หลังจากเริ่มทดสอบบริการตั้งแต่ปลายปี 62 “แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ้ป” (Grab) พร้อมเดินหน้าปั้นบริการสินเชื่อผ่านแอปแก่ผู้ขับและผู้ประกอบการรายย่อยเต็มตัวปี 63 ย้ำเป็นสินเชื่อพันธุ์ใหม่เพราะเป็นรายแรกในภูมิภาคที่พัฒนาระบบวิเคราะห์เครดิตเพื่อให้สินเชื่อที่ไม่เหมือนภาคการเงิน ชูจุดขายไม่ต้องใช้เอกสารเพราะรู้อยู่แล้วว่าลูกค้าไม่มีให้ แต่ใช้ข้อมูลพฤติกรรมบนแอปและเงินหมุนเวียนเป็นตัวแสดงเครดิตสุดแม่นยำจนประเมินว่ามูลค่าหนี้เสียจะไม่เกิน 2% มั่นใจทำได้รายเดียวเพราะฐานผู้ใช้แกร็บเพย์วอลเล็ตโต 7 เท่าภายใน 6 เดือนแรกที่เปิดตัว สะท้อนว่าผู้ใช้แกร็บเกินครึ่งหนึ่งเป็นสังคมไร้เงินสดซึ่งทำให้แกร็บมีข้อมูลมหาศาลสำหรับวิเคราะห์ทุกวัน วางเป้ามูลค่าสินเชื่อโตแตะหลัก 3 พันล้านบาทปีนี้ บนฐานลูกค้าผู้กู้ 100,000 ครัวเรือน
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้แกร็บต้องการให้บริการด้านการเงินอย่างแกร็บเพย์ บริการสินเชื่อ และบริการประกันภัยที่กำลังจะเปิดตัวในอนาคต ว่าเพราะแกร็บต้องการเป็นฟินเทคครบวงจรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย
“เราไม่ได้ต้องการกำไรมากที่สุด แต่วัตถุประสงค์แรกคือต้องการแก้ปัญหาให้พาร์ทเนอร์ของแกร็บ เช่น ร้านอาหารที่ต้องการใช้เงินแล้วต้องการมีทางเลือก ที่ผ่านมาไม่มีทางเลือกเลยนอกจากการกู้นอกระบบ เป็นที่มาของปีนี้ที่มองว่าจะผลักดันสินเชื่อที่อิงจากข้อมูลอย่างแท้จริง”
สินเชื่อที่อิงจากข้อมูลนี้มีชื่อเรียกว่า Data-driven ซึ่งแกร็บทดลองให้บริการจริงในปลายปีที่ผ่านมาหลังจากแกร็บได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง จุดเด่นคือการไม่มีกระบวนการสมัคร หรือไม่มีขั้นตอนใด เบื้องต้นพร้อมให้บริการ 3 รูปแบบ ซึ่งแกร็บให้สินเชื่อแล้ว 500 ล้านบาทผ่านลูกค้า 20,000 ครัวเรือนในช่วงทดสอบ
รูปแบบแรกคือ “สินเชื่อเงินสดรายย่อยผ่านแอป” แกร็บยกให้ตัวเองเป็นรายแรกในภูมิภาค ที่พัฒนาระบบให้สินเชื่อที่ไม่เหมือนภาคการเงิน และเป็นรายเดียวที่มีระบบวิเคราะห์เครดิตซึ่งรู้ความสามารถจ่ายชำระคืนของผู้กู้ได้จากพฤติกรรมการใช้งานแอปพลิเคชันและปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ แกร็บระบุว่าคะแนนเครดิตทั้งร้านอาหารและผู้ขับหลายแสนรายถูกวิเคราะห์พร้อมใช้งานเต็มตัวแล้วในขณะนี้เนื่องจากฐานผู้ใช้งานระบบแกร็บเพย์ วอลเล็ตเพิ่มขึ้นจนทำให้ปริมาณธุรกรรมบนแกร็บเป็นการชำระเงินแบบไร้เงินสด และการวิเคราะห์ข้อมูลนี้จะขยายออกไปต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ต่างจากภาคการเงินที่วิเคราะห์เครดิตแบบครั้งเดียวจบ
