ไลน์ (LINE) ประเทศไทยประกาศก้าวต่อไปของธุรกิจคอนเทนต์ปี 2020 ปีนี้ชู 2 แกนคือ LINE TV แอปพลิเคชันวีดีโอออนไลน์และ LINE TODAY บริการข่าวออนไลน์เป็นหัวหอกหลักเพื่อเขย่าตลาดคอนเทนต์ออนไลน์ไทย ตั้งเป้าบุกอาเซียนด้วยการชิมลาง LINE TV ในกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ช่วงไตรมาส 2 ขณะเดียวกันก็หั่นงบสร้างเกมโชว์และรายการวาไรตี้ทิ้งแล้วอัดฉีดออริจินัลคอนเทนต์ใหม่เป็นซีรีส์และชิทคอม 6 เรื่องจากพันธมิตรรายใหญ่ตามพฤติกรรมคนไทยที่เปลี่ยนไป ยืนยันขณะนี้ไม่คิดเปิดบริการสมัครสมาชิกเพื่อชมซีรีส์ LINE TV แบบไร้โฆษณา เชื่อการดูฟรีตอบโจทย์คนไทยและอาเซียนมากกว่า
ดร. พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) กล่าวในงาน “LINE NEXPLOSION 2020” ว่าวิสัยทัศน์หลักของ LINE ยังคงอยู่ที่การเน้นให้ LINE เป็น Life Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานชีวิตที่มีส่วนร่วมกับชีวิตประจำวันของผู้ใช้ตั้งแต่ตื่นนอน หนึ่งในสิ่งที่จะทำให้ LINE ก้าวไปสู่จุดที่ต้องการได้คือการพัฒนาคอนเทนต์ที่โดนใจคนไทย สำหรับปีนี้ LINE จะเน้นที่บริการ LINE TV และ LINE TODAY เป็นพิเศษ
“วันนี้ LINE เป็นช่องทางเสพสื่อออนไลน์ของ 45 ล้านคนในประเทศไทย ไม่ว่า 45 ล้านคนนี้จะต้องการทำอะไรในวันหนึ่ง เราจะตอบโจทย์ตรงนั้นด้วยคอนเทนต์ ทั้ง LINE TV และ LINE Today เราจะผลิตข่าวสารและเนื้อหามาตอบโจทย์คนไทยทั้งประเทศ เพื่อเสพและเพื่ออ่านตามความต้องการที่ไม่เหมือนกัน เราต้องการโฟกัสเรื่องนี้ด้วยการทำ 3 อย่าง คือ 1. การวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับนำเสนอให้ผู้ใช้แต่ละคน 2. การพัฒนาให้ใช้งานง่าย รองรับผู้สูงอายุ และ 3. เนื้อหาต้องดี ถ้าไม่ดีจะไม่ได้เห็นบนแพลตฟอร์มเรา”
สำหรับปี 62 ที่ผ่านมา LINE ระบุว่ามีผู้ชมวิดีโอบน LINE TV มากกว่า 5,800 ล้านครั้ง เข้าถึงผู้ใช้ 40 ล้านคนในไทย ขณะที่ LINE Today ถูกเปิดอ่านข่าว 1 พันล้านครั้งต่อ 1 เดือน เบ็ดเสร็จแล้วคิดเป็น 11,700 ล้านครั้งต่อปี
นายกณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ ย้ำว่าเป้าหมายของธุรกิจคอนเทนต์ LINE นับจากนี้ คือการเป็นเครื่องจักรสำคัญให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ เปลี่ยนจากเนื้อหาอนาล็อกเป็นดิจิทัล ที่เข้าถึงคนไทยได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยชี้ว่า LINE Today จะไม่ใช่แค่พอร์ทัลรวมข้อมูลข่าว แต่จะถูกพัฒนาเป็นอินโฟเทนเมนต์ที่นำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ผู้ใช้แต่ละคน ผ่านระบบ AI ที่ LINE เริ่มทดลองใช้ช่วงปลายปี 62 คาดว่าการปรับอินเทอร์เฟสและอัลกอริธึมอย่างเป็นทางการของ LINE Today จะเกิดขึ้นในไม่นานนี้
