xs
xsm
sm
md
lg

Cybersecurity สายงานมาแรงแห่งยุค! ผู้เชี่ยวชาญเผย ตลาดงานต้องการอีกเพียบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถ้าพูดถึงสายงานด้านเทคโนโลยีที่เด็กรุ่นใหม่สนใจกันมาก หนึ่งในนั้นต้องมีอาชีพด้าน Cybersecurity หรือที่เรียกเท่ๆ ว่า “ตำรวจไซเบอร์” ด้วยแน่นอน อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้น้อยมาก เพราะข้อมูลจาก jobsDB.com ระบุว่า งานด้าน Cybersecurity ยังขาดแคลนผู้เข้าสู่ตลาดงานด้านนี้ถึง 96% อีกทั้งติดอับดับ 1 ใน 10 อาชีพที่ตลาดงานต้องการตัว ซึ่งเมื่อตลาดงานมี Demand สูง เงินเดือนของอาชีพนี้จึงสูงกว่าอาชีพสายเทคโนโลยีอื่นๆ ถึงกว่าเท่าตัว

สาเหตุที่ทำให้อาชีพด้าน Cybersecurity เติบโตอย่างรวดเร็วนั้น เพราะปัจจุบันเป็นยุคสารสนเทศหรือยุคดิจิทัลที่มีการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโพน, อุปกรณ์ IoT ฯลฯ การส่งต่อข้อมูลสำคัญผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งของส่วนตัว องค์กร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จึงเป็นไปอย่างง่ายดายและฉับไว แต่ด้วยความที่ข้อมูลนั้นไหลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ทำให้บางครั้งผู้ใช้งานอาจหลงลืมไปว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้หายไปไหน ทว่ายังคงอยู่ในโลกดิจิทัล ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปกป้องไว้ไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลหรือใครเข้ามาโจรกรรมไปได้


อาชีพเกี่ยวกับ Cybersecurity จึงถือกำเนิดขึ้นมากมาย อาทิ Cybersecurity Engineer, Network Security Engineer, Application Security Engineer ฯลฯ มาทำหน้าที่วางระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Threats) รวมไปถึงปกป้องข้อมูลสารสนเทศและระบบสารสนเทศภายในองค์กรไม่ให้ใครสามารถเข้าถึงข้อมูล แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นไปทำลาย ปรับแปลง หรือใช้ในทางที่มิชอบและหาประโยชน์ส่วนตน



ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cybersecurity คุณเจษฎา ทองก้านเหลือง ผู้จัดการฝ่ายความมั่นคงปลอดภ้ย (อาวุโส) บริษัท ที-เน็ต จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งให้บริการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบเครือข่ายสารสนเทศ (IT Security Services) แบบครบวงจร ได้แสดงความเห็นว่า ทุกวันนี้การสื่อสารเป็นไปอย่างง่ายดายกว่าแต่ก่อนมากด้วยระบบอินเทอร์เนต ส่งผลให้มีการส่งข้อมูล (Data) จำนวนมหาศาลเข้าไปในเครือข่าย จนก่อให้เกิดกลุ่มคนผู้ไม่ประสงค์ดีหรือที่เราเรียกว่าแฮ็คเกอร์คอยโจมตีเข้าไปในระบบเพื่อนำข้อมูลที่โจรกรรมมานั้นไปใช้ประโยชน์ ทั้งการขายข้อมูลส่วนบุคคล หมายเลขโทรศัพท์ และที่น่ากลัวที่สุดก็คือข้อมูลบัตรเครดิต โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคนซื้อของออนไลน์จำนวนมาก สถิติการถูกโจรกรรมข้อมูลจึงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว



“หน้าที่หลักๆ ของ Cybersecurity คือ คอยเฝ้าระวัง ควบคุม และปกป้องข้อมูลข่าวสารให้มั่นคงปลอดภัย ด้วยการวางมาตรการต่างๆ รวมทั้งพัฒนาฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีเพื่อป้องกันผู้บุกรุกเข้ามาขโมยข้อมูล ผู้ที่ทำงาน Cybersecurity จึงต้องมีทักษะทั้งการวางนโยบายและทักษะด้านคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมการตั้งค่าฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยต้องมีความชำนาญใน 5 ด้าน ได้แก่ Programming, Network, System, Infrastructure และ Security ซึ่งตอนนี้ตลาดงานกำลังต้องการตัวมาก” คุณเจษฎากล่าว



ด้วยความสำคัญของงานด้าน Cybersecurity ดังกล่าว คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงจะเปิดสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในปีการศึกษา 2563 โดย ดร.ถิรพล วงศ์สอาดสกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า

“หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลคือยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ซึ่งมุ่งสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้ประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคน ระบบฐานข้อมูล และเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้มีความพร้อมรับมือภัยคุกคามในทุกรูปแบบอันรวมถึงการคุกคามทางไซเบอร์ด้วย มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงต้องการบ่มเพาะบุคลากรด้านนี้ไว้รองรับให้ทันการเติบโตของตลาดงานและขานรับยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว ทั้งยังสอดคล้องกับอัตลักษณ์ C+T หรือ Creativity + Technology ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพด้วย”
สำหรับสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นับเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่เปิดสอนด้าน Cybersecurity โดยตรงในระดับปริญญาตรี


กำลังโหลดความคิดเห็น