xs
xsm
sm
md
lg

ส่องมาตรการดีอีเอสสู้ภัยโควิด-19 (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอีเอส ผุดมาตรการสู้ภัยโควิด-19 หนุน 2 แอปพลิเคชันรายงานกลุ่มเสี่ยงติดโควิด-19 พร้อมอัปเดทสถานการณ์โรคแบบเรียลไทม์ ขณะเดียวกันยังได้จับมือเอกชนสร้างแพลทฟอร์มทำงานออนไลน์ที่บ้านเอื้อภาครัฐและรัฐวิสาหกิจไม่ต้องออกจากบ้าน ปรับงบประมาณกระทรวงดีอีเอส ยกเลิกอีเว้นท์ เน้นงบประมาณสอดรับโควิด-19

ทันทีที่มีการระบาดของโควิด-19 การหยุดเชื้อ ด้วยการอยู่บ้าน จึงเป็นวิธีที่สามารถยับยั้งการแพร่เชื้อได้ดีที่สุด ดังนั้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการทำงานรวมถึงการติดตามประชาชนกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จึงกลายเป็นกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวเพื่อลดการแพร่เชื้อและลดการรวมกลุ่มกัน

***ผุดแอปตามติดโควิด-19

คำสั่งของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้สิ่งแรกที่กระทรวงดีอีเอสต้องเร่งทำคือการติดตามผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ คือ การเลือกแอปพลิเคชันในการติดตามดังกล่าว ซึ่งจากนโยบายเร่งด่วนและโรคระบาดที่รอไม่ได้ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส จึงตัดสินใจหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ในการเลือกแอปพลิเคชัน AOT Airports เพื่อสะดวกในการติดตามตัวหากมีการตรวจพบโควิด -19 ก่อนออกจากจุดตรวจคนเข้าเมือง

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
นอกจากนี้ได้ปรับปรุงการใช้งาน เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใช้ติดตามตัวประชาชนที่เดินทางกลับจาก กทม. และปริมณฑล ไปยังภูมิลำเนาของตนเอง หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งให้ทุกจังหวัดลงไปสำรวจข้อมูลประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ช่วยให้การกักกันตัวเอง (Self quarantine) มีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มนำร่องที่ จ.บุรีรัมย์ เป็นแห่งแรก มีขั้นตอนคือ เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ไปพบกับบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่กลับมาจาก กทม. ถึงที่บ้าน และให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว จากนั้นระบบจะแจ้งเตือน 3 ครั้งภายใน 12 ชม. เพื่อให้บุคคลนั้นระบุสถานที่กักกันตัวเอง

เมื่อระบุสถานที่กักกันตัวเองแล้ว ผู้ใช้จะต้องกักตัวเองอยู่ในพื้นที่ 14 วัน และทุกวันต้องรายงานตัวผ่านระบบ ด้วยการถ่ายรูป 3 เวลา คือ 10.30 น. 14.30 น. และ 18.00 น. เจ้าหน้าที่จะเห็นสัญลักษณ์สีเขียวว่าได้ดำเนินการแล้ว ถ้าไม่ทำตามกำหนด ระบบจะแจ้งเตือนผู้ใช้ทุกชั่วโมง และหากผู้ใช้ออกจากสถานที่กักกันเกิน 50 เมตร จะปรากฏสัญลักษณ์สีส้ม ผู้ใช้ไม่รายงานตัว สัญลักษณ์จะเป็นสีแดง ผู้ใช้ปิดแอป สัญลักษณ์จะเป็นสีเทา ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ข้อมูลและลงไปตามหาตัวในพื้นที่ได้ทันที

แอปพลิเคชันดังกล่าวมีลักษณะเป็นแผนที่ทั้งประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลแต่ละจังหวัดจนถึงระดับพื้นที่ได้ โดยแต่ละพื้นที่ยังระบุชื่อและสถานะของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้อย่างละเอียด จึงช่วยให้ส่วนกลาง รวมไปถึงผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ติดตามตัวและรู้ข้อมูลของผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปประยุกต์ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองที่ประจำจุดตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ใช้ในการตรวจสอบว่าบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้รายงานตัวและกักกันตัวเองครบ 14 วันแล้ว ตามมาตรฐานการควบคุมโรคแล้วหรือไม่ได้อีกด้วย


