xs
xsm
sm
md
lg

พม่าหวั่นหนี้ท่วมปรับลดขนาดโครงการท่าเรือน้ำลึก $7,300 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - พม่าได้ปรับลดขนาดแผนการก่อสร้างท่าเรือที่จีนให้การสนับสนุนในพื้นที่ทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศ ที่ลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมาก หลังวิตกว่าโครงการอาจทำให้ประเทศต้องมีหนี้สินมหาศาล ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับสูง และที่ปรึกษาของรัฐบาล

โครงการท่าเรือน้ำลึกจอก์พยู (Kyauk Pyu) มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 7,300 ล้านดอลลาร์ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของรัฐยะไข่ เริ่มมีสัญญาณเตือนมาจากรายงานโครงการที่จีนให้การสนับสนุนในศรีลังกา และปากีสถาน เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษา กล่าว

เซ็ต อ่อง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำเจรจาโครงการในเดือน พ.ค. กล่าวว่า ขนาดของโครงการถูกปรับลดขนาดลงอย่างมาก

งบประมาณค่าใช้จ่ายที่ทบทวนใหม่จะเหลืออยู่ราว 1,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นสำหรับพม่า ฌอน เทอร์เนล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ อองซานซูจี กล่าว

บริษัท CITIC Group ผู้พัฒนาหลักของโครงการท่าเรือจอก์พยู ระบุว่า การเจรจาอยู่ระหว่างดำเนินการ และงบประมาณ จำนวน 1,300 ล้านดอลลาร์ จะนำไปใช้กับเฟสแรกของโครงการท่าเรือ โดยโครงการนั้นแบ่งออกเป็น 4 เฟส แต่บริษัทไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดสำหรับแผนการในขั้นตอนต่างๆ

เกิ้ง ชวง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวว่า เวลานี้ทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาเชิงพาณิชย์เกี่ยวกับโครงการจอก์พยู

“การเจรจากำลังคืบหน้า” เกิ้ง ชวง กล่าวแถลงข่าวในกรุงปักกิ่ง

แผนเดิมของโครงการจอก์พยู คือ การพัฒนาท่าเทียบเรือประมาณ 10 จุด ที่ท่าเรือน้ำลึก 25 เมตร เพื่อรองรับเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ แต่จากการปรับแผน ท่าเทียบเรือจะเหลือเพียง 2 จุดเท่านั้น เซ็ต อ่อง กล่าวให้สัมภาษณ์ แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดถึงข้อกำหนดอื่นๆ โดยอ้างว่า อยู่ระหว่างการหารือทางเทคนิค

ท่าเรือจอก์พยู เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ที่มีเป้าหมายขยายการเชื่อมโยงทางการค้าทั่วโลก ขณะเดียวกัน ปักกิ่งได้กล่าวว่า โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับจีน และประเทศหุ้นส่วน แต่ก็เกิดคำถามเกี่ยวกับประเทศต่างๆ ที่หนี้ส่วนเกินในการสร้างโครงการต่างๆ

นักวิเคราะห์ ระบุว่า พม่าต้องรักษาสมดุลในการเจรจาต่อรองโครงการกับจีน ด้วยพม่าต้องพึ่งพาการสนับสนุนทางการทูตจากปักกิ่ง หลังเผชิญต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของชาติตะวันตกเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และต้องการความช่วยเหลือจากปักกิ่งยุติความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ตามชายแดนของประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ชาวพม่าส่วนหนึ่งยังคงวิตกว่าจะกลายเป็นการพึ่งพาจีนมากเกินไป

ปักกิ่งได้ผลักดันโอกาสทางยุทธศาสตร์ต่างๆ ในพม่า รวมทั้งสิทธิพิเศษเข้าถึงท่าเรือจอก์พยู หลังระงับโครงการเขื่อนไฟฟ้าในประเทศท่ามกลางการคัดค้านของคนท้องถิ่นอย่างกว้างขวางเมื่อปีก่อน

จอก์พยู เป็นจุดทางเข้าของท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติความยาว 770 กิโลเมตรไปยังมณฑลหยุนหนาน ซึ่งทำให้จีนมีเส้นทางที่เป็นทางเลือกในการนำเข้าพลังงานจากตะวันออกกลาง และเลี่ยงช่องแคบมะละกา

ภายใต้แผนการเดิม โครงการท่าเรือจอก์พยู จะมีขีดความสามารถที่แข่งขันได้กับท่าเรือต่างๆ เช่น มะนิลา หรือวาเลนเซีย ในสเปน

การก่อสร้างท่าเรือและเขตเศรษฐกิจพิเศษ น่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงราว 10,000 ล้านดอลลาร์ ที่คาดว่าจะเริ่มต้นในปี 2561 สวนอุตสาหกรรมขนาด 4,200 เอเคอร์ มูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์ มีแผนที่จะดึงดูดอุตสาหกรรมสิ่งทอ และการกลั่นน้ำมัน

แต่เจ้าหน้าที่พม่า กล่าวว่า ประสบการณ์ของศรีลังกา ที่ในปีนี้รัฐบาลได้ลงนามกับจีน ให้เช่าท่าเรือยุทธศาสตร์เพื่อชำระหนี้กู้ยืมของจีนที่ใช้เป็นทุนโครงการ ได้ก่อความวิตกในพม่าว่า อาจกำลังเดินเข้าสู่กับดักหนี้เช่นเดียวกัน

ข้อตกลงใหม่ “ลดความเสี่ยงทางการเงินอย่างมาก และแสดงให้เห็นถึงความวิตกเกี่ยวกับหนี้สินและอธิปไตย สิ่งนี้อาจกลายเป็นโมเดลสำหรับประเทศต่างๆ ที่ไม่มีอำนาจเหนือจีน” เทอร์เนล กล่าว

เซ็ต อ่อง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พม่าจะไม่จ่ายเงินค้ำประกันจากรัฐบาลสำหรับเงินกู้ใดๆ ในโครงการ และกล่าวเสริมว่า ระยะเวลาโครงการมีแนวโน้มที่จะล่าช้าไปอีกหลายเดือน เนื่องจากพม่ากำลังมองหาการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาระหว่างประเทศเพื่อทบทวนค่าใช้จ่าย

“ข้อตกลงฉบับใหม่ทำให้มั่นใจว่า เงินกู้ยืมเพื่อเป็นทุนในโครงการนี้จะไม่หวนกลับไปที่รัฐบาลพม่า แต่จะเป็นเอกชนทั้งหมด ด้วยในเวลานี้ สิ่งสำคัญลำดับแรกคือ การทำให้แน่ใจว่ารัฐบาลไม่มีภาระหนี้สิน” เซ็ต อ่อง กล่าว

เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่า กล่าวว่า หุ้นส่วนจีนยินดีที่จะเจรจาต่อรองใหม่ และเห็นชอบในหลักการของข้อตกลงฉบับใหม่

บริษัท CITIC ชนะประมูลในปี 2558 เพื่อพัฒนาโครงการจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดและเงื่อนไขในการประมูลครั้งแรก

“รัฐบาลชุดก่อนต้องการโครงการขนาดใหญ่ ในขณะที่เราต้องการเริ่มต้นจากโครงการเล็กๆ และขยายใหญ่ขึ้นหากมีความต้องการ” เซ็ต อ่อง กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น