xs
xsm
sm
md
lg

เกาะติดปฏิบัติการ Grab ปฏิวัติสินเชื่อไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในยุคที่หลายร้านอาหารมีผู้สวมเสื้อสีเขียวติดยี่ห้อ Grab รอต่อคิวหนาตา วันนี้ดาวรุ่งอย่างแกร็บ (Grab) กำลังส่งสัญญาณเริ่มปฏิวัติกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน ด้วยการเปิดตัวบริการสินเชื่อผ่านแอปแก่ผู้ขับและผู้ประกอบการรายย่อยแบบจริงจังในปีนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การประกาศว่าในเมื่อธนาคารไม่ยอมปฏิวัติตัวเอง ยังขอเอกสารและมีขั้นตอนจนเป็นกำแพงกั้นไม่ให้รากหญ้ามีทางเลือก Grab จึงอาสาลงมือทำเอง ด้วยทุนตัวเอง เป็นเจ้าของไลเซนส์เอง บนแพลตฟอร์มของตัวเอง

อาวุธหนักในการปฏิวัติวงการสินเชื่อไทยของ Grab คือระบบให้สินเชื่อที่ไม่เหมือนสถาบันการเงินทั่วไป Grab ยกให้ตัวเองเป็นรายแรกในภูมิภาค และเป็นรายเดียวที่มีระบบวิเคราะห์เครดิตซึ่งรู้ความสามารถจ่ายชำระคืนของผู้กู้ได้จากพฤติกรรมการใช้งานแอปพลิเคชันและปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ Grab ไม่ต้องพึ่งเอกสารหรือขั้นตอนตรวจสอบ แต่หยิบข้อมูลพฤติกรรมบนแอป และเงินหมุนเวียนเป็นตัวแสดงเครดิตสุดแม่นยำ จนประเมินว่ามูลค่าหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL จะไม่เกิน 2% ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับบริการสินเชื่อของสถาบันการเงิน

Grab มั่นใจว่าเป็นรายเดียวที่ทำได้ กลไกสำคัญคือฐานผู้ใช้ "แกร็บเพย์วอลเล็ต" (GrabPay Wallet) ที่เติบโต 7 เท่าภายใน 6 เดือนแรกที่เปิดตัว สะท้อนว่าผู้ใช้แกร็บเกินครึ่งหนึ่งเป็นสังคมไร้เงินสดซึ่งทำให้ Grab มีข้อมูลมหาศาลสำหรับวิเคราะห์ทุกวัน

คนธนาคารอยู่เบื้องหลัง?

แม้ Grab จะบอกว่าเหตุผลที่ทำให้ลุกขึ้นมาให้บริการด้านการเงิน คือเพราะ Grab ต้องการเป็นฟินเทคครบวงจรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย แต่ดูเหมือนว่า Grab วางแผนจะปฏิวัติวงการธนาคารทั่วโลก เพราะบริษัทที่ได้ชื่อเป็นเทคคัมพานีอย่าง Grab นั้นดึงบุคลากรด้านการธนาคาร มาเป็นผู้สร้างกรอบการทำคะแนนเครดิตอย่างจริงจังบนแพลตฟอร์ม Grab ซึ่งคนํธนาคารกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเปิดรับเทคโนโลยี เมื่อถูกดึงมาทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล การปฏิวัติวงการสินเชื่อด้วยฟินเทคจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในเมืองไทย

"วันนี้ผู้บริหารแกร็บไฟแนนเชียลกรุ้ป มาจากสายการเงินทั้งหมดเลย" นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าวทิศทางและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยปี 2020


ปัจจุบัน แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ปขนานนามตัวเองว่าเป็น "ผู้ให้บริการโซลูชันฟินเทคครบวงจร" ผ่าน 3 บริการคือแกร็บเพย์ บริการสินเชื่อ และบริการประกันภัยที่กำลังจะเปิดตัวในอนาคต

ที่ผ่านมา Grab จับมือกับธนาคารกสิกรไทย พัฒนาระบบแกร็บเพย์วอลเล็ต ขณะเดียวกันก็คล้องแขนกับบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ให้บริการ Citi Grab ยังมีบริการที่ช่วยให้ผู้ขับและร้านค้าพันธมิตรของ Grab จัดการเงินสดให้ดีขึ้นอีกหลายบริการ ทั้งหมดนี้เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ Grab ตามฝันเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตคนอาเซียนได้สำเร็จ

