ดีอีเอสเตรียมให้ กสท โทรคมนาคม ดูแลกิจการดาวเทียมต่อหลังไทยคมหมดอายุสัญญาสัมปทาน รอบอร์ดกิจการอวกาศพิจารณากลางเดือนมี.ค.และส่งผลเข้าบอร์ดดีอีปลายเดือนมี.ค.เพื่อเสนอเข้าครม.ตามลำดับ เหตุทำ PPP ไม่ทัน ด้าน 'พ.อ.สรรพชัย' มั่นใจกสทมีความพร้อมทุกด้าน
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วงกลางเดือน มี.ค. 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะนำวาระเกี่ยวกับการมอบหมายให้ กสท โทรคมนาคม ดูแลกิจการดาวเทียม ดวงที่ 4,5 และ 6 ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาในเดือน ก.ย. 2564 เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาให้ กสท โทรคมนาคม ดูแลกิจการดาวเทียม
เนื่องจากไม่สามารถดำเนินตามกระบวนการหาพันธมิตรทำ PPP ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ทัน ซึ่งขั้นตอนในการทำ PPPนั้น จำเป็นต้องได้บริษัทที่ดำเนินการตามกฎหมายก่อน 1 ปี ที่จะหมดสัญญาสัมปทาน เดือน ก.ย. 2564 คือ เดือน ส.ค. 2563 แต่กระบวนการในการร่างทีโออาร์ต่างๆยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันกำหนด กระทรวงฯจึงได้เสนอวาระแจ้งเพื่อทราบให้คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ รับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ว่าจะดำเนินการตาม ม. 49 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดยให้ กสท โทรคมนาคม ทำโครงการแบบ จีทูจี
ทั้งนี้ เนื้อหาของมาตราดังกล่าว ระบุว่า ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแนวทางดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด โดยเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเองและกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ ความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะและผลกระทบต่อประชาชน ในกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าของสังกัดกำหนดให้มีการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดโดยการร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ ดําเนินการตามพระราชบัญญัตินี้เสมือนเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่
พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า กสท โทรคมนาคม ได้ส่งแผนในการบริหารจัดการดาวเทียมแทนกระทรวงในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวงดีอีเอสให้กับกระทรวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งดาวเทียมดวงที่ 5 ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว และดาวเทียมดวงที่ 4 ที่จะหมดพลังงานหลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2564 ซึ่งหาก กสท โทรคมนาคม ได้รับดาวเทียมมาบริหารจัดการต้องใช้งบประมาณปีละ 200 ล้านบาท จึงต้องประเมินระยะเวลาในการบริหารจัดการด้วยว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือดูแลในระยะยาวหรือไม่ ขณะที่ลูกค้าไทยคม 5 ถูก ไทยคม ย้ายไป อยู่กับ ดาวเทียมต่างชาติแล้ว เนื่องจากดาวเทียม 5 เสื่อมสภาพ
นอกจากนี้ไทยคม 4 ลูกค้าก็ย้ายออกจากระบบจำนวนมาก เพราะไม่มีความชัดเจนในการสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนดวงที่ 4 ตามที่ไทยคมพยายามจะสร้างดาวเทียมดวงที่ 9 ทดแทน แต่ติดปัญหาการจองไฟล์ลิ่ง หรือ การจองช่องสัญญาณดาวเทียม ทำให้ต้องยุติแผนการสร้าง เหลือเพียงดาวเทียมไทยคม 6 เท่านั้นที่เพิ่งยิงขึ้นสู่วงโคจรในปี 2557 สามารถใช้งานได้ 15 ปี ไปจนถึงปี 2572 ที่ยังคงมีลูกค้าเช่าใช้เต็มประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม กสท โทรคมนาคม ก็มีความยินดีและพร้อมที่จะทำหน้าที่ในการดูแลกิจการดาวเทียมให้กระทรวงดีอีเอสทั้งรูปแบบ จีทูจี ตาม ม. 49 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และ แบบชั่วคราวระหว่างหาบริษัททำPPPตามมาตรา 50 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯที่ระบุว่า เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ความมั่นคงของประเทศ หรือมีเหตุที่ทําให้การดําเนินโครงการหยุดชะงักลง จนทําให้มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชาชนหรือเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หน่วยงานเจ้าของโครงการโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมีอํานาจพิจารณาดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถเข้าดําเนินโครงการร่วมลงทุนหรือมอบให้ผู้อื่นเข้าดําเนินโครงการร่วมลงทุนเป็นระยะเวลาชั่วคราวได้
ดังนั้นเรื่องนี้ต้องรอดูผลการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ก่อนว่าจะลงมติให้ทำแนวทางไหน จากนั้นจึงส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ซึ่งกำหนดจัดให้มีการประชุมช่วงปลายเดือนมี.ค. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วที่สุด ในการลงมติให้ดำเนินการต่อไป