"พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค" ยักษ์ใหญ่ไซเบอร์ซีเคียวริตี้สัญชาติอเมริกันชี้ภัยไซเบอร์ยุค 5G จะโจมตีได้เร็วและแรงกว่ายุค 4G หลายเท่า ผลจากกองทัพแอปพลิเคชันรูปแบบใหม่ที่จะแจ้งเกิดถี่ยิบเป็นดอกเห็ด และความเร็วแรงของทราฟิกยุค 5G ซึ่งนำโดดเมื่อเทียบกับ 4G ปัจจุบัน
ในขณะที่ภัยใหม่กำลังรอต่อคิว ภัยดั้งเดิมก็ยังเหนียวแน่นไม่ได้หายไปไหน การวิเคราะห์พบว่า 4 ภัยไซเบอร์ที่เป็นประเด็นร้อนปี 2562 จะยังระอุต่อไปในปี 2563 ซึ่งทุกอย่างจะเข้มข้นขึ้นจนหลายบริษัทต้องปรับตัวแบบรอบทิศเพื่อป้องกันตัวเอง
การปรับตัวนี้อาจจะทำให้เกิดสึนามิในวงการซีเคียวริตี้ทั่วโลก เพราะระบบซีเคียวริตี้แบบเดิมกำลังจะใช้การไม่ได้อีกต่อไป
5 เทรนด์ซีเคียวริตี้ยุค 5G
ก่อนจะมอง 5 เทรนด์ซีเคียวริตี้ยุค 5G "เควิน โอ แลรีย์" (Kevin O’Leary) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยระบบสารสนเทศ ประจำเอเชียแปซิฟิก บริษัท Palo Alto Networks มองว่าทิศทางซีเคียวริตี้โลกปี 62 จะยังส่งต่อถึงแนวโน้มในปี 63 หนึ่งในนั้นคือภัยแรกที่มากับอีเมลทางธุรกิจที่ยังคงเป็นภัยที่ต้องระวังอยู่ตลอดเวลา เห็นได้ชัดจากธนาคารที่ยังไม่หยุดแจ้งเตือนให้ลูกค้าอย่าหลงเชื่ออีเมลปลอม
นอกจากนี้ ภัยที่ 2ที่มากับ supply chain ก็ยังร้อนแรงไม่ลดองศาลง เพราะแม้องค์กรจะป้องกันตัวเองดีเยี่ยม แต่ก็จะยังมีช่องโหว่ถ้าคู่ค้าไม่การันตีตัวเองว่าระบบปลอดภัย ตัวอย่างเช่นธนาคารที่ต้องทำงานร่วมกับร้านค้า ซึ่งอาจตกที่นั่งลำบากในกรณีที่ร้านค้าไม่ปลอดภัย
ภัยที่ 3 ซึ่งจะแรงต่อจากปี 62 ถึงปี 63 คือข้อมูล ประเด็นร้อนเรื่องดาต้าจะถูกจับตามากขึ้นในปี 63 เพราะการออกกฏหมายในหลายประเทศ รวมถึงไทยที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ภัยที่ 4 คือคลาวด์ ระบบออนไลน์ที่เปิดให้พนักงานในองค์กรทำงานร่วมกันจากระยะไกลได้ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้คลาวด์ยังคงต้องเป็นเทรนต่อเนื่องไปอีกหลายปี
สำหรับปี 2563 ซึ่งจะเป็นปีที่หลายประเทศเปลี่ยนผ่านจาก 4G ไป 5G ผู้บริหารพาโล อัลโต เน็ตเวิร์คเชื่อว่าจะมีแอปพลิเคชันใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก เมื่อรวมกับความเร็วของ 4G และ 5G ที่ต่างกัน จะนำไปสู่ปัญหาใหญ่คือการโจมตีจะเกิดขึ้นรุนแรงและเร็วกว่า 4G ทั้งภัยสแปม การดักฟัง มัลแวร์ การขโมยข้อมูล และการโจมตีเพื่อหวังให้ระบบล่ม
นอกจาก 5G อีกเทรนด์ที่จะมาแรงในปี 63 คือเทรนด์ที่ 2 การขาดบุคลากร วันนี้องค์กรจะเริ่มรู้แล้วว่าไม่มี "ซูเปอร์แมน" ที่องค์กรจะสามารถจ้างสุดยอดพนักงาน 1 คนเพื่อทำงานได้ทุกอย่าง แต่องค์กรจะรู้ว่าควรมองหาเทคโนโลยีมาใช้ แล้วจึงหาบุคลากรมารองรับให้ได้ ซึ่งน่าจะเป็นหนทางที่ถูกต้องมากกว่า ในงานวิจัยล่าสุดพบว่าภูมิภาคเอเชียยังขาดบุคลากรที่มีทักษะไซเบอร์ซีเคียวริตี้ 2.14 ล้านคน
เรื่องนี้ผู้บริหารยอมรับว่าจริงๆแล้ว ปัญหาขาดแคลนบุคลากรยังต้องขึ้นอยู่กับความต้องการขององค์กร เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นคือไม่สำคัญว่าบุคลากรนั้นจะต้องเป็นใครหรือมีประสบการณ์โชกโชนเท่าใด แต่องค์กรจะค้นหาบุคลากรที่เรียนรู้ได้ โดยบุคคล 2 รูปแบบที่องค์กรจะต้องการคือ คนที่ใช้เทคโนโลยีเป็น และคนที่สามารถตัดสินใจได้ว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วจะต้องทำอะไรต่อไป
บุคลากรไม่ใช่ปัญหาเดียวในวงการซีเคียวริตี้ปี 63 แต่ยังมีเทรนด์ที่ 3 อุปกรณ์ IoT ที่เริ่มใช้งานมากขึ้น เพื่อให้องค์กรวิเคราะห์ข้อมูลได้มากขึ้นปัญหาคืออุปกรณ์ IoT เหล่านี้ยังมีซีเคียวริตี้ที่ไม่เข้มแข็ง กลายเป็นโจทย์ใหญ่ในองค์กรที่กำลังท้าทายว่าจะป้องกันเครือข่าย IoT อย่างไร
