กสท โทรคมนาคม หรือ CAT ดึง หัวเว่ย เทคโนโลยี่ เปิดตลาดบริการ OTN Premium Private Line เทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายเคเบิลอัจฉริยะที่เด่นเรื่องการันตีแบนด์วิดท์สูง-คำนวณความหน่วงได้ว่าเส้นทางไหนหน่วงต่ำที่สุด-ปลอดภัยกว่า Private Line ทั่วไป ด้าน CAT ยืนยันการเปิดตลาดครั้งแรกในไทยไม่ได้แปลว่าราคาค่าบริการจะสูงขึ้น แต่จะโดนใจองค์กรทั้งรัฐและเอกชนจนกลายเป็นตลาดแมส สอดคล้องกับหัวเว่ยที่ยกให้ Premium Private Line เป็นเทรนด์แรงระดับโลกซึ่งตลาดเติบโต 10% ทุกปี คาดว่าจะมีมูลค่า 72,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 63
ดร. ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและบริการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเปิดตัวบริการใหม่ Optical Transport Network (OTN) Premium Private Line ว่าทิศทางความต้องการของธุรกิจยุคใหม่ กำลังทำให้เน็ตเวิร์กเครือข่ายเคเบิลต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือระบบอัตโนมัติ ทำให้เน็ตเวิร์กต้องจัดการงานประมวลผลที่กระจายตัวได้มากขึ้น รองรับเทคโนโลยีที่หลากหลาย รวมถึงต้องคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนตามความต้องการที่เปลี่ยนไป ซึ่งถ้าปรับไม่ได้ก็อาจทำให้ระบบขัดข้องจนกระทบกับธุรกิจ ความจำเป็นนี้ทำให้ CAT มั่นใจว่าบริการ OTN Premium Private Line จะมีส่วนแบ่งตลาดเติบโตไม่น้อยกว่า 30% ในแต่ละปี
“ธุรกิจนี้ทำเงินอยู่แล้ว เพราะองค์กรมองเห็นชัดเจนว่าเน็ตเวิร์กที่มีไม่โอเค ก็รู้แล้วว่าต้องปรับอย่างไร” ดร. ดนันท์ กล่าว “วันนี้หน่วยธุรกิจเคเบิลของ CAT คิดเป็น 60% แม้ Premium Private Line จะเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่ม แต่คิดว่าจะโตไม่น้อยกว่า 30% สัดส่วนลูกค้าของ CAT ตอนนี้เป็นองค์กรในประเทศมากกว่า 65% ที่เหลืออีก 35% เป็นทราฟฟิกระหว่างประเทศ คาดว่าสัดส่วนนี้จะขยายใหญ่ขึ้นอีก“
ดร. ดนันท์ ระบุว่า Premium Private Line เป็นตลาดที่เติบโตมากในต่างประเทศ แต่วันนี้เพิ่งเปิดให้บริการในไทยเป็นครั้งแรก จุดต่างกับ Private Line แบบเก่า คือการข้ามข้อจำกัดด้วยเทคโนโลยี OTN มีการใช้ซอฟต์แวร์มาจัดการ มี AI มีชิปเพื่อจัดการระบบตาม SLA หรือข้อตกลงให้บริการ ซึ่งจะกำหนดค่าความหน่วง และแบนด์วิดท์ สามารถเปลี่ยนตามความต้องการของลูกค้า เป้าหมายของการเปิดบริการนี้ คือการให้ประสบการณ์ที่ดีทั้งลูกค้าภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน ที่ต้องการระบบเครือข่ายที่รองรับคลาวด์เต็มที่ และสามารถรองรับ "ความต้องการของลูกค้าของลูกค้าเราอีกที" ด้วยการเพิ่มทราฟฟิกในวันที่ใช้งานมาก ทั้งแบนด์วิดท์ในประเทศและนอกประเทศ
ตลาดโลกโตแรง
