xs
xsm
sm
md
lg

LINE ลุย “ละคร” !?! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กณพ ศุภมานพ
ฟังไม่ผิด ไลน์หรือ LINE แอปพลิเคชันที่คนไทยนิยมใช้แชตกันเกินครึ่งประเทศ กำลังลุยสร้างละครซีรีส์ร้อนแรงแบบที่หาดูได้ยากบนฟรีทีวีทั่วไป หนึ่งในผู้สร้างยืนยันว่าละครบนไลน์จะแรงได้เต็มที่แบบไม่ต้องเกรงใจใคร ขณะที่บางเรื่องเป็น LGTB หรือละครชายรักชาย และบางเรื่องใช้คำว่า "ไม่เซ็นเซอร์" เป็นจุดขาย

ที่มาของการตัดสินใจครั้งนี้มาจากความทะเยอทะยานของไลน์ เพื่อจะได้เป็นแอปพลิเคชันที่ผู้คนเลือกเปิดใช้งานตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงนอนหลับ ที่ผ่านมา ไลน์ใช้วิธีขยายบริการจากการแชตรับส่งข้อความ มาสู่บริการเรียกรถ สั่งอาหาร รับชำระเงิน และอีกหลายบริการที่ช่วยให้ชาวดิจิทัลใช้ชีวิตง่ายขึ้น แต่อีกขา ไลน์ก็ต้องดึงผู้คนให้เข้ามาผูกติดกับไลน์ให้เหนียวแน่นขึ้น ขานี้เองที่ไลน์เลือกใช้คอนเทนต์เป็นตัวดึงดูด

คอนเทนต์ที่ไลน์ใช้เป็นหัวหอกปีนี้ เพื่อดึงมวลชนให้อยู่กับแพลตฟอร์มไลน์คือข่าวและรายการความบันเทิง ทำให้ตำแหน่งอาวุธหนักของไลน์อยู่ที่ซีรีส์บนไลน์ทีวี (LINE TV) และสาระหลากรสบนไลน์ทูเดย์ (LINE TODAY)


กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ เล่าว่าจุดแข็งที่ทำให้ไลน์ทูเดย์แข็งแกร่งจนมีการเปิดอ่านข่าว 1 พันล้านครั้งต่อ 1 เดือน คิดเป็น 11,700 ล้านครั้งต่อปี คือเนื้อหากลุ่มสีเสื้อมงคล, ดวงวันนี้, และเคล็ดลับที่บอกว่าควรก้าวเท้าไหนออกจากบ้าน ความนิยมนี้ทำให้ไลน์ทูเดย์ไม่เน้นการเป็นแหล่งรวมข่าว แต่จะเป็นแหล่งรวมข้อมูลข่าวสารที่เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคน

ส่วนไลน์ทีวี วันนี้ขยับจากการเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์ที่เน้นการฉายซ้ำหรือรีรัน แต่ไลน์ทีวีเริ่มหันมาให้บริการชมบนจอใหญ่ เปิดให้ผู้ชมเพลินผ่านอุปกรณ์ต่อพ่วงทีวีเช่นโครมคาสต์ แอนดรอยด์ทีวี แอปเปิลทีวี และเริ่มติดตั้งไลน์ทีวีในโทรทัศน์จากโรงงานเช่นแบรนด์ทีซีแอลและโซนี่

ประเด็นไลน์ทีวีนั้นน่าสนใจมาก เพราะไลน์ประกาศลงทุนผลิตเนื้อหาร่วมกับพาร์ทเนอร์ไทยในรูปแบบละครซีรีส์เต็มที่ ผลจากที่ผ่านมาซีรีส์ต้นฉบับหรือออริจินัลคอนเทนต์เหล่านี้ทำให้คนไทยดูไลน์ทีวีเพิ่มขึ้น 32% ตามสถิติเทียบระหว่างปี 2018 และ 2019

***ชูละครรีเมก-ไม่เซ็นเซอร์-ชายรักชาย

1 ใน 6 พันธมิตรที่ไลน์ร่วมสร้างซีรีส์ต้นฉบับด้วยคือเจเอสแอล เป็นการร่วมงานปีที่ 3 ที่ดึงเอาแพนเค้ก-เขมนิจมาแสดงได้แม้จะติดสัญญากับทรู ปีนี้เจแอสแอลเลือกรีเมกซีรีส์เรื่อง "Mother เรียกฉันว่า...แม่" บทบาทแม่หลายแง่มุมที่เคยเป็นกระแสในญี่ปุ่น เกาหลี และตุรกีมาก่อน ซึ่งทีมผู้กำกับระบุว่าพร้อมปรับบทเพื่อไท-อินโฆษณาสินค้าได้เต็มที่

