xs
xsm
sm
md
lg

“เทลสกอร์” พร้อมลุยยูทูบปีนี้ ดันยอดอินฟลูเอนเซอร์แตะ 6 หมื่นราย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สุวิตา จรัญวงศ์
วงการไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro-Influencer) ไทยบูมต่อเนื่อง เห็นชัดจาก “เทลสกอร์” (Tellscore) สตาร์ทอัปไทยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอัตโนมัติสำหรับจ้างงานอินฟลูเอนเซอร์ ที่มั่นใจว่ายอดอินฟลูเอนเซอร์ในระบบจะทะลุ 6 หมื่นรายในปีนี้ ระบุตั้งเป้าหมายจากเทรนด์ร้อนแรงที่ชี้ชัดว่าผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดกำลังทำให้เกิดอีโคซิสเต็มส์เหมือนสื่อดิจิทัลรายหลัก ย้ำก้าวต่อไปพร้อมขยายธุรกิจไปตลาดใหม่คู่กับการลุยยูทูบ (YouTube) ช่องทางล่าสุดที่จะทำให้ Tellscore มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% ยอมรับความท้าทายใหญ่ที่สุดปีนี้คือพิษเศรษฐกิจที่หลายแบรนด์อาจหั่นงบประมาณทิ้งไปในช่วงวิกฤตไวรัสระบาด

สุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 63 ว่าจากปัจจุบันที่ดำเนินงานบน 3 ช่องทางหลักคือเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (instagram) และทวิตเตอร์ (Twitter) ปีนี้บริษัทมีแผนจะขยายไปยัง YouTube และเว็บไซต์ทั่วไปขณะเดียวกันจะขยายธุรกิจไปยังประเทศที่ 3 เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีให้บริการในประเทศไทยและอินโดนีเซีย

"การไป YouTube ทำให้เราหวังว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 10% เหตุผลเพราะ YouTube เป็นสังคมครีเอเตอร์ และมีลูกค้าแบรนด์ที่รอซื้องานอินฟลูเอนเซอร์บน YouTube เยอะมาก" สุวิตากล่าว โดยระบุว่าสาเหตุที่ Tellscore ต้องใช้เวลากว่าจะพัฒนาให้ YouTube กลายเป็นช่องทางใหม่ของบริษัท คือการเปลี่ยนแปลงบนแพลตฟอร์ม YouTube ที่มากกว่าโซเชียลมีเดียอื่น


nfluencer Marketing คือการตลาดที่แบรนด์สินค้าเลือกใช้ผู้มีอิทธิพลคนดังบนโลกออนไลน์ หรือที่เรียกรวมว่าอินฟลูเอนเซอร์ ให้เป็นกระจิบข่าวในการประชาสัมพันธ์ผ่านการโพสต์บนช่องทางของตัวเองทั้งเพจเฟซบุ๊ก บัญชีอินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ฯลฯ การที่ Influencer Marketing ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเพราะความสามารถเข้าถึงมวลชนและกระตุ้นยอดขายได้จริง ทำให้นักการตลาดหันมาเลือกซื้อโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้นแทนการจัดงานอีเวนต์หรือซื้อสื่อที่ต้องใช้ทุนมหาศาล ขณะเดียวกันก็เน้นปูพรมซื้อโพสต์อินฟลูเอนเซอร์พร้อมกันหลายรายหลายระดับผู้ติดตาม เพราะรายเล็กที่มีผู้ติดตามไม่มากมีอิสระในการประกาศข่าวมาก ขณะที่เซเลบริตี้ดาราดังผู้มีชื่อเสียงแม้จะมีกฏเหล็กทำให้โพสต์ได้ไม่อิสระ แต่ก็สร้างการรับรู้ได้ดีกว่า

