xs
xsm
sm
md
lg

เช็คพอยท์เผย “กัมพูชา” แชมป์ประเทศถูกตั้งเป้าโจมตีดิจิทัลมากที่สุดในอาเซียน ไทยนั่งอันดับ 8

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อีแวน ดูมาส
เช็คพอยท์ เผยประเทศที่เป็นเป้าหมายโจมตีดิจิทัลมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือกัมพูชา รองลงมาเป็นสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ชี้แม้ไทยจะไม่ติด Top 5 แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เตือนภัยโจมตีอุปกรณ์โมบายล์มาแรงในภาวะที่รัฐบาลไทยหนุนโครงการชิม ช็อป ใช้ มั่นใจปีนี้ตลาดซีเคียวริตี้องค์กรไทยลงทุนคึกคัก เตรียมรุกกลุ่ม SMB ด้านสุขภาพและการศึกษามากขึ้นจากเดิมที่คร่ำหวอดในตลาดองค์กรใหญ่และภาครัฐ บนเป้าหมายเติบโตเป็นเลข 2 หลัก

นายอีแวน ดูมาส ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เช็คพอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ จำกัด กล่าวในงานประชุมประจำปี CPX 360 Bangkok ถึงเหตุที่ทำให้กัมพูชาเป็นประเทศเป้าหมายที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์มากที่สุดในอาเซียนช่วงปี 62 ว่าเพราะแฮกเกอร์มองกัมพูชาเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดูจู่โจมได้ง่าย ขณะที่สิงคโปร์เป็นเป้าหมายอันดับ 2 เพราะความเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมข้อมูลประจำภูมิภาค รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียที่มีประชากรหนาแน่น โดยไทยอยู่ที่อันดับ 8 ของตารางอาเซียน

“แม้ว่าไทยจะไม่ติด Top 5 แต่ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนได้ในอนาคต ผลการสำรวจนี้รวมทั้งการโจมตีในฝั่งธุรกิจและคอนซูเมอร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการโจมตีฝั่งธุรกิจก็ส่งผลกระทบถึงคอนซูเมอร์ที่เป็นลูกค้าด้วย”

บรรยากาศงาน CPX 360 Bangkok
อีวานอธิบายเพิ่มว่าภัยไซเบอร์มาแรงอันดับ 1 ในช่วงปีที่ผ่านมาคือภัยโจมตีอุปกรณ์พกพาหรือโมบาย สำหรับประเทศไทย โครงการที่รัฐบาลหนุนอย่างชิมช็อปใช้ ที่กระตุ้นให้คนไทยใช้งานกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงให้ภัยนี้เติบโตขึ้น นอกจากนี้คือภัยมัลแวร์ขุดบิตคอยน์ (Crytominer) ภัยบ็อตเน็ต และภัยแรนซัมแวร์เรียกค่าไถ่

“แรนซัมแวร์อยู่อันดับท้ายสุด แต่ไม่หายไป มีการยกระดับด้วยการสร้างแรนซัมแวร์แบบสั่งตัดมาโจมตีเฉพาะบริษัทหรือเฉพาะคนมากขึ้น” อีแวนอธิบาย “จุดสังเกตอีกจุดคือเทรนด์ภัยคุกคามทั่วโลกวันนี้เหมือนกันหมดทุกภูมิภาคหลัก ทั้งในเอเชีย สหรัฐฯ หรือระดับโลก เป็นเพราะแฮกเกอร์ทำงานเป็นทีม ทำงานในรูปบริษัทจากทุกที่ทุกเวลาแบบมืออาชีพ”

ในภาพรวม รายงานสรุปความปลอดภัยทางไซเบอร์ปี 2563 ของเช็คพอยท์ระบุว่าเช็คพอยท์ตรวจพบมัลแวร์ขุดบิตคอยน์ (Crytominer) อาวะลาดจน 38% ของบริษัททั่วโลกได้รับผลกระทบในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 37% ในปี 61 ปัจจัยหนุนคือแฮกเกอร์มองว่าเป็นภัยความเสี่ยงต่ำและให้ค่าตอบแทนสูง แม้ว่าค่าเงินดิจิทัลจะแกว่งตัวขึ้นลงไม่แน่นอน

นอกจากนี้ บ็อตเน็ตยังขยายกองทัพเพิ่มขึ้นจน 28% ขององค์กรทั่วโลกเป็นเหยื่อบ็อตเน็ตอันตราย เพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 61 ขณะเดียวกัน แรมซัมแวร์หรือภัยเรียกค่าไถ่ข้อมูลยังเพิ่มจำนวนขึ้น 20%