วรฉัตรอธิบายว่าระบบชำระเงินเป็นรากฐานสำคัญสู่บริการด้านการเงินอื่น ถ้าไม่มี Grab จะให้บริการสินเชื่อหรือบริการด้านการเงินอื่นไม่ได้ เพราะสามารถเรียกเก็บเงิน ผ่อนชำระคืนได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งในอนาคตก็จะกลายเป็นระบบสำคัญที่ช่วยให้การซื้อประกันทำได้ง่ายผ่านระบบ Grab

"ปีนี้เป็นปีที่ 8 ที่เราให้บริการเรียกรถทั้ง 2 และ 4 ล้อ พบว่าเงินสดลำบาก คนขับก็ลำบากเรื่องทอนเงิน เรื่องสำรองเงินไปซื้อสินค้ากับร้านค้า ยุ่งยาก ไม่ปลอดภัย"

ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ระบบแกร็บเพย์วอลเล็ตได้รับความนิยม หลังจากเริ่มให้บริการเมื่อปีที่แล้ว อัตราการเติบโตผู้ใช้ทะลุ 7 เท่าตัวจนสะท้อนว่าแพลตฟอร์ม Grab กลายเป็นธุรกรรมไร้เงินสดในภาพรวม จุดนี้ Grab ย้ำว่าทุกวันนี้แพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ในไทยยังทำธุรกรรมบนเงินสด แต่วันนี้เกือบครึ่งของธุรกรรมบน Grab เป็นแบบไร้เงินสด ถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มคู่แข่งของ Grab เอง

ข้อมูลบนระบบชำระเงินไร้เงินสดนี่เองที่ทำให้ Grab ให้บริการสินเชื่อที่อิงจากข้อมูล หรือที่เรียกว่า Data-driven โดย Grab ทดลองให้บริการจริงในปลายปีที่ผ่านมาหลังจากแกร็บได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง จุดเด่นคือการไม่มีกระบวนการสมัคร หรือไม่มีขั้นตอนใด


รูปแบบแรกของบริการสินเชื่อที่อิงจากข้อมูล คือ “สินเชื่อเงินสดรายย่อยผ่านแอป” Grab ระบุว่านี่คือสินเชื่อรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะไม่ต้องสมัคร Grab จะมอบให้เองแบบไม่ต้องใช้เอกสาร ผู้กู้สามารถชำระคืนเป็นรายวัน Grab จะให้วงเงินตามความเหมาะสมและตามการใช้งาน ไม่ได้ให้วงเงินสูงสุด

"เมื่อใครเข้าเกณฑ์ Grab จะเสนอสินเชื่อให้ทางแอปโดยที่ผู้ขับหรือ SME ไม่จำเป็นต้องรับเงินทันที แต่ถ้าอยู่ในภาวะจำเป็น เพียงคลิกเข้ามาในแอปก็จะมีช่องทางได้รับเงินทันทีที่เดือดร้อน เป็นทางออกในภาวะฉุกเฉิน สิ่งเดียวที่เราเน้นย้ำคือให้คนขับและร้านค้า ทำงานดีมีพฤติกรรมที่ดีก็พอ”

จุดเด่นของบริการสินเชื่อ Grab คือการกำหนดรูปแบบจ่ายคืนทุกวันในหลักร้อยบาท ประเด็นนี้แกร็บมองว่าเป็นโซลูชันที่ช่วยเหลือให้การชำระเงินคืนทำได้ง่าย ผู้ขับสามารถขับเพิ่มอีกวันละรอบ หรือร้านค้าสามารถเปิดเพิ่มอีก 10 นาที ทั้งหมดนี้เน้นเข้าใจง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา

ดอกเบี้ยบริการสินเชื่อรายย่อยจะอยู่บนฐานกฏหมาย โดยคำนวณได้สูงสุด 36% แต่แกร็บจะกำหนดระยะเวลากู้ยืมไว้ที่ 6 เดือน ทำให้ผู้กู้ชำระค่าดอกเบี้ยที่ราว 18% เท่านั้น