LINE การันตีว่าปัจจุบัน LINE Today เป็นคอนเทนต์พอร์ทัลรายใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งมีผู้ใช้ 36 ล้านคนอ่านข่าวผ่านพาร์ทเนอร์ 260 รายทั้งที่เป็นออนไลน์และออฟไลน์
LINE ยังยกให้ LINE TV เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์อันดับ 1 ของไทย สถิติการชมคือ 176 นาทีต่อคนต่อวัน เข้าถึงผู้ใช้ 40 ล้านคน ตัวเลขของ LINE ชี้ว่าการชมบนออนไลน์และออฟไลน์แยกกันไม่ได้แล้วในนาทีนี้ เห็นได้ชัดจากผู้ใช้ 87% ที่ชมวิดีโอทั้ง 2 รูปแบบ เชื่อว่าสัดส่วนนี้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ บนเวลาไพร์มไทม์ของระบบวิดีโอออนไลน์ ที่คนไทยมักจะดูช่วง 12.00-14.00 น.ซึ่งเป็นเวลาพักเที่ยง, ช่วง 15.00-18.00 น. ซึ่งเป็นเวลากลับบ้าน และ 21.00-23.00 น. ช่วงกลางคืนก่อนนอน
สำหรับ LINE TV ผู้บริหารระบุว่า 6 เดือนที่เริ่มให้บริการชมบนจอใหญ่ ผ่านกล่องโครมคาสต์ แอนดรอยด์ทีวี แอปเปิลทีวี และเริ่มติดตั้งแอปพลิเคชัน LINE TV จากโรงงานโทรทัศน์ดิจิทัลแบรนด์ TCL และ Sony พบว่าสถิติการชมแต่ละเดือนเติบโตขึ้น 60% ต่อเดือน ปัจจัยบวกให้สัดส่วนนี้เติบโตขึ้นคือความสามารถรับชมได้บนจอใหญ่ และการใช้เวลากับครอบครัวได้
เพื่อกระตุ้น LINE TV ปีนี้ LINE จะยังคงลงทุนผลิตออริจินัลคอนเทนต์หรือเนื้อหาต้นฉบับกับพาร์ทเนอร์ไทยต่อเนื่อง เบ็ดเสร็จ 5 ปีที่ผ่านมา LINE TV เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างออริจินัลคอนเทนต์ไทยรวม 72 เรื่อง มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ส่งให้อัตราการชมเพิ่มขึ้น 32% เทียบปี 61-62 โดยปี 63 มีแผนจะขยายไปอีก 6 ประเทศ
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับ LINE TV คือเทรนด์คนเมืองกำลังเปลี่ยน ผู้คนอยากจัดการได้ว่าจะดูรายการที่ชอบตอนไหน เราจึงจะขยายคอนเทนต์ให้กว้างมากขึ้น จะเน้นแอนิเมชันเพื่อเจาะกลุ่มผู้ชาย มีรายการกีฬา ปีนี้เป็นปีแรกที่เราเอาไฮไลท์ของยูฟ่าแชมเปี้ยนลีคมาเผยแพร่บน LINE TV เราจะเน้นขยายฐานผู้ชมให้ทั่วประเทศด้วยการติดตั้งแอปที่อุปกรณ์เมื่อออกจากโรงงาน ทำให้เข้าถึง LINE TV ได้ง่าย และเข้าถึงกลุ่มใหม่ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ LINE TV จะไปอาเซียน จะเริ่มเปิดทดลองในประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มไตรมาส 2 เป้าหมายหลักคือ LINE TV จะเป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์มืออาชีพเบอร์ 1 ของอาเซียนให้ได้ใน 3 ปี”