เทรนด์ที่ 4 คือกระบวนการเก็บข้อมูล ยกตัวอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ที่มีการเลิกใช้ระบบแลกบัตรประชาชนกับประชาสัมพันธ์เพื่อเดินทางเข้าอาคารสำนักงาน แต่จะใช้เบอร์โทรศัพท์หรือการยืนยันตัวแบบอื่นแทน จุดนี้เป็นประเด็นว่าองค์กรจะต้องจัดการระบบเก็บข้อมูลแบบใหม่ ขณะที่ผู้ใช้ควรต้องตระหนักรู้ว่ามีสิทธิ์ควบคุมหรือจัดการข้อมูลของตัวเองอย่างไรบ้าง
เทรนด์ที่ 5 คือคลาวด์ ปี 2563 คือปีที่องค์กรจะเน้นให้ระบบคลาวด์ของตัวเองมีความสมบูรณ์มากกว่าปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้ "คงศักดิ์ ก่อตระกูล" ผู้จัดการวิศวกรระบบ ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดไชน่า บริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค อธิบายว่าที่ผ่านมาหลายองค์กรเข้าใจว่าการย้ายดาต้าเซิร์ฟเวอร์ไปบนคลาวด์ ถือเป็นการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเรียบร้อยแล้ว แต่ปี 63 โลกของคลาวด์จะผันตัวเข้าสู่ระบบใหม่ที่จะไม่มีเซิร์ฟเวอร์หรือโอเอสใด ทุกอย่างจะเกิดขึ้นบนคลาวด์แบบหมดจดทำให้ระบบซีเคียวริตี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งคำถามที่ต้องตอบคือองค์กรพร้อมไหมในการทำซีเคียวริตี้บนคลาวด์ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
สึนามิซีเคียวริตี้
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค เปิดตัวสินค้าหลากหลายขึ้นกว่าช่วงปีที่ผ่านมา สิ่งที่บริษัททำคือการปรับให้มีสินค้าใหม่เพิ่มมากขึ้นกว่าไฟร์วอลล์ทั่วไป ที่เห็นชัดคือบริษัทเทงบซื้อกิจการบริษัทใหม่มากกว่า 8 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดเป็นบริการใหม่ซึ่งตอบโจทย์โลกยุคใหม่โดยเฉพาะ โดยผลิตภัณฑ์ที่ถูกตั้งความหวังมากที่สุดในปีนี้ คือพริสม่า (Prisma) และคอร์เทกซ์ (Cortex) ที่พาโล อัลโต เน็ตเวิร์คจะนำมาทำตลาดแทนระบบ SOC หรือ Security Operation Center แบบ 100%
การชี้ให้ตลาดเห็นถึงความซับซ้อนในการทำระบบซีเคียวริตี้ในอนาคต กลายเป็นโอกาสที่พาโล อัลโต เน็ตเวิร์คเชื่อว่าจะทำให้บริษัทเติบโต ทั้งในส่วนคลาวด์และกลุ่มสินค้า IoT ซึ่งความท้าทายของธุรกิจในวันนี้คือการไม่มีโซลูชันที่รัดกุม เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีไปเร็วแต่ปัญหาก็ยังมี
สำหรับ AI ผู้บริหารมองว่าแม้จะเริ่มมีการนำเข้ามาใช้แล้วหลายส่วนในภาคธุรกิจ แต่ก็ยังต้องมีการพัฒนาความสามารถด้านการคำนวณให้สูงขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันองค์กรก็ต้องสะสมชุดข้อมูลมหาศาลเพราะถ้ามีน้อย ระบบนี้จะยังไม่เรียกว่า AI ทั้งหมดนี้พาโล อัลโต เน็ตเวิร์คก็มองเป็นเป้าหมายในอนาคต เพื่อพัฒนาระบบซีเคียวริตี้ที่เป็น AI ซึ่งเรียนรู้ได้ สามารถคาดคะเน และตอบสนองได้ทันที
หากมองข้ามไปถึงยุคควอนตัมคอมพิวติง ระบบหรือเทคโนโลยีซีเคียวริตี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็จะยิ่งไม่สามารถใช้งานได้เลย ผลคือกลายเป็นโลกใบใหม่ ซึ่งชาวโลกยังต้องรอดูเหมือนทุกครั้งที่โลกมีเทคโนโลยีใหม่แต่ยังมาไม่ถึง
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในไทย พาโล อัลโต เน็ตเวิร์คมองว่าวันนี้องค์กรทั่วโลกกำลังตื่นตัวเพื่อทำตามกฎหมายใหม่ให้เร็ว ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ทุกประเทศในภูมิภาคล้วนตื่นตัวในทางเดียวกัน โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่กฎหมายใหม่เข้ามากระตุ้น ทำให้เกิดการตื่นตัวมากกว่าเดิม
ตลาดระบบซีเคียวริตี้ไทยที่พาโล อัลโต เน็ตเวิร์คคิดว่าจะเติบโตชัดเจนช่วงปี2563 ยังคงเป็นคลาวด์ ซึ่งจะยิ่งใหญ่กว่าตลาดระบบ Managed Service SOC ที่คาดว่าจะขยายตัวสูงมากเพราะในอดีตไม่เคยมี.