นายคลอดิโอ ลูการี ผู้อำนวยการฝ่ายขาย DWDM โกลบอล โซลูชันส์ หัวเว่ย กล่าวว่าตลาด Private Line วันนี้เติบโตทุกตลาดทั่วโลก การสำรวจของบริษัทวิจัย Ovum พบว่ามีอัตราการเติบโตมากกว่า 10.7% ต่อปี คาดว่าจะมีมูลค่าแตะ 72,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ต้องการเครือข่ายประสิทธิภาพสูงเพื่อการเชื่อมต่อคลาวด์ คาดว่าภายในปี 2568 องค์กรโลกเกิน 80% จะเชื่อมต่อกับคลาวด์เซอร์วิส
"การสำรวจจาก OVUM พบว่าองค์กรกำลังย้ายไปใช้ Premium Private Line มากขึ้น เพื่อรองรับบริการด้านดาต้าที่ขยายตัวและเพื่อความเร็วในการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยุค 5G ที่จะมีแอปพลิเคชันอัตโนมัติ และบริการ 5G B2B ที่หลากหลาย Premium Private Line ก็จะเป็นประโยชน์และเติบโตได้อีกมาก"
ตัวอย่างที่หัวเว่ยยกมาเพื่ออธิบายอิทธิพลของ Premium Private Line ในตลาดเคเบิลคือการรถไฟเยอรมนี ที่ใช้ Premium Private Line ในการบริหารจัดการตารางรถไฟ และการบริการประชาชน ยังมีระบบคลาวด์ในโรงพยาบาล คลาวด์ในภาครัฐ ศูนย์กู้ข้อมูลจจากระยะไกล ผู้ประกอบการ OTT รองรับอีเวนท์มหกรรมสำคัญของโลกเช่น กีฬา และร้านสาขาขององค์กรค้าปลีก
จุดเด่นของ Premium Private Line คือสามารถพยากรณ์ได้ว่าเน็ตเวิร์กเพียงพอต่อความต้องการใช้งานหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีการการันตี SLA ว่าความหน่วงต่ำระดับใด การสำรวจพบว่าการหน่วง 400 มิลลิวินาทีในระบบเครือข่ายข้อมูล อาจทำให้การค้นหาของกูเกิล (Google) ลดลงได้ 8 ล้านครั้ง และหากร้านค้าอีคอมเมิร์ซระบบล่ม 1 วินาที จะหมายถึงยอดขายที่อาจหายวับไป 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เกม VR ต้องมีความหน่วงน้อยกว่า 20 มิลลิวินาที ผู้ใช้จึงจะไม่คลื่นไส้วิงเวียน
กลุ่มตลาดของ Premium Private Line จึงเป็นกลุ่มผู้ให้บริการที่ต้องการอัปเดทเน็ตเวิร์ก ซึ่ง OTN Premium Private Line ของหัวเว่ยรองรับแบนวิธ 2M ถึง 100G เหมาะกับการตอบโจทย์ธุรกิจยุคนี้ที่มอง 2 เรื่องใหญ่ที่คลาวด์และดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน
ไม่ดีที่สุดแต่ดีกว่า
นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า OTN Premium Private Line ของหัวเว่ยอาจไม่ดีที่สุดในปัจจุบัน แต่ก็มีความโดดเด่นหลายด้านซึ่งจะยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าได้
"จุดแรกคือลูกค้าซื้อเน็ตเวิร์กเรา แล้วลูกค้าจะรู้สึกว่าเป็นทรัพยากรเค้าเอง ใช้ได้เต็มที่ 99.9% จุดที่ 2 คือการันตีความหน่วง ก่อนหน้านี้ 3 ปีไม่เคยมีใครถามเรื่องความหน่วง ตอนนี้ต้องใส่ใจเพื่อให้รองรับคลาวด์ได้เต็มที่ ที่สำคัญลูกค้าจะขยายเพิ่มแบนด์วิดท์ได้ในหลักนาที จากที่เคยต้องใช้เวลานาน และยังรู้สถานะของระบบทุกอย่างออนไลน์" วรกานเสริม “เรื่อง Latency เป็นเรื่องใหม่ การใช้เน็ตเวิร์กคลาวด์เอนจิ้นทำให้เราคำนวณความหน่วงได้ว่าเส้นทางไหนหน่วงต่ำที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด ถ้ามีข้อมูลประมาณหนึ่ง จะเห็นรัศมีเลยว่าในพื้นที่ไหนมีความหน่วงมากหรือน้อย เรื่องนี้ใหม่มากในวงการเน็ตเวิร์ก ไม่เคยทำได้มาก่อน เราเปลี่ยน Managed system ในวงการเน็ตเวิร์กมาทำบนคลาวด์ ทำให้เข้าใจและแตกเป็น SLA แพคเกจให้ลูกค้าเลือกใช้ได้หลากหลาย ตอบโจทย์ให้ลูกค้าที่บริการแอปพลิเคชันที่ต่างกันได้ สามารถหาเส้นทางใหม่ได้ก่อนที่เน็ตเวิร์กจะตัด”
