“กมธ.ดีอีเอส” หนุน “กสทช.” อนุมัติงบ 1 พันล้าน ช่วย รพ.สู้วิกฤต “โควิด-19” ตามนโยบายรัฐบาล “กัลยา” ชี้ เป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์อย่างยิ่ง “สยาม” ดันระบบ Telemedicine ลดเสี่ยงติดเชื้อทั้งเจ้าหน้าที่-ผู้ป่วยได้ “เศรษฐพงค์” แนะ กสทช.เกลี่ยงบเพิ่ม พร้อมให้หน่วยราชการเร่งจัดงบช่วยเหลือให้ทันสถานการณ์
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการต่อสู้กับการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ว่า ทราบว่าการดำเนินการของ กสทช. เป็นการเกลี่ยเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของสำนักงาน กสทช. รวมกับเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปรับแผนการใช้งบประมาณเพื่อนำงบไปสนับสนุนการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเราในฐานะ กมธ.ดีอีเอส เห็นด้วยอย่างยิ่ง และขอสนับสนุนแนวทางดังกล่าว ที่จะเป็นการนำงบประมาณมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสถานการณ์อย่างแท้จริง เพราะถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะได้ออกมาช่วยกันเพื่อให้เราฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้
ด้าน นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า แนวทางช่วยเหลือดังกล่าวของ กสทช. เพราะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมาก โดยเฉพาะการนำงบไปสนับสนุนโรงพยาบาล และสถาบันทางการแพทย์ของรัฐ ในการเปิดโรงพยาบาลภาคสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังขาดอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงการจัดหาหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ตรวจหาเชื้อโควิดฯ ที่สำคัญคือการพัฒนาระบบ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล รวมทั้งการทำแอปพลิเคชัน ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรด้านสาธารณสุขที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในขณะนี้ เพราะช่วยลดการสัมผัสระหว่างกันได้ อีกทั้งประชาชนก็ไม่ต้องเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาล เป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อทั้งกับเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยfhlo
ขณะที่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า แนวทางของ กสทช. ถือเป็นตัวอย่างที่ดีกับหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ที่จะได้นำงบประมาณมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมในการสู้กับวิกฤตเชื้อโควิดฯ ครั้งนี้ โดยเฉพาะเป็นการให้งบโดยตรงถึงโรงพยาบาลที่ร้องขอเข้ามา ซึ่งเป็นการช่วยเหลือด้านงบประมาณได้แบบตรงจุดอย่างยิ่ง เชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะทำให้เราสามารถบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพสภาวะวิกฤต
“เชื่อว่างบประมาณ 1,000 ล้านบาท คงไม่เพียงพอในการสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับวิกฤตโควิดฯ จึงฝากให้ กสทช. ได้พิจารณาปรับเพิ่มงบประมาณในการช่วยเหลือครั้งนี้ขึ้นอีก และอยากให้หน่วยราชการอื่นที่มีศักยภาพ อาจจะต้องเร่งพิจารณาเกลี่ยงบประมาณเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่ต้องร่วมมือกันต่อสู้กับวิกฤตครั้งนี้” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว.