการทำงานสามารถดำเนินต่อไปได้ ธุรกิจและองค์กรต่างๆ จะหันมาตระหนักได้ในที่สุดว่าความปรกติรูปแบบใหม่นี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง แม้พนักงานบางส่วนยังคงต้องทำงานทางไกลอยู่ และความสามารถในการทำงานได้จากทุกที่จะไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกอีกต่อไป แต่กลายเป็นความจำเป็นของการทำงานไปแล้ว

2.การสรรสร้างแนวคิดใหม่ของสถานที่ทำงาน

เมื่อเราสามารถทำงานได้จากทุกที่ ทำให้เห็นถึงภาพสถานที่ทำงานในอนาคตที่จะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ อันดับแรกคือบรรดานายจ้างต้องพยายามปรับให้การทำงานจากบ้านผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารกลายเป็นเรื่องถาวร จากการสำรวจของ Gartner พบว่า 74% ของประธานบริหารฝ่ายการเงิน (CFO) กำลังวางแผนย้ายพนักงานที่เคยทำงานในออฟฟิศให้ทำงานทางไกลมากขึ้นภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยนโยบายนี้จะช่วยธุรกิจให้ประหยัดค่าเช่าสำนักงาน ค่าบำรุงรักษา และค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้เพราะไม่จำเป็นต้องให้คนจำนวนมากมาทำงานในสถานที่เดียวกันอีกต่อไป

ทั้งนี้ เชื่ออย่างยิ่งว่าการติดต่อสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยพัฒนาศักยภาพในการทำงานร่วมกันและสร้างนวัตกรรมได้ บางทีแนวคิดใหม่ที่มีผู้คนในที่ทำงานน้อยลงนี้อาจเป็นการตอกย้ำถึงกระบวนทัศน์ใหม่ของการทำงานในสถานที่ความคิดต่างๆ การปฏิสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมงานสามารถพัฒนาได้ดีกว่าการนั่งทำงานแบบเดิมในพื้นที่สี่เหลี่ยมเพียงลำพัง

การทบทวนแนวคิดใหม่ทั้งหมดเกี่ยวกับพื้นที่สำนักงานจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้ และคาดว่าไอเดียของออฟฟิศยุคใหม่เหล่านี้จะถูกนำมาใช้อย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย

3.การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานที่บ้านพร้อมกับความไว้วางใจกันที่สูงขึ้น

การใช้แล็ปท็อปและอุปกรณ์พกพาอย่างแพร่หลายทำให้เกิดแนวคิดของอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานและพร้อมเชื่อมต่อได้ตลอดเวลา และนายจ้างบางรายก็สามารถใช้ประโยชน์นี้ได้ แต่บ่อยครั้งก็ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตเลือนหายไป

เป็นความเป็นจริงที่ว่าการทำงานทางไกลทำให้วัดผลได้ยาก พนักงานจึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องจัดการบริหารตัวเองให้มากขึ้น แนวคิดการทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อวัดความสำเร็จเป็นสาเหตุให้พนักงานใช้เวลาทำงานจากที่บ้านนานขึ้นกว่าทำงานที่ออฟฟิศ

เนื่องจากนโยบายการทำงานจากที่บ้านของหน่วยงานธุรกิจและภาครัฐถูกนำมาใช้และทดสอบอย่างเร่งรีบ ทำให้ทั้งนายจ้างและพนักงานต้องเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อกันมากขึ้น นายจ้างเองต้องเชื่อใจพนักงานว่าจะทำงานได้สำเร็จแม้ต้องปรับเปลี่ยนบางด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวในขณะทำงานจากที่บ้านไปด้วย

สำหรับพนักงาน ความยืดหยุ่นและความไว้วางใจที่ได้รับจะช่วยเพิ่มผลิตผลของงานได้ถึงแม้ต้องทำงานจากบ้าน จากการศึกษาที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่าพนักงานคอลเซ็นเตอร์ที่ทำงานจากที่บ้านมาแล้วเป็นเวลา 9 เดือนมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 13 เปอร์เซ็นต์

แน่นอนว่าเรายังได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพและความร่วมมือในราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้สำหรับใครหลายๆ คน ทั้งการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แล็ปท็อปทรงประสิทธิภาพในรูปลักษณ์ที่บางเบา รวมไปถึงแพลตฟอร์มบนระบบคลาวด์เพื่อบริการด้านการเงิน อีคอมเมิร์ซ และอื่นๆ อีกมากมาย

4.บรรทัดฐานใหม่ทางสังคมที่เกิดขึ้น

หลากหลายธุรกิจเคยกังวลที่จะปรับใช้วิธีปฏิบัติให้ทำงานได้ยืดหยุ่นขึ้นก่อนเกิดการระบาดใหญ่ แต่ ณ ปัจจุบันโลกเข้าสู่การทำงานจากบ้านอย่างเร่งด่วน และการทำงานอย่างยืดหยุ่นจึงจะกลายเป็นบรรทัดฐานในโลกยุคหลังโควิด-19

ในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เราเห็นความสะดวกสบายมากขึ้นในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานร่วมกัน และผู้คนเริ่มใช้วิดีโอเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและยั่งยืน (ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทำงานหรือส่วนตัว) แม้ต่างก็อยู่ห่างไกลจากกันและกัน

ในระดับของบุคคลและสังคม เราจะเริ่มตระหนัก ตอบสนองได้ไว และรู้สึกสบายใจต่อบทปฏิบัติเรื่องการเว้นระยะห่างกันมากขึ้น คนจำนวนมากใช้เวลาอยู่บ้านนานขึ้นจนสามารถสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงานได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนวินัยในตนเองให้เกิดผลงานสูงสุดในช่วงเวลาทำงาน หรือกำหนดเวลาเลิกงานที่ชัดเจนให้สามารถมีเวลาร่วมกับครอบครัวได้ จนกลายเป็นวิถีที่ติดตัวไปภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่เราหวังว่าจะเห็นการสังสรรค์กันในหมู่เพื่อนฝูงหลังเวลางานบ่อยขึ้น หรือคนมีเวลาว่างเพื่อทำกิจกรรมที่ชอบได้ เช่น การเข้าร่วมงานคอนเสิร์ต

แม้การทำงานจากบ้านเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อรักษาสุขภาพและชีวิตของพวกเรา แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับรู้สึกว่ามันไม่สามารถแทนที่การสานสัมพันธ์และมิตรภาพของการทำงานในออฟฟิศและการพบปะกับเพื่อนร่วมงานในชีวิตจริงได้

ย้อนกลับไปเมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ได้เริ่มต้นขึ้นนั้น เราให้ความสำคัญกับบทบาทของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลต่อการกำหนดความสำคัญของธุรกิจในโลกอนาคต แม้กระทั่งช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆ สำหรับหลายธุรกิจ จนกระทั่งปรากฏการณ์
โควิด-19 ได้กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับการปฏิวัติธุรกิจสู่ดิจิทัล บริษัทต่างๆ เริ่มเร่งให้การยอมรับแนวทางการทำงานแห่งอนาคตหลังจากที่หารือกันมานานหลายปี เพราะความพร้อมทางดิจิทัลไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับทุกฝ่าย โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหันมาทบทวนและคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างงาน เทคโนโลยี และผู้คนเป็นสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้นเมื่อผ่านพ้นวิกฤตินี้ไป


กำลังโหลดความคิดเห็น