รูปแบบที่ 2 คือบริการผ่อนสินค้ารายวัน จุดเด่นลักษณะเดียวกับสินเชื่อ แต่จะไม่มีดอกเบี้ย บริการนี้แกร็บใช้วิธีจับมือกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ขับและ SME สามารถผ่อนโทรศัพท์มือถือที่ต้องการได้ไม่ต้องใช้บัตรเครดิต ทำให้ผู้ที่โทรศัทพ์มือถือเสียหายสามารถทำงานได้ต่อเนื่องไม่เดือดร้อน


รูปแบบที่ 3 คือสินเชื่อ SME ระยะสั้น ผู้บริหารย้ำว่าอาจจะให้ระยะเวลากู้ 1 เดือนบนวงเงินไม่สูง โดย SME กลุ่มเป้าหมายของแกร็บจะไม่มีขนาดใหญ่เทียบเท่า SME ในนิยามของธนาคาร อัตราดอกเบี้ยราว 15%

“ทั้งหมดที่เล่ามา Grab ทำเอง เป็นเจ้าของเงินในการปล่อย เป็นเจ้าของไลเซนส์ และเป็นบริการเราเองด้วย ทั้ง 3 บริการนี้เราได้ทดสอบและเรียนรู้ในระดับหนึ่งแล้ว ทำให้พร้อมและเข้าใจว่าจะให้สินเชื่ออย่างไร เป็นที่มาของการตั้งเป้าปีนี้ว่า Grab จะมียอดสินเชื่อ 3 พันล้านบาท แม้่จะเป็นเป้าหมายที่ไม่ใหญ่เมื่อเทียบสถาบันการเงินรายหลัก แต่นี่คือการเข้าตลาดรายย่อย ไม่ให้กู้นอกระบบ คือความตั้งใจของ Grab ในปีนี้”


ปัจจุบัน Grab มีแผนการขยายฐานการให้บริการจาก 20 จังหวัดเป็น 30 จังหวัดภายในปี 63 แผนนี้ทำให้บริษัทเชื่อว่ามูลค่าสินเชื่อและฐานลูกค้าจะขยายได้มากกว่า 5-6 เท่าต่อปี ตามฐานผู้ใช้รวมเมื่อแกร็บขยายบริการสู่เมืองรอง ทำให้ฐานลูกค้าสินเชื่อของแกร็บมีโอกาสเติบโตจาก 20,000 ครั้วเรือนในช่วงทดสอบบริการ มาเป็น 100,000 ครัวเรือนได้ในปีนี้

NPL ต่ำเพราะชำระรายวัน

ประเด็นความเสี่ยงหนี้เสีย ผู้บริหาร Grab ระบุว่ารูปแบบบริการสินเชื่อที่เป็นการชำระเงินคืนรายวัน และให้สินเชื่อระยะสั้นมาก บนวงเงินที่ไม่สูง Grab เชื่อว่าจะต่ำมากจนไม่น่าจะเกิน 2% แม้ว่าจะเป็นนาโนโลนที่สถาบันการเงินมองว่าความเสี่ยงสูง แต่รูปแบบที่ Grab ทำนั้นต่างจากทุกบริการที่เคยมีมา

"หากผู้กู้ป่วย ทำงานไม่ได้ ระบบจะแจ้งเตือนผ่านแอป ถ้าไม่ได้ขับวันนี้ ก็อาจจะตัดเงินที่ค้างอยู่ในแอปเป็นรายวัน การเตือนจะคล้ายธนาคาร แต่จะร่วมมือกับศูนย์บริการคนขับเพื่อติดตามข่าวคราว แต่ด้วยเงินที่น้อยและค่างวดที่ต่ำ เราเชื่อว่าไม่มีใครอยากเบี้ยว เราจะไม่มองว่าเป็นหนี้เสีย แต่จะพยายามติดต่อว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า เชื่อว่าพันธมิตรที่ระบบวิเคราะห์ว่าน่าเชื่อถือจะไม่ยอมทิ้งอาชีพ ด้วยเงินหมื่นที่กู้ไป ซึ่งถ้าถึงวันที่ไม่จ่ายต่อเนื่องก็ต้องติดตามทวง"

ผู้บริหารยอมรับว่าในช่วงทดสอบ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปว่ามีหนี้ NPL ต่ำจริงหรือไม่ เชื่อว่าจะต้องติดตามนาน 12-18 เดือนถึงจะรู้ผล แต่เสียงตอบรับที่น่าสนใจคือบริการนี้ได้รับคำชมว่าดีมาก ผู้กู้รู้สึกว่าเป็นสวัสดิการพนักงาน มองว่าเป็นทางเลือกเมื่อได้รับความเดือดร้อน ขณะที่ผู้ขับและร้านค้าหลายคนไม่ได้รับสินเชื่อเลย เรียกว่ามีวินัยในการรับสินเชื่อ

ในช่วงทดลอง ผู้บริหารระบุว่าบริการสินเชื่อกู้ซื้อสมาร์ทโฟนได้รับความนิยมสูง โดยเกินครึ่งเป็นสินเชื่อผ่อนซื้อสมาร์ทโฟน รองลงมาเป็นสินเชื่อเงินสด และเอสเอ็มอี รายได้ในช่วงทดลองยังไม่สูงเพราะเพิ่งเริ่มให้บริการ 3 เดือน แต่ปีนี้คาดว่าจะได้รับรายได้จากสินเชื่อ SME และบริการผ่อนซื้อสมาร์ทโฟนเพราะความนิยมที่เติบโตได้เร็ว

ยังไม่อยากเป็นธนาคาร

เบื้องต้น Grab มองว่ายังไม่เห็นความจำเป็นในการพัฒนาตัวเองเป็นธนาคารดิจิทัลหรือดิจิทัลแบงก์กิ้ง เนื่องจากบริการสินเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นบนฐานแนวคิดเพื่อช่วยยกระดับคุรภาพชีวิต แต่อีก 2-3 ปีข้างหน้า Grab อาจจะประเมินใหม่ว่าการเป็นธนาคารจำเป็นหรือไม่ และ Grab ประเทศไทยยังไม่อยู่ในสถานการณ์เหมือน Grab สิงคโปร์ที่ต้องการเป็นธนาคาร เพราะสภาพธุรกิจยังไม่เหมือนกัน


สำหรับการร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย Grab ระบุว่าเป็นการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ แต่ผู้กู้ยังต้องยื่นเอกสารกับกสิกรฯ ต่างจากรูปแบบสินเชื่อที่ Grab เริ่มต้นด้วยตัวเอง เบื้องต้นทุกบริการที่ยังร่วมมือกันจะยังร่วมกันแบบเดิม

"เรื่องผ่อนรถผ่อนมอเตอร์ไซค์ Grab ไม่มีให้บริการ เราเพียงดูแลความสะดวกให้ แต่สินเชื่อบุคคล Grab มีทางเลือกให้ตามรูปแบบสินเชื่อที่ต่างออกไปของกลุ่มรายได้"

ผู้บริหาร Grab ยอมรับว่ากำลังศึกษาเรื่องไมโครอินเวสเมนต์ (Micro Investment) เพื่อให้รายย่อยสามารถลงทุนกับ Grab ได้ สามารถซื้อกองทุนได้จากเงินรายได้ที่ทำในแอป ขณะเดียวกันก็เตรียมเปิดบริการด้านประกันภัย ภายใต้ชื่อบริการแกร็บอินชัวร์ (GrabInsure) ในปีนี้

"เราเปลี่ยนภาพสินเชื่อได้แล้ว ก็อยากเปลี่ยนภาพประกันด้วย" ผู้บริหาร Grab กล่าว "ที่ลงมาเล่นในตลาดสินเชื่อรายย่อย เพราะ Grab อยากแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป บริการการเงินในระบบวันนี้ไม่ตอบโจทย์ ทำให้ Grab ต้องทำเอง ธนาคารไม่ทำ ยังรับเอกสาร ที่เราทำเพราะมีวัตถุประสงค์ชัดเจน เรามองว่าไม่ได้มีคู่แข่งชัดเจนเพราะไม่ได้เสนอผู้ใช้นอกแพลตฟอร์ม แต่ถ้ามีคนทำเพิ่ม ก็ยิ่งดีเพราะจะได้ช่วยกัน"

เหล่าบริษัทฟินเทคจะได้ช่วยกันปฏิวัติให้เงินกู้นอกระบบไม่มีที่อยู่ในแผ่นดินไทย.


กำลังโหลดความคิดเห็น