“กลายเป็นสินเชื่อรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน คือไม่ต้องสมัคร เราให้เอง ไม่ต้องใช้เอกสาร และชำระคืนเป็นรายวัน เราให้วงเงินตามความเหมาะสมและตามการใช้งาน ไม่ได้ให้วงเงินสูงสุด” ผู้บริหารแกร็บระบุ “เมื่ออยู่ในเกณฑ์ แกร็บจะเสนอสินเชื่อให้ทางแอปโดยที่ผู้ขับหรือ SME ไม่จำเป็นต้องรับเงินทันที แต่ถ้าอยู่ในภาวะจำเป็น เพียงคลิกเข้ามาในแอปก็จะมีช่องทางได้รับเงินทันทีที่เดือดร้อน เป็นทางออกในภาวะฉุกเฉิน สิ่งเดียวที่เราเน้นย้ำคือให้คนขับ ทำงานดีมีพฤติกรรมที่ดีก็พอ”
จุดเด่นของบริการสินเชื่อแกร็บ คือการกำหนดรูปแบบจ่ายคืนทุกวันในหลักร้อยบาท ประเด็นนี้แกร็บมองว่าเป็นโซลูชันที่ช่วยเหลือให้การชำระเงินคืนทำได้ง่าย ผู้ขับสามารถขับเพิ่มอีกวันละรอบ หรือร้านค้าสามารถเปิดเพิ่มอีก 10 นาที ทั้งหมดนี้เน้นเข้าใจง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา
ดอกเบี้ยบริการสินเชื่อรายย่อยจะอยู่บนฐานกฏหมาย โดยคำนวณได้สูงสุด 36% ต่อปี แต่แกร็บจะกำหนดระยะเวลากู้ยืมไว้ที่ 6 เดือน ทำให้ผู้กู้ชำระค่าดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกที่ราว 18% ต่อปี
รูปแบบที่ 2 คือบริการผ่อนสินค้ารายวัน จุดเด่นลักษณะเดียวกับสินเชื่อ แต่จะไม่มีดอกเบี้ย บริการนี้แกร็บใช้วิธีจับมือกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ขับและ SME สามารถผ่อนโทรศัพท์มือถือที่ต้องการได้ไม่ต้องใช้บัตรเครดิต ทำให้ผู้ที่โทรศัทพ์มือถือเสียหายสามารถทำงานได้ต่อเนื่องไม่เดือดร้อน
รูปแบบที่ 3 คือสินเชื่อ SME ระยะสั้น ผู้บริหารย้ำว่าอาจจะให้ระยะเวลากู้ 1 เดือนบนวงเงินไม่สูง โดย SME กลุ่มเป้าหมายของแกร็บจะไม่มีขนาดใหญ่เทียบเท่า SME ในนิยามของธนาคาร อัตราดอกเบี้ยสูงสุดราว 15% ต่อปี
“ทั้ง 3 บริการนี้เราได้ทดสอบและเรียนรู้ในระดับหนึ่งแล้ว ทำให้พร้อมและเข้าใจว่าจะให้สินเชื่ออย่างไร เป็นที่มาของการตั้งเป้าปีนี้ ว่าแกร็บจะมียอดสินเชื่อ 3 พันล้านบาท แม้่จะเป็นเป้าหมายที่ไม่ใหญ่เมื่อเทียบสถาบันการเงินรายหลัก แต่นี่คือการเข้าตลาดรายย่อย ไม่ให้กู้นอกระบบ คือความตั้งใจของแกร็บในปีนี้”
ปัจจุบัน แกร็บมีแผนการขยายฐานการให้บริการจาก 20 จังหวัดเป็น 30 จังหวัดภายในปี 63 แผนนี้ทำให้บริษัทเชื่อว่ามูลค่าสินเชื่อและฐานลูกค้าจะขยายได้มากกว่า 5-6 เท่าต่อปี ตามฐานผู้ใช้รวมเมื่อแกร็บขยายบริการสู่เมืองรอง ทำให้ฐานลูกค้าสินเชื่อของแกร็บมีโอกาสเติบโตจาก 20,000 ครัวเรือนในช่วงทดสอบบริการ มาเป็น 100,000 ครัวเรือนได้ในปีนี้.