“เศรษฐพงค์” ชี้ถึงเวลายกเครื่องระบบโทรคมนาคม-อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของสภาฯ ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล รองรับการทำงานทั้งสมาชิกรัฐสภา-กมธ.-เจ้าหน้าที่ ระบุ ประชุม VDO conference ต้องมีประสิทธิภาพ ลั่น ทุกพื้นที่ของรัฐสภาจะต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (29 มี.ค.) พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ใน คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการดำเนินงานระบบเทคโนโลยีการสื่อสารหรือระบบไอทีของอาคารรัฐสภาที่จะต้องรองรับการทำงานต่างๆ ของสภาฯ ว่า จากที่ กมธ.ดีอีเอส ได้ประชุมผ่านระบบ VDO conference อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้เราได้รับทราบถึงปัญหาด้านความพร้อม และคุณภาพ ความไม่เพียงพอของสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อีกทั้งระบบที่เราใช้ทดลองดำเนินการประชุมนั้น มีแบนด์วิธ หรือ ความเร็วในการส่งข้อมูลของอินเทอร์เน็ตที่ต่ำ และการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ก็ใช้เท่าที่มี ทำให้การประชุมยังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐสภาควรที่จะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่ารัฐสภาของเรามีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบการประชุมทางไกลผ่าน VDO conference ให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับ เพราะจะมีความสำคัญทั้งในเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วย อีกทั้งการจะเข้าร่วมประชุมจะต้องมีการแสดงตัว ก็จำเป็นที่ต้องมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการระบุตัวบุคคลเข้ามาช่วย ตรงนี้จะเชื่อมโยงกับระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่นมีประสิทธิภาพ หารเราสามารถพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสภาได้ การประชุมระดับจำนวนคนประมาณ 30 คน ผ่านระบบ VDO conference จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเหมาะสมกับการประชุมระดับกรรมาธิการ และการประชุมภายในของเจ้าหน้าที่สภา ก็สามารถใช้ระบบนี้ได้เช่นกัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตดังเช่นปัจจุบันนี้
“ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาแห่งใหม่นี้ จะต้องมีการยกเครื่องพัฒนาระบบโทรคมนาคมการสื่อสาร ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ให้มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ เพราะรัฐสภาก็ถือเป็นศูนย์รวมอำนาจของประเทศแห่งหนึ่งที่จะต้องใช้ในการขับเคลื่อนบริหารประเทศให้เดินไปข้างหน้า ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคม จะต้องมีความพร้อมที่สุด ไม่ว่าจะอยู่จุดใดของรัฐสภา ต้องสามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ ซึ่งผมในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามโครงสร้างพื้นฐานฯ จะได้เชิญผู้ให้บริการค่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการทำระบบโทรคมนาคมของสภาฯ มาร่วมตรวจสอบวัดคุณภาพสัญญาณ และจะได้หารือกันเพื่อวางแผนในการพัฒนาระบบต่อไป” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว.