กสทช.เร่งปรับเงื่อนไขเปิดเสรีดาวเทียม ผ่อนปรนเงื่อนไขยกเว้นเก็บเงินหลักประกันให้หน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ทำกิจการเชิงพาณิชย์ ขณะที่เอกชน หากพบเหตุไม่สามารถดำเนินกิจการได้ภายใน 7 ปี ไม่ต้องยึดเงินประกัน พร้อมลดข้อกังวลด้านความมั่นคง ชี้บริษัทต่างชาติต้องตั้งบริษัทในไทยและมีโครงข่ายเกตเวย์ในประเทศไทยด้วย
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า (ร่าง) แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ ได้ผ่านเวทีประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้วในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะนำข้อสรุปจากผลการประชาพิจารณ์พร้อมทั้งการปรับร่างดังกล่าวเข้าที่ประชุมกสทช.ภายในวันที่ 24 ธ.ค. 2562 หากไม่มีการปรับแก้ ก็สามารถนำไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในต้นปี 2563
สำหรับ (ร่าง) แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการปรับเนื้อหาหลักมากนัก มีเพียงการปรับข้อความเล็กน้อย จากเดิมที่กสทช.จะดำเนินการสอดคล้องตามนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกำหนด แต่เวทีประชาพิจารณ์เห็นว่า กสทช.เป็นองค์กรอิสระต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้ตัดข้อความดังกล่าวออก
ขณะที่ ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม ได้มีการยกเว้นการวางเงินหลักประกันก่อนสร้างดาวเทียมในกรณีเป็นหน่วยงานรัฐ หากมีการสร้างดาวเทียมเพื่อการวิจัยและการศึกษา รวมถึง การใช้งานที่ไม่แสวงหาผลกำไร จากเดิมที่กำหนดเก็บเงินหลักประกันอยู่ที่ 2.5% ส่วนเงินหลักประกันของเอกชนกำหนดไว้ที่ 5% ตามเดิม รวมถึงเรื่องเงื่อนไขการยึดเงินประกัน ที่กสทช.กำหนดให้ยึดเงินประกันหากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ภายใน 7 ปี กสทช.จะผ่อนปรนให้หากดูแล้วเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถดำเนินการได้จริง รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขเรื่องสิทธิขั้นสมบูรณ์ของดาวเทียมให้ยึดตามประกาศของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จากเดิมที่ยึดตามที่กสทช.กำหนด และเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง กสทช.จึงได้มีการกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบวัตถุในอวกาศด้วย
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า ค่าธรรมเนียมการอนุญาตขอใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม หากเป็นดาวเทียมไทย เก็บค่าไฟล์ลิ่ง 2 ล้านบาท ต่อ 1 สิทธิ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีอยู่ที่ 0.25 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการประกอบกิจการดาวเทียม ส่วนดาวเทียมต่างชาติเก็บค่าไฟล์ลิ่งเท่ากับดาวเทียมไทย แต่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีแพงกว่า อยู่ที่ 3.2 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการประกอบกิจการดาวเทียม
ส่วนเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ เป็นเรื่องที่เวทีประชาพิจารณ์มีความเห็นมากที่สุด เพราะกังวลเรื่องความมั่นคง และการเข้ามาแข่งขันของต่างชาติมากเกินไป กสทช.จึงได้ปรับแก้รายละเอียด เพื่อลดปัญหาความกังวลด้านความมั่นคง จึงกำหนดดาวเทียมต่างชาติ ต้องมีการตั้งบริษัทในไทย และ มีโครงข่ายเกตเวย์ หรือ อัปลิงค์ สเตชั่น ในประเทศไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศ ประเทศไทยจะสามารถปิดระบบได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับสถานทูตที่กำหนดให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติที่ไม่มีบริษัทในประเทศไทยได้
นอกจากนี้ยังมีการปรับเงื่อนไขกิจการเรือที่แต่เดิมใช้ดาวเทียมต่างชาติได้เสรี เปลี่ยนเป็นกำหนดให้บริษัทดาวเทียมต่างชาติต้องมีสำนักงานในประเทศไทยด้วย ส่วนกิจการเพื่อให้บริการ USO กำหนดให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติที่ไม่มีบริษัทในประเทศไทยได้ในกรณีให้บริการ USOไม่เกิน 1 ปี หากเกิน 1 ปี จำเป็นต้องเข้าตามระบบของกสทช.เพื่อปิดช่องว่างไม่ให้ต่างชาติเข้ามาด้วยการอ้างการให้บริการ USO
“ในเวทีประชาพิจารณ์ มีเอกชนที่ให้ความสนใจในการใช้ดาวเทียมต่างชาติหลายบริษัท ขณะที่ภาครัฐและหน่วยงานความมั่นคงเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง และการเข้ามาแข่งขันของต่างชาติ ขณะที่ไทยคมเองนั้น ตนเองมองว่า เรื่องการเปิดเสรีจะเป็นสิ่งที่ดี และทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นในการสร้างดาวเทียม หลังจากที่ผ่านมาเขาเคยติดปัญหาความไม่ชัดเจนและไม่สามารถยิงดาวเทียมไทยคม 9 ได้ ส่วนเรื่องการแข่งขันต่างชาติอย่างเสรี ก็คล้ายกับธุรกิจสายการบิน ที่มีการแข่งขันเช่นกัน ” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว