จู๊กซ์ (JOOX) ประกาศปีนี้ลุย AI เต็มที่หลังทดสอบปลายปีที่แล้ว มั่นใจตลาดไทยไม่อิ่มตัวบนโอกาสบุกหัวเมืองและกลุ่มผู้ใหญ่อายุเกิน 35 ปี วางเป้าดันยอดสมาชิก VIP ผู้ชำระค่าบริการกับ JOOX ให้โตเท่าตัวผ่านการลงทุน 3 ด้านคือพัฒนานวัตกรรม ออริจินัลคอนเทนท์ และขยายคอมมูนิตี้ การันตีเป็นแพลตฟอร์มมิวสิคสตรีมมิงเบอร์ 1 ของไทยด้วยยอดการเล่นเพลงบน JOOX ในไทยทะลุ 6,000 ล้านครั้ง จากยอดเล่นเพลงรวมทั่วโลก 15,000 ล้านครั้ง
นายกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการมิวสิคสตรีมมิงจู๊กซ์ (JOOX) กล่าวถึง JOOX ที่กำลังก้าวขึ้นสู่ปีที่ 5 ว่าจะโฟกัสที่การมอบประสบการณ์มากกว่าการฟังเพลง โดยปีนี้ JOOX จะเน้นเรื่องการนำเอาข้อมูลการฟังเพลงของผู้ใช้ มาวิเคราะห์ว่าผู้ฟังแต่ละคนต้องการฟังเพลงแนวไหน เพื่อให้ระบบ AI เรียนรู้พฤติกรรมแล้วแนะนำเพลงให้ดีขึ้น
"AI จะมีบทบาทมากขึ้นบน JOOX ในปีนี้ จากเดิมเราแนะนำเพลงผ่าน Top Chart รายการเพลงฮิต ต่อไปนี้เราจะมี AI มาช่วยงานผู้คัดเลือกเพลง เพิ่มการเรียนรู้ข้อมูลอื่นจากเทนเซ็นตคลาวด์ เป็นการเริ่มระบบ AI เต็มตัวหลังจากเริ่มทดสอบเมื่อปลายปีที่แล้ว"
การนำระบบ AI มาวิเคราะห์ผู้ใช้บน JOOX นั้นถือเป็นประเด็นสำคัญในการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างสปอติฟาย (Spotify) ยูทูบพรีเมียม (YouTube Premium) แอปเปิลมิวสิก (Apple Music) และอีกหลายคู่แข่งที่ให้บริการสตรีมมิงเพลงในไทยขณะนี้ เนื่องจาก AI คืออาวุธสำคัญที่ช่วยให้ผู้ฟังได้พบเพลงใหม่ที่โดนใจ ท่ามกลางเพลงหลายร้อยพันล้านเพลงในบริการ และคู่แข่งตัวเป้งต่างมี AI แข็งแกร่งให้ผู้ใช้ได้พบเพลงใหม่ทุกวันในช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมต่างกัน เช่น เพลงสำหรับฟังเวลาขับรถ เพลงสำหรับช่วงออกกำลังกาย และเพลงสำหรับผ่อนคลายที่บ้าน
ความท้าทายใหญ่ที่สุดในปีนี้ ผู้บริหาร JOOX มองว่าอยู่ที่การไปหากลุ่มตลาดที่ไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่และกลุ่มนอกกรุงเทพมหานคร ทำให้ JOOX โฟกัสกับการสร้างออริจินัลคอนเทนท์ที่จะสามารถดึงผู้ฟังกลุ่มอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ร่วมกับการสร้างคอมมูนิตี้และเพิ่มการรับรู้ให้กับออนไลน์แพลตฟอร์มในเขตหัวเมืองนอก กทม. สานต่อจากกลยุทธ์ปีที่ผ่านมาซึ่งทำให้ JOOX มีสัดส่วนผู้ใช้งานในภาคใต้เพิ่มขึ้นเป็น 12% จากที่เคยมี 6% โดนใน กทม. สัดส่วนผู้ใช้ JOOX คือ 55% นำหน้าจากภาคกลาง 10% ภาคตะวันออก 8% ตะวันตก 2% ตะวันออกเฉียงเหนือ 8% และภาคเหนือ 5%
"ความท้าทายนี้ทำให้เราต้องไปหาคนรุ่นอื่น และคนตามหัวเมือง เราทำแคมปัสทัวร์ 100% นอกพื้นที่ กทม." กฤตธีกล่าว "ตลาดไทยยังไม่อิ่มตัว ดูได้จากการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน JOOX ที่ยังเป็น Top 10 ยังมีคนดวน์โหลดเรื่อยๆ ยังมีตลาดใหม่ที่พร้อมโตคือกลุ่มอายุ 35 ขึ้นไป เราจึงโฟกัสที่การรีเมกเพลง บวกกับพอตคาสต์ เชื่อว่าจะเพิ่มได้อีก เพราะตลาดโลกเป็นไปทางนี้"