การขยายบริการไปสู่ YouTube จึงถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญของ Tellscore ที่ผ่านมา Tellscore เป็นผู้ให้บริการระบบอัตโนมัติเพื่อการทำแคมเปญ Influencer Marketing ซึ่งมีจุดขายเรื่องการพยากรณ์แนวโน้มให้แบรนด์สามารถเลือกซื้อโฆษณากับอินฟลูเอนเซอร์ได้แบบคุ้มค่า โดยระบบ AI ของ Tellscore สามารถวิเคราะห์แนวโน้มประสิทธิภาพของอินฟลูเอนเซอร์แต่ละรายได้จากข้อมูลการตรวจจับเส้นทางการซื้อขายที่เกิดจากโพสต์ของอินฟลูเอนเซอร์ได้ทั้งหมด ทำให้นักการตลาดสามารถทราบได้ว่ายอดขายจากอินฟลูเอนเซอร์แต่ละรายมีมูลค่าเท่าใดบนแพลตฟอร์มโซเชียลที่ต้องการ เท่ากับความสามารถนี้จะครอบคลุมช่องทาง YouTube ด้วยในปีนี้

อินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นสื่อ

สำหรับปี 2020 ผู้บริหาร Tellscore มองว่า Influencer Marketing ในปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวเป็น Influencer Economy หรือระบบเศรษฐกิจอินฟลูเอนเซอร์ที่มีขนาดใหญ่เหมือนสื่อหรือมีเดียชนิดหนึ่งบนโลกออนไลน์ เหตุผลมาจากปัจจัยหลักคือคุณภาพของเนื้อหาจากอินฟลูเอนเซอร์ที่จะถูกต้องเชื่อถือได้ยิ่งขึ้น และมีที่มาที่ไปชัดเจน ยังมีเทรนด์การฝึกอบรม Micro Influencer จนลดภาพความเป็น fake news ได้ชัด ทำให้เนื้อหาของอินฟลูเอนเซอร์มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น จนเกิดการส่งต่อและขยายตัวติดจรวดรวดเร็ว


แนวโน้มนี้ยิ่งทำให้ระบบอัตโนมัติเพื่อการจ้างงาน Influencer มีความสำคัญมากขึ้น เพราะระบบ Influencer Marketing Automation จะทำให้แบรนด์สามารถประเมินการซื้อสื่อผ่านอินฟลูเอนเซอร์ได้เหมือนกันซื้อโฆษณาดิจิตอลทั่วไป เนื่องจากระบบ Automation ช่วยตอบหลายงานที่เคยทำไม่ได้และยุ่งยาก ได้แก่ การเลือก Micro Influencer เพราะระบบนี้จะรวบรวมช่องทางติดต่อ Influenza จำนวนหลายหมื่นคน กลายเป็นแคตาล็อกอินฟลูเอนเซอร์ที่มีข้อมูลราคาค่าโฆษณาแบบครบทุกคน ยังมีระบบตัวเดินเวลาที่สามารถลงรายละเอียดรูปแบบการจ้างการโพสต์คอนเทนต์ ทั้งในเชิงจำนวนและความถี่ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสถิติ ซึ่งแบรนด์ที่ต้องการใช้ Micro Influencer เกิน 100 คนต้องใช้ทุนและบุคลากรจำนวนมากในการรวบรวม ที่สำคัญคือรายงานที่ช่วยติดตามความคุ้มค่าครบถ้วนของงบประมาณที่จ่ายไป

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ Tellscore สามารถนำไปวิเคราะห์เป็นข้อมูลพยากรณ์ ซึ่งเอเจนซี่และแบรนด์สามารถพิจารณาแนวโน้มได้คุ้มค่ากับงบประมาณที่มีอยู่ เวลานี้ Tellscore ใช้ฟีเจอร์การพยากรณ์เป็นจุดขายเหนือคู่แข่ง 4-5 เจ้าในตลาด โดยบอกว่า Tellscore เป็นรายเดียวในตลาดที่มีฟีเจอร์คาดการณ์รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เราพยากรณ์ได้เหมือนเรดาร์ ดูว่าใครเป็นช่วงขาขึ้น ข้อมูลนี้เอเจนซี่และแบรนด์สามารถดูได้ฟรี ยังมีรายงานที่แบรนด์สามารถเห็นสถิติการซื้อโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์ย้อนหลังได้โดยไม่ต้องเริ่มใหม่ทุกครั้งเมื่อเริ่มแคมเปญใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังมีรายงานที่ทำให้แบรนด์มั่นใจได้ว่าอินฟลูเอนเซอร์ลงมือทำแคมเปญจริงไม่ใช่ตัดต่อ”


