xs
xsm
sm
md
lg

เอปสันเริ่มเซอร์วิสใหม่ลุยเช่า มั่นใจกลับมาโตหลังยอดขายปี 62 หด 6%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ยรรยง มุนีมงคลทร
เอปสัน ประเทศไทยปักธง 2 เซอร์วิสใหม่เน้นเช่าเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ตองค์กร เลือกได้ตามชอบว่าจะจ่ายค่าบริการแบบรายแผ่นหรือเหมาจ่ายแบบรายเดือน ประเดิมเริ่มแคมเปญในไทยแล้วตั้งแต่กุมภาพันธ์ 63 หลังจากชิมลางที่ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ คาดโมเดลเช่าพรินเตอร์อาจจะถึง 50% ของยอดขายรวมในช่วงปีนี้ มั่นใจเป็นหนึ่งในอาวุธที่สามารถแก้เกมยอดขายหดในปี 62 ที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจไทยโคม่า

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าเป้าหมายปีนี้ของเอปสัน ประเทศไทยคือการรักษาตำแหน่งแชมป์ผู้นำตลาดอิงก์เจ็ตพรินเตอร์เพื่อองค์กรธุรกิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เอปสันจึงปรับกลวิธีในการจำหน่ายโดยเริ่มต้นรูปแบบธุรกิจใหม่เพื่อขยายการใช้งานด้วยบริการที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะการคิดบริการต่อแผ่นที่ทำให้เอปสันคาดหวังว่ารูปแบบธุรกิจนี้อาจจะครองสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของยอดขาย

“สัดส่วนเป้าหมาย 50% คาดว่าจะเห็นในปีนี้ สัดส่วนนี้เห็นได้เร็วเพราะเอปสันจะทำเอง ต่างจากที่ผ่านมาที่ทำผ่านพาร์ทเนอร์ แม้ตลาดจะไม่สดใสแต่ก็เชื่อว่ามีโอกาส เร็วๆนี้จะขยายเซอร์วิสให้ครอบคลุมกลุ่มเครื่องพิมพ์หน้ากว้างในร้านเชิงพาณิชย์”

2 บิสิเนสโมเดลใหม่ของเอปสัน ประเทศไทยถูกเรียกเป็นแคมเปญชื่ออีซีแคร์ 360 (Easy Care 360) ซึ่งเป็นการใช้งานแบบเช่าเครื่องแล้วคิดค่าบริการแบบรายแพคเก็จเป็นรอบสัญญา 2 ปี 3 ปี ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องห่วงการซ่อมบำรุง ระยะเวลารอช่างเดินทางให้บริการคือ 2 ชั่วโมง ติดตั้งให้ทุกอย่าง อีกแคมเปญคืออีซีแคร์โมโน (Easy Care Mono) ลูกค้าสามารถเช่าเครื่องพิมพ์แล้วจ่ายเงินตามปริมาณการพิมพ์ ราคาตั้งแต่ 900-2,000 บาทต่อเดือน แคมเปญนี้ยังไม่รับลูกค้ากลุ่มร้านพิมพ์

รูปแบบธุรกิจใหม่เป็น 1 ใน 4 กระบวนการที่เอปสันวางแผนไว้สำหรับตลาดไทย อีก 3 ส่วนคือการลุยเปิดตัวสินค้า เพราะแม้จะมีโควิด-19 แต่เอปสันจะยังเปิดตัวสินค้าใหม่ต่อเนื่องทั้งรุ่นเล็กและใหญ่ นอกจากนี้จะเน้นการให้ความรู้ผู้ใช้ทั้งเอ็นยูสเซอร์และชาแนลจัดจำหน่าย โดยขณะนี้ยังเลื่อนกิจกรรมออฟไลน์แล้วเน้นทำบนออนไลน์มากขึ้น เช่นเดียวกับกิจกรรมการตลาดที่จะโหมให้เข้มข้นช่วงปลายปี

เอปสันย้ำว่าทั้ง 4 แผนนี้จะเสริมให้บริษัทสามารถประกาศคุณค่าของสินค้าเอปสันได้ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านราคา Total Cost of Ownership หรือต้นทุนการเป็นเจ้าของ เพราะเครื่องพิมพ์เอปสันราคาเครื่องไม่ต่ำ แต่หมึกราคาต่ำทำให้แข่งขันได้ดี 2. เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า และพิมพ์งานได้หลายแผ่นกว่า 3. เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทำให้พิมพ์ได้เร็ว เรียกว่ากระพริบตา 1 ครั้งงานพิมพ์ออกมาได้ 2 แผ่นโดยที่กินไฟหลักร้อยวัตต์ และ 4. การสนับสนุนดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน เพราะเครื่องพิมพ์เอปสันสามารถตอบความต้องการการผลิตจำนวนน้อยในแบบเฉพาะ และความต้องการพิมพ์งานออนดีมานด์

