xs
xsm
sm
md
lg

ไทยคม ยินดีเป็นพันธมิตรกับ กสท โทรคมนาคม หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดาวเทียม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คาดเดือนพ ค.นี้ ครม. เคาะดาวเทียมไทยคม ให้ กสท โทรคมนาคม บริหารจัดการไปก่อน เหตุทำ PPP ไม่ทัน แย้มหาพันธมิตรทำงานร่วมกัน ขณะที่ไทยคมเด้งรับยินดีทำงานร่วมกับ กสท โทรคมนาคม ในการบริหารจัดการดาวเทียมต่อไป

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ประชุมเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รับโอนหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้บริการดาวเทียม กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในเดือน ก.ย.2564 นั้นคาดว่ากระทรวงดีอีเอสจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทได้ส่งแผนในการบริหารจัดการดาวเทียมให้กับกระทรวงดีอีเอส เรียบร้อยแล้ว ทั้งดาวเทียมดวงที่ 4 ที่จะเหลือพลังงานเชื้อเพลิงใช้ได้อีก 2 ปี หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2564 ซึ่งต้องใช้งบประมาณปีละ 200 ล้านบาท จึงต้องประเมินระยะเวลาในการบริหารจัดการด้วยว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือดูแลในระยะยาวหรือไม่

ประกอบกับดาวเทียมไทยคม 4 ลูกค้าได้ย้ายออก เพราะไม่มีความชัดเจนในการสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทน ตามที่ ไทยคม พยายามจะสร้างดาวเทียมดวงที่ 9 ทดแทน แต่ติดปัญหาการจองช่องสัญญาณดาวเทียม ทำให้ต้องยุติแผนการสร้าง ส่วนดาวเทียมไทยคม 5 ปลดระวางไปแล้ว เหลือเพียงดาวเทียมไทยคม 6 ที่เพิ่งยิงขึ้นสู่วงโคจรในปี 2557 สามารถใช้งานได้ 15 ปี จนถึงปี 2572 ที่ยังคงมีลูกค้าเช่าใช้เต็มประสิทธิภาพ

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องดังกล่าวผ่าน 2 บอร์ดแล้ว คือ คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และบอร์ดดีอี โดยที่ต้องรอมติ ครม.ก่อน ซึ่งคาดว่าดีอีเอสจะนำเข้า ครม.ภายใน 2 สัปดาห์นี้ โดยการบริหารจัดการดาวเทียม บริษัท จะเข้ามาดูสินทรัพย์ที่หมดอายุด้านการใช้งานวิศวกรรม จะมีบางส่วนที่บริษัทดำเนินการเอง และบางส่วนต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา

ด้านนายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยคม เปิดเผยว่า บริษัทมีการเจรจากับ กสท โทรคมนาคม เพื่อทำงานร่วมกัน หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน ก.ย.2564 อย่างไรก็ตามต้องรอทุกอย่างมีความชัดเจนก่อน ซึ่งเจตนารมณ์คือ หาทางออกร่วมกัน เพื่อให้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ดำเนินการได้

ส่วนการเจรจาจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ อยู่ที่ กสท โทรคมนาคม และรอความชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่ง ไทยคม ยินดีทำงานร่วมกับ กสท โทรคมนาคม แต่ต้องรอทุกอย่างชัดเจน ทั้งมติ ครม. รอเงื่อนไขของกระทรวงดีอีเอสและ กสท โทรคมนาคม ในการหาผู้ร่วมดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น