นอกจากนี้กระทรวงฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สตาร์ทอัป และอินฟลูเอนเซอร์ ยังพัฒนาเว็บไซต์ ThaiFightCOVID (https://thaifightcovid.depa.or.th/) เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลภาครัฐเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ผ่านการยืนยันจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ให้สามารถตามติดสถานการณ์ได้รอบด้าน โดยข้อมูลหลักๆ ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ 1.รายงานสถานการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อ รักษาหาย และเสียชีวิต อัปเดททุกวันทันทีที่ได้รับข้อมูลสรุปจากกรมควบคุมโรค 2.ร่วมค้นหาหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และถังออกซิเจน มีรายชื่อร้านค้า ร้าน 7-11 และร้านขายยา 3.รายชื่อและพิกัดที่ตั้งโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิด-19 และ 4.แหล่งรวมดิจิทัลสู้ภัยโควิด-19 ซึ่งระยะต่อไปจะมีการเปิดช่องทางให้ประชาชนส่งคำถามเข้ามา ตลอดจนระบุพิกัดพื้นที่ซี่งเคยพบการติดเชื้อโควิด-19 โดยอ้างอิงข้อมูลที่เปิดเผยโดยกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลทั้งหมดจะนำเสนอให้ดูง่าย และมีการอัปเดทแผนที่แบบเรียลไทม์

***หนุนแพลตฟอร์มทำงานที่บ้าน

“พุทธิพงษ์” กล่าวว่า อีกสิ่งที่สำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อคือการสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ทำงานที่บ้านด้วยแพลตฟอร์ม work from home โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. เป็นผู้ประสานงานการทำงาน เพื่อนำเครื่องมือของเอกชน ไมโครซอฟท์ ซิสโก้ และ กูเกิล และ แพลทฟอร์มประชุมทางไกล แคท คอนเฟอร์เรนซ์ ของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ล่าสุดจากข้อมูล ณ วันที่ 30 มี.ค. 2563 มีจำนวนหน่วยงานลงทะเบียน จำนวน 728 หน่วยงาน รวมจำนวนผู้ขอใช้งาน 599,624 Users

***ปรับงบประมาณยกเลิกอีเว้นท์

เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2563 กระทรวงดีอีเอส ได้นำร่องประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลกับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ หารือเรื่องการปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และปรับรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อดำเนินการตามมติ ครม. ที่ผ่านมา และเป็นไปตามมาตรการด้านการงบประมาณ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง

ด้วยการมอบหมายแนวทางให้กับผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา, สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) , สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) , บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ไปทบทวนการใช้งบประมาณ และจัดทำโครงการต่างๆ โดยมุ่งสร้างให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการจ้างงาน จ้างผู้ผลิตและผู้ประกอบการรายย่อย


ทั้งนี้ จะมีการดำเนินการตามหลักการของมติ ครม. ที่ผ่านมา ในเรื่องรายจ่ายประจำ ซึ่งจะปรับลดลง 10% และนำงบส่วนนั้นไปใช้จัดจ้างผู้ประกอบการรายย่อย สร้างการจ้างงาน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภัยแล้ง อีกทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ มีนโยบายชัดเจนให้งดการเดินทางในสถานการณ์ช่วงนี้ หากหน่วยงานใดมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องเสนอโครงการในการบรรเทาผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 และภัยแล้ง สามารถเสนอของบประมาณ เพื่อขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน

สำหรับการปรับรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มุ่งเน้นให้แต่ละหน่วยงาน ปรับปรุงคำเสนอของบประมาณและโครงการ 1.ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ คำนึงถึงสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงและยาวนาน 2.ไม่ควรเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่จัดสรรไว้ สำหรับรายจ่ายผูกพันตามสัญญา ตามมติ ครม. ไปเป็นรายการอื่น 3.รักษาสัดส่วนรายจ่ายลงทุนให้อยู่ในระดับที่ ครม. เห็นชอบในภาพรวม และ 4.ไม่ควรเพิ่มรายการใหม่ ที่มีภาระผูกพันงบประมาณในปีต่อๆ ไป

หน่วยงานแรกที่ขานรับนโยบายก่อนคือ ดีป้า ได้ประกาศยกเลิกงาน บิ๊กแบงก์ ปีนี้ เพื่อนำงบประมาณไปสนับสนุนสตาร์ทอัปให้สู้กับภัยโควิด-19 ซึ่ง ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อํานวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า จะใช้งบประมาณ 90 ล้านบาท ในการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล depa Digital Startup Fund ตั้งเป้า ส่งเสริมทั้งสิ้น 47 ราย ครอบคลุม 6 เทคโนโลยีตอบโจทย์ประเทศไทย ได้แก่ เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เทคโนโลยีเพื่อการเงินและการ ธนาคาร และ เทคโนโลยีเพื่อการบริการภาครัฐ รวมถึง การพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจะมีการเตรียมแผนปล่อยมาตรการเพื่อสู้ภัยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งสําหรับกลุ่ม SMEs ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ชุมชน เกษตรกร บุคลากรดิจิทัล คนรุ่นใหม่ รุ่นเก่าเกษียณอายุ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น