ประเทศไทยนั้นมีหลายช่วงเวลาที่ตลาดหงอยเหงาเพราะผู้คนไม่มีอารมณ์จับจ่ายซื้อของ หากดูเฉพาะช่วงหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ปรากฏการณ์ที่ถูกยกให้เป็นมหาวิปโยคทางธุรกิจของเอกชนไทยคือช่วงม็อบหลากสี เว้นช่วงไม่นานก็เกิดเป็นภัยน้ำท่วมใหญ่ปี 54 สำหรับปี 63 ตัวป่วนรายล่าสุดคือไวรัสระบาด COVID-19 ซึ่งเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายตลาดไอทีไทยได้หากสถานการณ์ยืดเยื้อ
นอกจาก COVID-19 ตลาดไอทีไทยอาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าคู่เก่าอย่างจีน-สหรัฐอเมริกาและคู่ใหม่อย่างซาอุฯและรัสเซีย เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดี เศรษฐกิจไทยก็ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย
สงครามนี้ยังอาจทำให้มีการกีดกันทางการค้ามากขึ้น เพื่อให้บริษัทในประเทศตัวเองได้เปรียบ ปัจจัยทั้งหมดทำให้ปี 2563 คือปีที่เอปสัน (Epson) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์หรือพรินเตอร์สัญชาติญี่ปุ่นเชื่อว่าตลาดไอทีไทยจะซบเซา
ความจริงนี้หมายถึงตลาดพรินเตอร์จะเงียบเซียบตามไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ เอปสันยืนยันว่าจะสู้ไม่ถอย ด้วยการมุ่งตอบโจทย์องค์กรไทยจำนวนมากที่ต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ขณะเดียวกันจะบุกเบิกรูปแบบธุริจใหม่ที่เน้นบริการเช่าใช้-เหมาจ่ายรายเดือนและตามปริมาณการพิมพ์ คู่ไปกับการขายออนไลน์ที่มากขึ้น
แม้งบการลงทุนปีนี้ของเอปสันจะเน้นที่งานซึ่งเกี่ยวข้องกับสินค้า ทั้งการเพิ่มคน เพิ่มช่องทางใหม่ และเพิ่มกิจกรรมการตลาดที่เจาะจงมากขึ้น แต่เอปสันแย้มว่ากำลังเริ่มวางแผนผันตัวเองจากบริษัทขายพรินเตอร์ มาเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านงานพิมพ์ โดยเป็นมิดเทอมแพลนหรือแผนระยะกลางที่จะพลิกโฉมเอปสันในเวลา 3-5 ปีนับจากนี้ การเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจะเริ่มทดสอบในยุโรปในฐานะเฟซถัดไป จากเฟซปัจจุบันที่เริ่มให้บริการเช่าก่อนในปีนี้
วิ่งรับตลาดหด
ข้อมูลจากบริษัทวิจัยจีเอฟเค ที่เก็บรวบรวมจากร้านขนาดใหญ่และเล็กใน 130 ประเทศทั่วโลกต่อเนื่อง 30 ปี ระบุว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคที่เติบโตสูงสุดในปี 62 เทียบกับปี 61 นั้นไม่มีสินค้ากลุ่มไอทีและพรินเตอร์เลย โดยแชมป์คือเครื่องฟอกอากาศ (เติบโต 136.3%) รองลงมาคือสมาร์ทวอตช์ (เติบโต 67.8%) เครื่องดูดฝุ่นที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันได้ (เติบโต 26.5%) และหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่เติบโตขึ้นชัดเจน (12%)
สำหรับตลาดรวมไอทีไทยปี 62 จีเอฟเคประเมินว่าติดลบ 5.5% ถือว่าตัวเลขยังดีกว่าตลาดพรินเตอร์โดยเฉพาะที่ติดลบ 20% เทรนด์ที่น่าสนใจคือสินค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์ที่มีไว-ไฟนั้นเติบโต 13.5% ขณะที่เครื่องพิมพ์ไม่มีไวไฟหดลง 12.6%
สัดส่วนข้อมูลการขายออนไลน์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 60 ที่เพิ่มขึ้น 5% ก่อนที่ปี 61 จะเพิ่มอีก 7% และปี 62 เพิ่มอีก 11% สะท้อนว่าสินค้ากลุ่มพรินเตอร์ที่ขายออนไลน์ และรองรับการเชื่อมต่อไร้สาย จะเป็นเทรนด์แรงปีนี้และอีกหลายปี
นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด มองข้อมูลนี้แล้วแปลว่าในวิกฤติยังมีโอกาส แม้จะได้รับผลกระทบจนยอดขายรวมปี 62 หดลง 6% และสินค้าหลักอย่างพรินเตอร์ยังเป็นพื้นที่ยอดขายติดลบ 6% เท่ากัน แต่เอปสันก็ยังทำได้ดีกว่าตลาดรวมที่ติดลบเป็นเลข 2 หลัก ขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมการพิมพ์ของเอปสันเติบโต 9% สวนทางกับสินค้ากลุ่มโปรเจ็กเตอร์ที่หดตัว 22%
สำหรับปี 63 ยรรยงระบุว่าตลาดไอทีไทยยังมีคำถาม แม้เชื่อว่าจะชะลอตัว แต่ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ COVID-19 ด้วยว่าจบลงเร็วแคไหน เบื้องต้นเอปสันยังหวังโอกาสจากวิกฤติ COVID-19 เพราะยรรยงได้รับรายงานจากเมืองจีนว่าแม้ทุกบริษัทจะได้รับผลกระทบ แต่ยอดขายพรินเตอร์ในจีนกลับเติบโตเพราะลูกหลานต้องเรียนออนไลน์จากบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ ชาวจีนผู้ไม่มีพรินเตอร์อาจไปขอแบ่งใช้เครื่องพิมพ์กับเพื่อน แต่ตอนนี้หลายครอบครัวต้องซื้อเครื่องมาพิมพ์งานเอง
สิ่งที่เอปสันจะเน้นนับจากนี้คือสินค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตที่ตอนนี้เป็นมาตรฐานในหน่วยงานองค์กรแทนเครื่องพิมพ์เลเซอร์ วันนี้เครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตเป็นที่ยอมรับดีขึ้นต่อเนื่องทั้งด้านประสิทธิภาพ ราคา ความคงทน สามารถเป็นรากฐานใหม่ได้ยั่งยืน โดยเครื่องพิมพ์เลเซอร์อยู่ในช่วงขาลง เพราะอิงค์เจ็ททำงานเร็วกว่าบนราคาที่ถูกกว่า แถมยังไม่มีกลิ่น ไม่มีฝุ่น เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ใช้น้อยกว่า ประเด็นนี้ไอดีซีคาดว่าเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตจะครองส่วนแบ่ง 82% ตลาดรวมพรินเตอร์ในอีก 2 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่อิงก์เจ็ตครองส่วนแบ่ง 78%
“เอปสันจะประเมินเป้าหมายยอดขายปีนี้หลัง COVID-19 เริ่มซาลง ลึกๆอยากกลับไปเติบโตเท่ากับ 61 ที่ผ่านมา คือโต 6%”
ผู้บริหารเอปสันบอกว่าสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ช่องทางการขายออฟไลน์ของเอปสันได้รับผลกระทบ ทำให้บริษัทมีแผนขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าใหม่บนโลกออนไลน์มากขึ้น มีการเปิดออฟฟิศเชียลสโตร์ในลาซาด้า และจะมีกิจกรรมการตลาดบนออนไลน์เต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม ยรรยงชี้ว่าสินค้าเอปสันวันนี้เทไปทางคอร์ปอเรชั่นหรือการใช้งานในองค์กรเกือบหมดแล้ว มีน้อยมากที่เป็นสินค้าใช้เฉพาะคอนซูมเมอร์ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ตอบองค์กรได้ และปัจจุบันไม่มีเครื่องพรินเตอร์เอปสันที่ราคาต่ำกว่า 3,000 บาทแล้ว
สู้ที่เซอร์วิสใหม่
เพื่อให้กลับไปเติบโตได้อีกครั้ง เอปสันจะงัดไม้ตายหลายท่ามาเพิ่มการใช้งานในตลาดให้มากขึ้น ส่วนหนึ่งของกองทัพอาวุธเต็ดคือเซอร์วิสใหม่ที่เน้นเช่าเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตองค์กร ให้ลูกค้าเลือกได้ตามชอบว่าจะจ่ายค่าบริการแบบรายแผ่นหรือเหมาจ่ายแบบรายเดือน ซึ่งในระยะยาว เอปสันมีแผนปรับบริษัทให้เน้นงานบริการ ที่จะทำให้ผู้ไม่มีเครื่องพิมพ์ สามารถพิมพ์งานของตัวเองด้วยบริการของเอปสัน
ในระยะแรก เอปสันเริ่มประเดิมแคมเปญใหม่ในไทยแล้วตั้งแต่กุมภาพันธ์ 63 หลังจากชิมลางที่ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ โดย “อีซีแคร์ 360” (Easy Care 360) เป็นโมเดลให้บริการการใช้งานแบบเช่าเครื่องแล้วคิดค่าบริการแบบรายแพคเก็จเป็นรอบสัญญา 2 ปี 3 ปี ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องห่วงการซ่อมบำรุง เพียงรอให้ช่างเดินทางมาให้บริการ 2 ชั่วโมง จะได้รับบริการติดตั้งให้ทุกอย่าง ขณะที่อีกแคมเปญคืออีซีแคร์โมโน (Easy Care Mono) ลูกค้าสามารถเช่าเครื่องพิมพ์แล้วจ่ายเงินตามปริมาณการพิมพ์ ราคาตั้งแต่ 900-2,000 บาทต่อเดือน แคมเปญนี้ยังไม่รับลูกค้ากลุ่มร้านพิมพ์ ถัดจากไทยเอปสันจะเปิดแคมเปญที่มาเลเซียต่อไป
