มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ ประเทศไทย ประกวดคลิปสั้นหนุนใช้ถุงยางอนามัย พบส่วนใหญ่เน้นไม่ใช่เรื่องน่าอาย ผู้หญิงก็พกเพื่อรับผิดชอบชีวิตคู่ร่วมกัน ด้านแพทย์เผยวัยรุ่นใช้ถุงยางฯ ต่ำลง ทำโรคติดต่อพุ่ง ทั้งหนองใน ซิฟิลิส แถมท้องก่อนวัย 190 คนต่อวันไม่นับทำแท้ง วอนภาคธุรกิจทำซีเอสอาร์เหตุยังไม่เพียงพอความต้องการ
นายกฤษสยาม อารยะวงศ์ไชย ผู้จัดการมูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ ประเทศไทย (Aids Healthcare foundation หรือ AHF) จัดงานมอบรางวัลเยาวชนประกวดคลิปวีดิโอสั้นเพื่อรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย ให้สอดคล้องกับเทศกาลวาเลนไทน์ ในชื่อโครงการ “สวมโลกใบใหม่ให้ condom” เพื่อสอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัย พ.ศ. 2563-2573 โดยมีเป้าหมายคือ ไม่มีผู้ติดเชื้อหน้าใหม่อีกในปี พ.ศ.2573 โดยกลยุทธ์สำคัญคือลดการตีตราเยาวชนที่พกถุงยางอนามัย โดยจัดอบรมเยาวชนรวม 42 ทีมเพื่อผลิตคลิปวีดิโอสนับสนุนการใช้ถุงยางอนามัย
ทั้งนี้ ผลการประกวดคลิปวีดีโอสั้น "สวมโลกใบใหม่ให้ Condom" รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม UNIIX STUDIO รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีมลูกชิ้นหมูปิ้งน้ำจิ้มรสเด็ด รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม RUSTIC STUDIO และรางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ ทีม UNUM ทีมโกทูไกล และทีมเที่ยงคืนฉันออกมาคอยเธอ ลั้ล ลัล ลาาา ซึ่งวีดีโอคลิปดังกล่าวจะเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ ของสื่อที่เป็นภาคีต่อไป
สำหรับคลิปวีดิโอของผู้เข้าประกวดมีความหลากหลาย และหลายคลิปใช้ตัวแสดงเป็นผู้หญิง ชี้ให้เห็นว่าการที่ผู้หญิงพกถุงยางอนามัยไม่ใช่เรื่องน่าอาย บางคลิปแสดงให้เห็นว่าฝ่ายชายต้องรู้ขนาดอวัยวะเพศตัวเอง เพื่อซื้อถุงยางอนามัยได้เหมาะสม หลายคลิปสื่อสารให้เห็นว่าผู้ปกครองต้องเข้าใจเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ ควรยอมรับและส่งเสริมให้บุตรหลานป้องกัน รวมถึงคู่สมรสที่แต่งงานแล้วเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก โดยภาพรวมคือแต่ละคลิปต้องการสื่อให้เห็นว่าการใช้ถุงยางอนามัยจะเป็นการรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
นอกจากนี้ ในงานยังมีการออกแบบแพคเกจกล่องใส่ถุงยางอนามัยลวดลายต่างๆ เพื่อลดความอายในการพกถุงยางอนามัย โดยจะจัดแสดงภาพถึงวันที่ 23 ก.พ. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน
- พบคนไทยต้องการถุงยางอนามัยพุ่งปีละ 105 ล้านชิ้น แต่สนับสนุนได้แค่ 70 ล้านชิ้น
ด้าน พ.ญ.มณฑิณี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากคลิปวีดิโอที่เยาวชนส่งเข้าประกวด มีหลายคลิปที่สะท้อนภาพของผู้หญิงพกถุงยางอนามัย เป็นการปรับภาพลักษณ์ว่าถุงยางอนามัยไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ชาย แต่เป็นการรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่ไหนก็ตาม ยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข คือ ต้องการใช้ให้กับประชาชนทั่วไปไม่ว่าเพศใดก็ตาม