นอกจากกลยุทธ์ธุรกิจ “Double LEAD” ข้างต้น ผู้บริหารเอปสันระบุว่าจะเพิ่มความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้นด้วย เพื่อเข้าถึงองค์กรเอสเอ็มอีทั่วประเทศได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังโฟกัสในตลาด replacement โดยเฉพาะในองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนจากเลเซอร์พรินเตอร์และพรินเตอร์ที่ใช้ตลับหมึกมาใช้อิงค์แท็งค์พรินเตอร์ เพื่อประหยัดต้นทุนการพิมพ์และค่าไฟ รวมถึงลูกค้าที่ต้องการเพิ่มจำนวนพรินเตอร์เอปสันในองค์กรเป็นหลัก

เอปสันมองว่าการระบาดโควิด-19 ถึงแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯ โดยตรง แต่อาจทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำลงและส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในภาคธุรกิจโดยรวม
แม้จะเป็นผู้นำตลาดอิงก์เจ็ตพรินเตอร์เพื่อองค์กรธุรกิจ แต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ท้าทายเพราะเอปสัน ประเทศไทยและหลายบริษัทไอทีในตลาด ต้องปรับกลยุทธ์รับมือกับสภาพตลาดไอทีในประเทศโดยรวมที่หดตัวลง 5.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัว

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวคือผลกระทบจากปัญหาทั้งในประเทศและต่างประเทศ บวกกับงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามกำหนด ทำให้ส่งผลกระทบต่อโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ แผนการลงทุนและจัดซื้อจัดจ้าง รวมไปถึงแผน การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนอีกด้วย ทั้งองค์กรรัฐและเอกชนจึงมีการลงทุนในสินค้ากลุ่มไอทีลดลง

“ส่วนภาวะ การระบาดโควิด-19 นั้น ถึงแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯ โดยตรง แต่อาจทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำลงและส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในภาคธุรกิจโดยรวม”

จากสถานการณ์ดังกล่าว เอปสัน ประเทศไทย คาดการณ์ว่ายอดขายผลิตภัณฑ์พรินเตอร์ทั้งหมดของบริษัทฯ (สิ้นสุดมีนาคม 63) จะปรับตัวลดลง 6% เมื่อเทียบกับปี 2561 แต่เอปสันจะยังคงสามารถยืนตำแหน่งผู้นำตลาดอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ B2B ของไทยได้ทั้งในเชิงมูลค่าและจำนวนยูนิต ด้วยสัดส่วนการตลาด 38% และ 44%

ช่วงที่ผ่านมา อิงค์เจ็ท พรินเตอร์ความเร็วสูงสำหรับองค์กรธุรกิจ Epson WorkForce คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้เติบโตมากที่สุด เพิ่มขึ้น 79% เนื่องจากสามารถเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดจากกลุ่มเครื่องถ่ายเอกสาร

รองลงมาคือกลุ่มพรินเตอร์ เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 10% ได้แก่ พรินเตอร์ฉลากอุตสาหกรรม พรินเตอร์หน้ากว้างใช้ภายในองค์กร พรินเตอร์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ และพรินเตอร์ป้ายโฆษณา ในส่วนกลุ่ม Epson EcoTank อิงค์เจ็ทพรินเตอร์รุ่นประหยัดเพื่อองค์กรธุรกิจทุกขนาด และกลุ่มดอทเมทริกซ์พรินเตอร์ คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากยอดขาย ณ สิ้นปีงบประมาณ 62 ได้ไม่ต่างจากปีงบประมาณก่อนหน้านั้น


ในปี 2563 ปีแห่งการครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งเอปสัน ประเทศไทย บริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ B2B ของประเทศไทยไว้ให้ได้อีกครั้ง พร้อมกับขยายฐานลูกค้าให้กว้างออกไปสู่กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆ ผ่านกลยุทธ์และคุณค่าของเอปสันที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของลูกค้าได้อย่างชัดเจน

“เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาสู่ภาวะปกติในไม่ช้า รวมถึงการอนุมัติการเบิกจ่ายของงบประมาณรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาทำงานอีกครั้ง การลงทุนในเทคโนโลยีด้านต่างๆ ขององค์กรธุรกิจก็จะเพิ่มมากขึ้น ตลาดไอทีก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง” นายยรรยง กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น