ปัจจุบัน Tellscore มีฐานข้อมูลอินฟลูเอนเซอร์มากกว่า 50,000 รายในระบบ ครอบคลุมเนื้อหา 12 ความถนัด สายที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรกคืออินฟลูเอนเซอร์ด้านความงาม ด้านอาหาร ด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ และด้านการเงิน

ตลอด 3 ปีที่ให้บริการมา Tellscore ให้บริการลูกค้ามากกว่า 500 บริษัท สถิติชี้ว่าอัตราการเห็นคอนเทนต์อินฟลูเอนเซอร์ในมือ Tellscore บนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์นั้นมีสัดส่วนเฉลี่ยมากกว่า 46%


ที่ผ่านมา Tellscore เป็นเบอร์ 1 ที่ได้รางวัลสตาร์ทอัปแห่งปีของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 6 กลุ่มบริษัท LINE Scale Up ซึ่งทำให้บริษัทเตรียมเปิดบริการบน LINE ในฐานะพันธมิตรภายในปีนี้ด้วย โดยโครงการล่าสุดที่บริษัทดำเนินการคือการทำโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่ออบรมแนวทางการแก้ปัญหาข่าวปลอมเพื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนาสื่อยั่งยืน ถือเป็นก้าวที่ใหม่ในยุคที่โลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนแต่เฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม

เทรนด์ไทยแรงไม่แพ้เทรนด์โลก

สถิติล่าสุดระดับโลกพบว่านักช้อปส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจจากอินฟลูเอนเซอร์ก่อนซื้อสินค้า โดยเกิน 87% ได้เห็นข้อมูลจากอินฟลูเอนเซอร์ก่อนตัดสินใจ สัดส่วนนี้ถือว่าเพิ่มขึ้นจาก 60% ในปี 2018 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้นและบริการโลจิสติกส์การขนส่งที่ขยายตัว ทำให้สัดส่วนนี้ใหญ่ขึ้นชัดเจน


การสำรวจยังพบว่าชาวออนไลน์ไม่รังเกียจโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์ เพราะมากกว่า 60% รู้ว่าเป็นเนื้อหาโฆษณาแต่ก็ยังอ่าน ส่งให้นักการตลาดเกิน 75% ยอมรับว่าตั้งใจเพิ่มงบซื้อโฆษณา Influencer Marketing เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า

ในภาพรวมตลาด Influencer Marketing ทั่วโลกมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 450,000 ล้านบาท สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจข้อมูลโดยละเอียด แต่คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของตลาดดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่มีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาทในปี 2019 เชื่อว่าปีนี้จะเติบโตมากขึ้นอีก

สำหรับประเทศไทยผู้บริหารมองว่า พรบ. ความผิดทางคอมพิวเตอร์จะช่วยจัดระเบียบปัญหา "เนียน marketing" เนื่องจากหากเข้าข่ายความผิด อินฟลูเอนเซอร์รายนั้นหรือเพจนั้นจะเป็นสำนักผู้ผลิต fake news ทันที

แม้จะเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจซบเซาไม่มีผลต่อต่อวงการ Influencer Marketing เนื่องจากสามารถให้ความคุ้มทุนที่ดีกว่า เห็นได้ชัดจากงบประมาณ 300,000 บาทที่ทำให้เกิดเทรนด์บนโซเชียล จนเกิดการพูดคุยได้นาน 3 สัปดาห์ซึ่งนานกว่าข่าวทั่วไป ที่อยู่ได้นาน 1 สัปดาห์เท่านั้น แต่สุวิตาก็ยอมรับว่าความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในปีนี้คือปัญหาเศรษฐกิจเพราะหลายบริษัทถูกตัดงบ และเลื่อนการเปิดตัวสินค้าใหม่ในช่วงในช่วงไวรัสรุนแรง.


กำลังโหลดความคิดเห็น