ที่สำคัญ การส่งเสริมการใช้ในประชาชนทั่วไป การเข้าถึงถุงยางอนามัยให้ราคาเหมาะกับทุกกลุ่มประชากร ซึ่งปัจจุบันภาครัฐ เอ็นจีโอก็สนับสนุนแต่ไม่เพียงพอ เพราะกลุ่มประชากรยังมีช่องว่างที่ยังต้องเข้าถึงถุงยางอนามัย จากการสำรวจพบว่าไทยมีความต้องการถุงยางอนามัย 105 ล้านชิ้นต่อปี แต่ที่ได้จากภาคต่างๆ รวมถึงภาคีต่างชาติ สนับสนุนตกอยู่ที่ 70 ล้านชิ้นต่อปี อยากให้ภาคเอกชน ภาคธุรกิจทำเรื่องซีเอสอาร์เรื่องนี้ด้วย
- พบไม่ใช้ถุงยางอนามัย "หนองใน" พุ่ง "ซิฟิลิส" เพียบ 14 คนต่อวัน
พ.ญ.มณฑิณี เปิดเผยว่า ปัจจุบันในประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 5-6 พันราย ภายใน 10 ปีจะต้องยุติให้ได้น้อยกว่า 1,000 รายต่อปี แต่พบว่ากลุ่มประชากรที่การณรงค์เข้าถึงยากคือ กลุ่มชายรักชาย กลุ่มค้าประเวณี กลุ่มสาวข้ามเพศ กลุ่มผู้ต้องขัง กระทรวงสาธารณสุขต้องมีเครือข่ายรณรงค์ช่วยเหลือเข้าถึงกลุ่มนี้ และต้องรณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติ ให้เป็นวัสดุที่คุ้นชินกับการนำไปไหนมาไหน
ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราใช้ถุงยางอนามัยต่ำลง และเมื่อสำรวจวัยรุ่นทุกคนคาดว่าใช้ถุงยางอนามัยแค่ 45% ทำให้เกิดแนวโน้มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำคัญเพิ่มขึ้น 5 เท่า นับตั้งแต่ปี 2558 มากที่สุดคือหนองใน ติดเพิ่มขึ้น 69.7% รองลงมาคือซิฟิลิส 124 ต่อ 100,000 คน หรือ 14 คนต่อวัน อีกทั้งยังเกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอีก 35% คิดเป็น 190 คนต่อวัน หรือ 3 คนต่อจังหวัด โดยไม่นับการทำแท้ง
- ชี้แนวคิดคนกินยาต้าน "เซ็กซ์สดไม่ใส่ถุง" มีโอกาส "เชื้อดื้อยา" ย้ำโรคอื่นเพร็ปก็ป้องกันไม่ได้
ส่วนกระแสคนบางกลุ่ม ที่มีการรณรงค์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่รับยาต้านไวรัสหรือเป๊ป (PEP) จนไม่แสดงอาการ หรือ U=U นั้น พ.ญ.มณฑิณี เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังถือเป็นงานวิจัยที่ใช้กับกลุ่มที่ไม่เปลี่ยนคู่นอน ตราบใดที่ไม่มียารักษาเอชไอวีให้หายขาด ก็ต้องรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยต่อไป แม้จะเป็นการแสดงผล U=U แต่ถ้าเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง ก็มีโอกาสเกิดการแลกเชื้อและเกิดเชื้อดื้อยา
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข มองเรื่องของยาที่ใช้ทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ หรือพฤติกรรมเสี่ยงสัมผัสเชื้อหรือเพร็ป (PrEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งการวิจัยจะใช้สามกลุ่ม คือ กลุ่มชายรักชาย กลุ่มคู่รักผลเลือดต่างที่คนหนึ่งติดเชื้อ อีกคนหนึ่งไม่ติดเชื้อ และกลุ่มใช้ยาเสพติด แต่ในผู้หญิงยังไม่มีการรับรอง เพราะการวิจัยจะเลือกวิจัยจากกลุ่มที่มีโอกาสในการติดเชื้อเอชไอวีสูง อย่างไรก็ต้องใช้ยาเพร็ปร่วมกับถุงยางอนามัย
เมื่อถามถึงแนวคิดเรื่องการใช้ยาเพร็ป 2 เม็ดก่อนการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 ชั่วโมง และรับยาต่อจากนั้นอีก 1 เม็ดใน 24 ชั่วโมง และรับต่ออีก 1 เม็ดใน 24 ชั่วโมงนั้น พ.ญ.มณฑิณี ยืนยันว่า นโยบายของภาครัฐเห็นชอบเรื่องการใช้ยาเพร็ปปกติแบบกินทุกวัน กำลังผลักดันให้เข้าถึงในหลายๆ พื้นที่ โดยอบรมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ให้อบรมผู้บริโภครับยาให้ถูกต้อง ซึ่งต้องกินอย่างน้อย 7 วันก่อนมีเพศสัมพันธ์ และต้องกินต่อเนื่อง 3 เดือนเต็ม
"ยืนยันว่ายาไม่ได้ออกแบบให้ไม่ใช้ถุงยางอนามัย เพราะมันมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นที่ยาเพร็ปป้องกันไม่ได้" พ.ญ.มณฑิณี ระบุ