ซีรีส์เรื่องถัดมาคือ "เป็นต่อ Uncensored สํามะเล เพลย์บอย" ซิทคอมของช่องวัน 31 ที่เน้นกลุ่มผู้ชมชาย ปีนี้ทีมผู้กำกับเป็นต่อเลือกทำงานกับสำนักกระต่ายสาว "เพลย์บอย" ดึงสาวสวยเจริญหูเจริญตามาถ่ายทำเป็นเวอร์ชันไม่เซ็นเซอร์ เพื่อฉลองความจริงที่ว่า เป็นต่อคือซีรีส์ที่ผู้ชายไทยนิยมดูมากที่สุดบนไลน์ทีวี


นอกจากกลุ่มครอบครัวและผู้ชาย ไลน์ยังเจาะกลุ่มคนชอบนิยายวายชายรักชาย ด้วยการดึงพันธมิตรอย่างนาดาว มาพัฒนาซีรีส์ต้นฉบับที่ใช้ชื่อเรื่องอย่างไม่เป็นทางการว่า "BKPP The Series" จุดเด่นคือเป็นการต่อยอดจาก "รักฉุดใจ นายฉุกเฉิน" และเป็นครั้งแรกที่นาดาวทำซีรีส์ต่อจากกระแสคู่จิ้น โดยซีรีส์นี้คือเนื้อหา LGBT ที่สร้างตัวละครใหม่ให้เป็นซีรีส์วาย เพื่อเป็น "เลิฟสตอรี่ของนาดาว" เรื่องหลักในช่วงกลางปีนี้

ไม่เพียง LGBT ไลน์จับมือพันธมิตรผลิตซีรีส์ที่เน้นชีวิตคนทำงานในโลกยุคใหม่ เช่น เรื่อง "วิน 21 เด็ดใจเธอ" อาชีพวินมอเตอร์ไซค์ และเรื่อง "The Graduate" ซึ่งจะตีแผ่ถ่ายทอดชีวิตคนทำงานบิวตี้บล็อกเกอร์ นักเขียนออนไลน์ สตาร์ทอัป และไลฟ์โค้ชชิ่งแบบจิกกัดหลายรส

ความเด็ดดวงของซีรีส์ต้นฉบับไลน์ทีวีคือเรื่องที่ 6 "The Secret เกมรัก เกมลับ" จากบริษัทเชนจ์ 2561 ของฉอด-สายทิพย์ ความร้อนแรงคือการรวม 5 นางร้ายคลับฟรายเดย์มาร่วมแย่งผู้ชายคนเดียวกัน ซึ่งทีมสร้างยืนยันว่าเป็นโครงเรื่องจริง จากผู้ชายที่คบผู้หญิงรวมกัน 5 คนได้โดยไม่มีใครรู้

***ไปได้สุดมากกว่าทีวี

ผู้สร้างซีรีส์ The Secret ยืนยันว่าการสร้างซีรีส์บนไลน์ทีวี สามารถ "ไปได้สุดมากกว่าทีวี" เพราะปกติ เชนจ์ 2561 สร้างซีรีส์คลับฟรายเดย์เพื่อฉายในช่องทีวีดิจิทัลที่มีการควบคุมการตบ การด่าทอ และการชิงรักหักสวาทของนางร้ายอย่างจริงจังกว่าแพลตฟอร์มทีวีออนดีมานด์อย่างไลน์ทีวี

ผู้บริหารไลน์มองประเด็นนี้เป็นจุดแข็ง ยอมรับว่าช่องทีวีดิจิทัลมีกรอบที่ชัดเจน แต่ยืนยันว่าบนไลน์ทีวี ทุกคอนเทนต์จะมีการตรวจสอบ จะคัดสรรให้คลิปคอนเทนต์ต่างๆ และดูแลไม่ให้เนื้อหารุนแรงเกินไป

"ความยืดหยุ่นจะมากกว่าอยู่แล้ว แต่เราจะไม่เปิดว่าทำอะไรก็ได้ เชื่อว่าจะเป็นจุดแข็งที่แบรนด์และโฆษณาจะเห็น แพลตฟอร์มไลน์จะเน้นเรื่องอิสระ ทุกชิ้นอยู่ภายใต้กฎหมาย และถูกควบคุมใกล้ชิด ที่ผ่านมาไลน์ทีวีไม่เคยมีข่าวเรื่องถูกตรวจสอบ ดังนั้นแบรนด์ลงโฆษณาแล้วสบายใจได้"


แม้จะเปิดช่องรับโฆษณาบนไลน์ทีวีเต็มที่ แต่ไลน์เผยว่ารายได้หลัก 3 ส่วน มาจากส่วนธุรกิจคือบัญชีธุรกิจ รองลงมาเป็นโฆษณาดิสเพลย์แอด และธุรกิจสติกเกอร์ โดยมูลค่าการลงทุนปีนี้ขยายตัวจากปีที่แล้ว ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนนโยบายจากปีที่แล้วที่มีเกมโชว์ วาไรตี้ มาเป็นการเน้นซีรีส์และซิทคอมเป็นหลัก