โมเดลคิดค่าใช้จ่ายพรินเตอร์เป็นรายเดือนอาจทำรายได้ถึง 50% ของยอดขายรวมในช่วงปี 63 (ปีการเงินเริ่มต้นเมษายน 63) คาดว่าสัดส่วนรายได้จะเห็นอิทธิพลเร็ว เพราะเอปสันจะลงมือทำเอง ต่างจากที่ผ่านมาที่ทำผ่านพาร์ทเนอร์ ซึ่งจากการโฟกัสที่องค์กรธุรกิจทั่วไป เร็วๆนี้จะขยายเซอร์วิสให้ครอบคลุมกลุ่มเครื่องพิมพ์หน้ากว้าง สำหรับลูกค้าที่เป็นร้านเชิงพาณิชย์ แต่จะเป็นอีกระดับราคา และค่าใช้จ่ายหมึกยังอิงการใช้จริง
รูปแบบธุรกิจใหม่ของเอปสันเป็นการตอบโจทย์ยุคที่องค์กรต้องการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน เพราะเครื่องพิมพ์เอปสันสามารถตอบความต้องการการผลิตจำนวนน้อยในแบบเฉพาะ และความต้องการพิมพ์งานออนดีมานด์ ทำให้ธุรกิจสามารถมีต้นทุนการเป็นเจ้าของพรินเตอร์ที่ถูกลง คุ้มค่าต่อการลงทุนบนประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
“จะเป็นแพคเกจราคาเริ่มต้น ลูกค้าจะซื้อเครื่องก็ได้ เช่าก็ได้ หรือเช่าแบบรายเดือน โมเดลเราจะหลากหลายขึ้นกับลูกค้า ในหลายประเทศเริ่มเปิดให้บริการแบบบุฟเฟต์ คือใส่เครื่องพรินเตอร์ให้องค์กรแล้วคิดราคาต่อเดือน พอหมดสัญญา 2 ปีค่อยคุยกันว่าอยากเปลี่ยนเครื่องใหม่ไหม พาร์เนอร์เอปสันสามารถให้บริการขายโปรแกรมเช่าได้ทั้งหมด แต่การบริการจะมาจากเอปสันเอง เรียกว่าเอปสันจะเป็นคนควบคุมการดำเนินการเองทั้งหมด”
ฟัดกันที่อนาคต
เอปสันยอมรับว่าอนาคตธุรกิจงานพิมพ์จะเปลี่ยนไปในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งท้ายที่สุด ผู้คนอาจไม่ต้องซื้อเครื่องพิมพ์ แต่สามารถใช้บริการได้
“อันนี้เป็นแค่ไอเดีย คือธุรกิจเครื่องพิมพ์สามารถเปิดให้เจ้าของเครื่องพิมพ์รายย่อย ออกมารับงานพิมพ์จากจุดใกล้บ้านได้ แต่แนวคิดนี้ยังไม่ได้รับข้อสรุป ยังเป็นไอเดียสำหรับอนาคตอีกยาวไกล“
ถึงเวลานั้น องค์กรอย่างเอปสันจะต้องปรับทักษะพนักงานครั้งใหญ่ เพราะเอปสันมีนโยบายลงมาดูแลงานบริการด้วยตัวเอง จากเดิมที่เคยเน้นแต่จำหน่ายเครื่องและหมึก แล้วดำเนินการบริการผ่านพาร์ทเนอร์เป็นหลัก การปรับรูปแบบบริษัทมาเน้นที่การบริการอาจทำให้มาร์จิ้นหรือสัดส่วนกำไรของเอปสันเปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนไปทางไหนยังบอกไม่ได้เพราะผู้บริหารเชื่อว่าต้องรอดูไปยาวๆ
ขณะที่แนวคิด ”เปเปอร์เลส” จะไม่กระทบต่ออนาคตตลาดพรินเตอร์ ยรรยงระบุว่านาทีนี้บริษัทจำหน่ายกระดาษยังมียอดขายเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งแม้แต่ละหน่วยงานจะพิมพ์น้อยลง แต่หลายองค์กรก็ยังต้องพิมพ์ ผิดกับตลาดคอนซูเมอร์ที่เห็นชัดว่ายอดการพิมพ์ภาพถ่ายตกลงเป็นเลข 2 หลักทุกปี
ข้อมูลล่าสุดปี 62 ชี้ว่าอิงก์เจ็ตพรินเตอร์มียอดจำหน่ายรวม 674,000 เครื่องในตลาดไทย คิดเป็นมูลค่ารวม 3,300 ล้านบาท โดยเอปสันสามารถครองส่วนแบ่ง 38% ในเชิงจำนวนเครื่องและ 44% ในเชิงคุณภาพ
ที่สุดแล้ว ยรรยงยกให้ความท้าทายใหญ่ที่สุดของปีนี้คือความเชื่อมั่นของคนในประเทศ โดยบอกว่าถ้าคนไทยไม่มีความเชื่อมั่น ทุกอย่างก็จะฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งอาจทำให้เอปสันต้องวิ่งสู้ฟัดเหนื่อยกว่าเดิม แต่หากความเชื่อมั่นมาเต็ม เอปสันก็อาจจะไม่ต้องเปลืองแรงเท่าใดนักก็ได้.