ปีที่ผ่านมา JOOX ติดอันดับ 9 ในตารางแอปพลิเคชันที่มียอดการดาวน์โหลดสูงสุด และอันดับ 10 ในตารางแอปยอดนิยมที่ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายบนแอปมากที่สุดในไทย ขณะที่ออริจินัลคอนเทนท์ที่ JOOX วางเดิมพันไว้ในปีนี้คือการนำเพลงไทยยุคเก่าช่วงปี 90 มาทำใหม่ โดยเริ่มชิมลางปล่อยเพลงรีเมกตั้งแต่ปลายปี 62 คาดว่าจะเผยแพร่อีก 5-10 เพลงในปีนี้ ขณะที่พอตคาสต์ ผู้บริหาร JOOX มองว่าจะใช้เพื่อดึงให้ผู้ใช้กลุ่มวัย 35 ปีขึ้นไปหันมาใช้เวลากับ JOOX มากกว่าการฟังวิทยุ
นอกจากความท้าทายเรื่องขยายลูกค้ากลุ่มใหม่ JOOX ยอมรับว่าปี 63 ยังมีความท้าทายเรื่องการทำให้ผู้ใช้ที่บริการแบบฟรีเปลี่ยนมาเสียค่าบริการในรูปแบบ VIP มากขึ้น โดยเมื่อย้อนไปในปี 61 ผู้บริหาร JOOX เคยยอมรับว่ากลุ่ม VIP ในตลาดไทยมีไม่ถึง 10% ของผู้ใช้รวมราว 10 ล้านคนในประเทศไทย จุดนี้ผู้บริหารยอมรับว่ามีเป้าหมายผลักดันผู้ใช้กลุ่ม VIP ให้เติบโตเท่าตัวในปี 63
แม้จะมีสัดส่วนน้อย แต่ JOOX ระบุว่าสมาชิก VIP สร้างรายได้ 50% ของรายได้ JOOX ประเทศไทย โดยอีก 50% เป็นรายได้จากโฆษณาซึ่งสมาชิกฟังฟรี ต้องอดทนฟัง
สถิติล่าสุดปี 62 ที่ผ่านมา JOOX มียอดผู้ใช้ 290 ล้านรายใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า อินโดนิเซีย มาเลเซีย และฮ่องกง ฐานใหญ่ที่สุดอยู่ที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในกลุ่ม ขณะที่พม่าอัตราการเติบโตเร็วที่สุด มียอดการฟัง (Play Time) บนแพลลตฟอร์มรวมทั้งปี 15,000 ล้านครั้ง
ในจำนวน 15,000 ล้านครั้ง ราว 6,000 ล้านครั้งเป็นยอดการเล่นเพลงในไทย ประเภทเพลงที่เล่นในไทยมีทั้งเพลงพิเศษหรือเอ็กซ์คลูซีฟซึ่งถูกเล่นมากกว่า 284 ล้านครั้งในปี 2019 ยังมีเนื้อหาที่เป็นไลฟ์สดเพลง K Pop ราว 6 ล้านครั้ง และเพลงคาราโอเกะมีผู้ฟังเกิน 2 ล้านยูสเซอร์
ตลอดปี 62 แพลตฟอร์ม JOOX มีเพลงใหม่ในระบบ 950 เพลงที่เพิ่มเข้ามา มีการทำเพลงเฉพาะหรือเอ็กซ์คลูซีฟ 9 ศิลปิน 20 เพลง ขณะที่เพลงพันธมิตรซึ่งมาเปิดตัวให้ฟังก่อนใครบน JOOX ราว 1-2 สัปดาห์ มีจำนวน 40 ศิลปิน รวม 46 เพลง
JOOX ยืนยันว่าตัวเองเป็นกลไกสำคัญให้วงการเพลงไทยอยู่รอด ตามเทรนด์โลกที่พบว่าบริการสตรีมมิงเพลงเป็นสัดส่วนหลักของเงินสะพัดในอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลก ข้อมูลจาก IFPI Global Music Report 2562 ระบุว่า รายได้ของอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 19,100 ล้านเหรียญ เติบโตขึ้น 9.7% จากปีก่อนหน้า ผลจากรายได้ในตลาดเพลงดิจิทัลทั่วโลกที่เติบโตกว่า 21% มีมูลค่าตลาดสูงเกิน 11,200 ล้านเหรียญ คิดเป็น 58.9% ของรายได้ในอุตสาหกรรมเพลงทั้งหมด
ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะการสำรวจพบว่าตลาดมิวสิกสตรีมมิงเติบโตขึ้นราว 34% ส่งผลให้มีมูลค่าตลาด 8,900 ล้านเหรียญ สำหรับมิวสิกสตรีมมิงที่มีการเก็บค่าบริการ เติบโตถึง 32.9% ในกลุ่มผู้ใช้อายุ 35 ปีขึ้นไป.