OTN Premium Private Line คือหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ CAT จะบุกหนักในตลาดเครือข่ายข้อมูลองค์กร ที่ผ่านมา CAT ระบุว่าได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนขององค์กร เป็นการเน้นขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้ประสบความสำเร็จด้วยเทคโนโลยี จึงสร้าง 4 แบรนด์ย่อยใหม่ คือ CAT Digital Native เน้นตลาดแมสมาร์เก็ต สมาร์ทโฮม ไฮสปีดอินเทอร์เน็ต และโมบายล์, CAT Digital Nation เน้นยกระดับบริการภาครัฐ, CAT Digital NetWorld เน้นเจาะตลาดโอเปอเรเตอร์ต่างประเทศ กลุ่มอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ต่างประเทศ จนครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในไทย และ CAT Digital Nterprise ซึ่งเน้นเอกชน
"การแบ่งแบบนี้ทำให้เราให้บริการได้ครบ ในปี 2019 เรามีรายได้ 87,000 ล้านบาท พนักงานมากกว่า 5 พันราย มีเครือข่ายไฟเบอร์ออปติกทั่วโลก แบนด์วิดท์คอร์เน็ตเวิร์ก 1 เทรา ปีนี้จะมีเคเบิลเส้นใหม่ เสริมจากที่มีสถานีแซทเทิลไลท์ 3 สถานี ดาต้าเซ็นเตอร์ 8 แห่ง คลุมทั้งภาคพื้นดิน ใต้น้ำ และดาวเทียม"
CAT คาดว่า OTN Premium Private Line จะเจาะตลาดองค์กรรัฐได้เพิ่มขึ้น โดยโปรเจ็กต์ปัจจุบันที่ CAT ดูแลอยู่คือ GDCC ศูนย์ข้อมูลภาครัฐ ซึ่งเน้นทำให้ระบบข้อมูลของภาครัฐ สามารถบริหารจัดการร่วมกัน ต่อยอดและวิเคราะห์เพื่อให้รัฐให้บริการได้ดีขึ้น ยังมีโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ที่จะไม่จำกัดเฉพาะภูเก็ต โครงการดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ซึ่งต้นปีหน้าจะมีการก่อสร้างในพาร์คที่ศรีราชา เป็นโอกาสที่หน่วยงานต่างประเทศ และไทย จะมาลงทุนในพื้นที่และจะได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาล
ยังมีโครงการ ASEAN Digital Hub ที่เน้นสร้างโครงข่ายสำหรับบริหารทราฟฟิกต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย อีกโครงการที่ CAT ระบุว่ากำลังศึกษาอยู่ คือ NSW National Single Windows เพื่อให้การนำส่งเอกสารระหว่างองค์กรรัฐทำได้ง่าย ไม่ต้องส่งเอกสารซ้ำซ้อนหลายครั้ง
ความท้าทายที่ CAT มองในตลาด Premium Private Line คือความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป เชื่อว่าการแข่งขันในตลาด Premium Private Line จะดุเดือดทั้งในมุมราคา คุณภาพ และบริการหลังการขาย จุดนี้ CAT มีทีมบริการหลังการขายแบบแยกกัน ขณะเดียวกันก็มีการลงทุนต่อเนื่อง 5,000 ล้านบาทในปี 63 คงที่ระดับเดียวกันกับปี 62
“เน็ตเวิร์กกลายเป็นบริการที่เหมือนน้ำไฟ องค์กรไม่อยากจ่ายเยอะแต่ก็ขาดไม่ได้ เราถือเป็นผู้ให้บริการ Top 3 ในไทย เรากำลังพยายามขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดไทยให้ได้”