"ปีนี้เราคัดเลือกลงทุนอย่างละเอียดมากขึ้น จำนวนเรื่องลดลงจากที่เราทำมา 5 ปี 72 รายการ พบว่าซีรีส์กับซิทคอมยอดชมดีที่สุด ดูเมื่อไหร่ก็ได้ สัดส่วนการชมสูงมากจริงๆ ส่วนใหญ่บทจะยังไม่เสร็จเมื่อเริ่มเผยแพร่ ตรงนี้เป็นข้อดีของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ปรับเปลี่ยนบทได้ตลอด ทำให้เมื่อเห็นเทรนด์ หรือมีสปอนเซอร์ ก็สามารถไท-อินสินค้าได้"

จุดยืนของไลน์ทีวีวันนี้ คือการเป็นเครื่องจักรสำคัญในการดึงคอนเทนต์ไทยจากอนาล็อกให้มาเป็นดิจิทัล โดยที่ผู้สร้างไทยจะไม่ต้องลงทุนแพลตฟอร์ม สำหรับปีนี้ ไลน์วางเป้าหมายในตลาดไทย ให้ตอบโจทย์คนเมืองในหัวเมืองทั่วประเทศ โดยจะเน้นเจาะวัยรุ่นและกลุ่มผู้ชายให้มากขึ้นด้วยซีรีส์ รายการกีฬา และการจับมือผู้ผลิตสมาร์ททีวีและสมาร์ทโฟน โดยในตลาดต่างประเทศ ไลน์ทีวีจะพร้อมบุกอาเซียนภายในไตรมาส 2 เพื่อเป็นเบอร์ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใน 3 ปี

สำหรับยุคนี้ที่ผู้ชมมีให้เลือกทั้งยูทูบพรีเมียม (YouTube Premuim) เฟซบุ๊ก ว็อตช์ (Facebook Watch) เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) อะเมซอน ไพร์ม (Amazon Prime) เอชบีโอโก (HBO Go) และอีกหลายค่ายทีวีออนดีมานด์ ผู้บริหารยอมรับว่าการแข่งขันในตลาดรุนแรงขึ้น แต่ไลน์ทีวียังได้เปรียบมากเรื่องจำนวนผู้ใช้งาน

"วันนี้ไม่มีใครเข้าถึงผู้ใช้ไทยได้มากเท่าไลน์ทีวี ไลน์ทูเดย์มีฐานผู้ใช้ 36 ล้านคนขณะที่ไลน์ทีวีมี 40 ล้านคน ถือว่าเหนียวแน่นและช่วยส่งเสริม เราโปรโมทคอนเทนต์เยอะมาก คอนเทนต์พาร์ทเนอร์ได้รับการโปรโมทให้ผู้ใช้กว่า 45 ล้านคน ไม่มีใครทำแบบนี้ได้"

ผู้บริหารยอมรับว่าสิ่งที่ยังขาดไปคือฐานผู้ชมบางกลุ่ม เนื่องจากผู้ชมไลน์ทีวีกว่า 60-70% เป็นผู้หญิง ทำให้ไลน์ต้องการสร้างเนื้อหาเพื่อดึงดูดผู้ชาย จึงมีการเพิ่มรายการกีฬา อีสปอร์ต แอนิเมชันเช่น โคนัน วันพีช และล่าสุดคือไฮไลท์ของยูฟ่าแชมเปียนลีก ซึ่งเป็นปีแรกที่ไลน์ทีวีขยายไปเนื้อหาพรีเมียม


ภาพรวมธุรกิจโฆษณาปีนี้ ไลน์มองว่าจะได้รับเงินสะพัดสูงเช่นเดิมเพราะเน้นเจาะแบรนด์ใหญ่คอร์ปอเรทเป็นหลัก ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจไทยที่ GDP ตกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งมีผลกับกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ไลน์ยังได้รับอานิสงส์จากตลาดอีคอมเมิร์ซที่ขยายตัว เพราะประชาชนบางส่วนหันมาจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เป็นอาชีพที่ 2-3 ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโต

ความท้าทายของไลน์ทีวีในตลาดอาเซียน คือตลาดที่บุกยากที่สุดอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรหนาแน่นและมีบริการท้องถิ่นอยู่บ้างแล้ว จุดนี้ผู้บริหารยอมรับว่ามองเห็นโอกาสในตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้ใช้ไลน์มากเป็นอันดับ 4 รองจากญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย แต่ยังท้าทายเรื่องคอนเทนต์ โดยขณะนี้ ไลน์ทีวีสามารถเปิดตลาดสิงคโปร์ และบรูไนแล้ว

เชื่อขนมกินได้ว่า ไลน์อาจจะลุยละครแดนอิเหนาบ้างเหมือนกัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น