อีแวน ดูมาส
ที่น่าสนใจคือการโจมตีอุปกรณ์เคลื่อนที่เริ่มลดลง การสำรวจพบว่าองค์กรทั่วโลก 27% ถูกโจมตีอุปกรณ์โมบายล์ในปี 62 ลดลงจาก 33% ในปี 61 แต่การโจมตีภัย Magecart หรือการนำรหัสที่เป็นอันตรายใส่ไว้ในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเพื่อขโมยข้อมูลการชำระเงินของลูกค้า พบว่ามีการขยายตัวในหลายร้อยเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ รวมถึงเครือโรงแรมขนาดใหญ่ ยักษ์ใหญ่ด้านการค้า ธุรกิจขนาดกลางและย่อมในทุกแพลตฟอร์ม

ที่ต้องขีดเส้นใต้และเพิ่มตัวหนา คือการโจมตีระบบคลาวด์ที่เพิ่มจำนวนขึ้น การสำรวจพบว่าวันนี้ 90% ขององค์กรล้วนใช้บริการคลาวด์ แต่กว่า 67% ยอมรับว่ายังขาดความสามารถในการรักษาความปลอดภัยหรือการกำหนดรูปแบบทรัพยากรบนคลาวด์ที่เหมาะสม

รายงานทั้งหมดนี้ เช็คพอยท์ระบุว่ารวบรวมมากหน่วยข่าวกรองเทรดคลาวด์ (ThreatCloud) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เพื่อตอบโจทย์องค์กรในการรักษาความปลอดภัยในปี 63 เช็คพอยท์จึงเปิดตัวโซลูชันใหม่ชื่อฟาสต์แทรคส์เน็ตเวิร์กซีเคียวริตี้ (Fast Track Networks Security) การันตีว่าเป็นโซลูชันใหม่ที่สามารถป้องกันได้แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

สำหรับปี 2020 เช็คพอยท์ชี้ว่าเป้าหมายของแฮกเกอร์วันนี้ยังคงเป็นเรื่องเงิน รองลงมาคือแฮกเพื่อให้ได้ข้อมูล สร้างความเสียหาย และเพื่ออิทธิพล โดยปี 2020 จะยังเป็นปีที่มนุษย์เป็นช่องโหว่หลักของการโจมตี คาดว่า 90% ของภัยมีจุดเริ่มจากการฟิชชิ่งหรือการล่อลวงทางอีเมล

Infinity Next จะเน้นการตอบโจทย์เทคโนโลยี AI และ ML
มุมมองธุรกิจของเช็คพอยท์สำหรับปีนี้ เช็คพอยท์จะโฟกัสที่การเปิดตัวระบบไฟร์วอลล์ที่ฉลาดขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มระบบซีเคียวริตี้สำหรับโมบายในรูปซอฟต์แวร์จิ๋วที่ติดตั้งในอุปกรณ์ สำหรับติดต่อกับระบบประมวลผลบนคลาวด์ เพื่อบอกว่างานใดหรือข้อมูลใดบ้างที่ปลอดภัยสำหรับการเปิดบนโมบายล์ วิธีนี้จะทำให้นาฬิกาอัจฉริยะ หรืออุปกรณ์ IoT จิ๋วอื่นๆรักษาความปลอดภัยได้ด้วย ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของเช็คพอยท์ในปีนี้

นางสาวยุวลักษณ์ แซ่งุ่ย ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เช็คพอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ จำกัด เผยว่าปีนี้เช็คพอยท์จะโฟกัสที่ลูกค้าองค์กรและภาครัฐที่มีอยู่เดิม ร่วมกับการขยายฐานสู่ลูกค้าใหม่ โดยจากที่เน้นกลุ่มธนาคาร เช็คพอยท์จะรุกตลาด SMB กลุ่มเฮลท์แคร์และการศึกษาที่เห็นแนวโน้มการลงทุนมากขึ้น เบื้องต้นวางเป้าหมายยอดขายเติบโตในปีนี้เป็นเลข 2 หลัก

“เราทราบดีว่าตอนนี้ไม่ใช่แค่คอร์เน็ตเวิร์กที่ต้องป้องกัน แต่ทุกอย่างที่ติดต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ จะมีโอกาสถูกโจมตีทั้งหมดทั้งกล้องวงจรปิด หรือเครือข่าย IoT”

หนึ่งในโซลูชันใหม่ที่เช็คพอยท์เพิ่งเปิดตัวในงาน CPX 360 คือชุดโซลูชัน Infinity Next และ Fast Tracks Network Security ที่ถูกการันตีว่าสามารถป้องกันภัยไซเบอร์ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน Infinity Next จะเน้นการตอบโจทย์เทคโนโลยี AI และ ML ขณะที่ Fast Tracks Network Security มาพร้อมเกตเวย์ใหม่ที่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 2 เท่า ขยายได้สูงสุด 1.6 Tera-bps แต่ใช้พลังงานครึ่งเดียวของอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยระดับสูง.


กำลังโหลดความคิดเห็น