ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดทำ SET CEO Survey ฉบับพิเศษ สำรวจผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนถึงผลกระทบและแนวทางรับมือสถานการณ์โควิด-19 นำเสนอบทสรุปสำหรับผู้บริหาร 6 ข้อ พบ 68% โดยเฉพาะในหมวดธุรกิจที่มีลูกค้า / Supply Chain ที่เกี่ยวข้องกับจีนได้รับผลกระทบ บจ.วางนโยบายรับมือในรูปแบบใกล้เคียงกัน ใช้โอกาสปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายและกระตุ้นยอดขายออนไลน์ 43% คาดว่าธุรกิจจะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 1 ไตรมาส
ณ สิ้นปี 2562 สำนักงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากจีนว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในประเทศจีนและจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบัน (7 มีนาคม 63) มีผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกกว่า 100,000 รายใน 94 ประเทศทั่วโลก และเมื่อประเทศต่างๆ มีนโยบายควบคุมป้องกันย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการของประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นแหล่งวัตถุดิบและเครื่องจักร และนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่สำคัญของประเทศไทย
ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงจัดทำ SET CEO Survey ฉบับพิเศษ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางการรับมือสถานการณ์ COVID-19 โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 7 มีนาคม 2563 ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนร่วมตอบแบบสอบถาม 80 บริษัท จาก 21 หมวดธุรกิจ จากทั้งหมด 29 หมวดธุรกิจ บริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถามมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด คิดเป็น 22% ของทั้งตลาด
ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดทำบทสรุปสำหรับผู้บริหาร 6 ข้อ ดังนี้คือ 1) 68% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถามได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะในหมวดธุรกิจที่มีลูกค้า / Supply Chain ที่เกี่ยวข้องกับจีน อาทิ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น
2) สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อบริษัทจดทะเบียนในด้านต่างๆ ดังนี้
o ผลประกอบการ ยอดขายหรือจำนวนลูกค้าลดลง รายได้ลดลงจากการปรับลดค่าบริการให้กับลูกค้า (อาทิ ค่าเช่าพื้นที่) ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการบริหารงานด้านอนามัย การบริหารลูกหนี้ยากขึ้น คุณภาพลูกหนี้เริ่มแย่ลง
o การบริหารทรัพยากรบุคคลทั้งพนักงาน ลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้อง บริษัทจดทะเบียนป้องกันและคัดกรองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข การดูแลสุขภาพของพนักงาน การทดสอบ / การทำงานระยะไกล (Tele Conference) อีกทั้งปัญหาในเรื่องการเข้าทำงานตามสถานที่ทำงาน (site) ทั้งต่างประเทศและในประเทศ เป็นต้น
o ห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) บริษัทจดทะเบียนบางบริษัทเริ่มมีปัญหาด้านวัตถุดิบในกระบวนการผลิตโดยไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนได้ และบางส่วนชะลอการสั่งซื้อเครื่องจักรจากประเทศจีน
o โอกาสทางธุรกิจ บริษัทจดทะเบียนใช้โอกาสปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ อาทิ การเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายและกระตุ้นยอดขายออนไลน์ นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจการเงินได้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยรับประกันภัยส่วนบุคคลไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นต้น
3) ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนกำหนดนโยบายการรับมือเหตุการณ์ COVID-19 ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการซื้อขายออนไลน์ / ปรับลดค่าเช่าให้กับลูกค้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน การกำหนดมาตรการป้องกันและบทลงโทษพนักงานในกรณีไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด การเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน อาทิ การทำงานออนไลน์ (work from home) การประชุมทางไกล (Teleconference) การชะลอการรับวัตถุดิบ การลดกำลังการผลิต การวางแผนจัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิต เป็นต้น
4) สถานการณ์ COVID-19 ยังไม่กระทบต่อการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ โดย 61% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถามยังวางแผนลงทุนตามแผนเดิม ขณะที่ 32% ชะลอการลงทุนออกไปก่อน และอีก 7% รอดูสถานการณ์และเลือกชะลอการลงทุนในบางโครงการ
5) 71% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถามจะได้รับผลกระทบหากรัฐบาลประกาศยกระดับเป็นระยะที่ 3 และบริษัทจดทะเบียนมีการเตรียมการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ Business Continuity Planning (BCP) เพื่อรองรับ
และ 6) 43% ของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่าธุรกิจจะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 1 ไตรมาส หลังจาก WHO ประกาศว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั่วโลก โดยบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้อยคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวใน 1 เดือน และบริษัทจดทะเบียนที่คาดการณ์ใช้เวลาฟื้นตัวนานที่สุด คือ 1 ปี
ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนครึ่งหนึ่งไม่ได้ตอบแบบสอบถาม เมื่อให้บริษัทจดทะเบียนคาดการณ์ถึงระยะเวลาที่คาดว่าธุรกิจจะกลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากคาดว่าธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบ และบางบริษัทยังไม่สามารถประเมินได้เนื่องจากยังไม่ทราบขนาดของผลกระทบ โดย “ผลกระทบต่อบริษัทรุนแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาของการควบคุมการแพร่ระบาดได้” อีกทั้งระยะเวลาในการฟื้นตัวยังขึ้นอยู่กับ 1) ภาพรวมของเศรษฐกิจ 2) การฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก (Supply chain and global vendors) และ 3) ขนาดของผลกระทบต่อลูกค้าของบริษัท