ในงาน LINE NEXPLOSION 2020 มีการโชว์ตัวอย่างเนื้อหาต้นฉบับที่เป็นละครซีรีส์และซิทคอม 6 เรื่องที่จะฉายบน LINE TV แห่งดียว 1 ใน 6 เนื้อหาต้นฉบับคือซีรีส์ฟอร์มยักษ์เรื่อง “Mother” ฝีมือการสร้างของพันธมิตรอย่าง JSL ที่ทำเนื้อหาต้นฉบับให้ LINE TV มาเป็นปีที่ 3 โดยซีรีส์นี้เป็นการนำมาทำใหม่หรือรีเมกจากต้นฉบับในญี่ปุ่น ที่ถูกนำไปสร้างในเกาหลี และตุรกีจนเป็นกระแสหลายรอบ ยังมีเรื่อง “เป็นต่อ” เวอร์ชันไม่เซ็นเซอร์ซึ่งมีการทำงานกับค่ายกระต่ายสาวยั่วสวาทอย่าง Playboy เป็นครั้งแรก ขณะที่พันธมิตรอย่างนาดาวขอแจ้งเกิด BKPP The Series ซึ่งต่อยอดจาก “รักฉุดใจ นายฉุกเฉิน” ถือเป็นครั้งแรกที่นาดาวเลือกคู่จิ้นที่เป็นกระแสบน Twitter มาทำซีรีส์ภาคต่อ แม้ทีมผู้กำกับจะย้ำว่าเป็นการสร้างตัวละครใหม่ และจะเป็นซีรีส์วายชายรักชายที่นาดาวพร้อมจุดพลุช่วงกลางปี
นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายการพาณิชย์ เผยว่าบริการโฆษณาบน LINE TV และ LINE TODAY ในปีที่ผ่านมามียอดการใช้จ่ายโฆษณาที่ขยายตัวอย่างมาก ในส่วนของ LINE TV มีมูลค่าการลงโฆษณาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสะสม 67% ต่อปี และส่วนของ LINE TODAY เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ที่ยอดเฉลี่ยสะสมเพิ่มขึ้นสูงถึง 150% ต่อปี
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงโฆษณาสูงสุดบน LINE TV ในปีที่ผ่านมา คือกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มความงามและสุขภาพ รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มียอดการเติบโตสูงสุดในการลงโฆษณา ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ ตามมาด้วยกลุ่มมีเดียและความบันเทิง และกลุ่มประกันภัย
ข้อมูลนี้ต่างจาก LINE TODAY สถิติพบว่าในปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงโฆษณาสูงสุดบน LINE Today ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร และกลุ่มอีคอมเมิร์ซ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มียอดการเติบโตสูงสุดในการลงโฆษณา ได้แก่ องค์กรภาครัฐและพลังงาน ตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
ด้านนายณธกฤต กาญจนมัณฑนา หัวหน้าฝ่ายการพาณิชย์ คอนเทนต์ และมีเดีย ย้ำว่า LINE กำลังจับมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ 2 เจ้าในวงการโฆษณานอกบ้านและธุรกิจขนส่งของไทยคือ VGI และ BMN เพื่อเข้าถึงผู้เดินทางรถไฟฟ้า BTS และ MRT ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะร่วมมือกับ Nielsen ประเทศไทย บริษัทวิจัยการตลาดเพื่อพัฒนาระบบวัดเรตติ้งสำหรับช่วยให้แบรนด์หรือนักการตลาดสามารถวางแผนการลงโฆษณาบนแพลตฟอร์ม LINE ให้เหมาะสมกับงบประมาณ
ทั้งหมดนี้ตอกย้ำว่า LINE มีวิสัยทัศน์ขยายธุรกิจโฆษณาคอนเทนต์อย่างจริงจัง สอดคล้องกับคำกล่าวของนายกณพที่ระบุว่า LINE ยังไม่มองรูปแบบธุรกิจแบบสมัครสมาชิกในขณะนี้ ต่างจากคู่แข่งที่เปิดให้ผู้ชมเลือกได้ว่าจะเสียค่าบริการเพื่อแลกกับการไม่ต้องชมโฆษณา
“เรายังเน้นการเปิดให้ดูฟรีและมีโฆษณา เชื่อว่าจะตอบโจทย์คนไทย และอาเซียนได้มากกว่าแน่ๆ” กณพทิ้งท้าย.