กสทช.คาดออกประกาศหลักเกณฑ์กำกับดูแลอุปกรณ์ IoT ภายในไตรมาสแรกปี 2563 ก่อนประมูล 5G เพื่อรองรับการลงทุน ชี้เตรียมเลขหมาย IoT สำหรับจัดสรรจำนวน 8,000 ล้านเลขหมาย พร้อมแก้ประกาศข้อมูลโทรคมนาคมให้โอเปอเรเตอร์สามารถนำข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตนไปต่อยอดสร้างบริการได้ ควบคู่กับการทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงดีอีเอสในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ตามกฎหมายใหม่ที่เกิดขึ้น
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ภายในไตรมาสแรกปี 2563 กสทช.จะมีการออกประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแลและปรับปรุงเลขหมายอุปกรณ์ IoT เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะมีการประมูลภายในวันที่ 16 ก.พ. 2563 คาดว่าผู้ชนะการประมูลจะใช้เวลาในการวางโครงข่ายประมาณ 1-2 เดือน ดังนั้นประกาศของกสทช.ที่ออกมาก็จะสอดรับกับการใช้งานเทคโนโลยี 5G ซึ่งต้องมีอุปกรณ์ และ เซ็นเซอร์ IoT จำนวนมากเกิดขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยี 5G เป็นการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์
ทั้งนี้ เมื่อเน็ตเวิร์กเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้อุปกรณ์สื่อสารกับอุปกรณ์ การกำกับดูแลเกตเวย์ที่เป็นหัวใจหลักของการสื่อสารจึงเป็นสิ่งที่กสทช.ต้องดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือ เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทำให้กสทช.ต้องมีการออกเลขหมายเพื่อกำกับอุปกรณ์ IoT ที่อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องดังกล่าวด้วย แต่ยังไม่ได้กำหนดลงรายละเอียดชี้ชัดว่าจะเป็นอุปกรณ์ประเภทไหนอย่างไร เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเทคโนโลยีหากกฎเกณฑ์ของกสทช.เข้มงวดเกินไป เบื้องต้น กสทช.กำหนดเลขหมายสำหรับอุปกรณ์ IoT ไว้ 14 หลัก จำนวน 8,000 ล้านเลขหมาย
“กสทช.คงไม่ได้กำกับไปในตัวเซ็นเซอร์ทุกตัว แต่เราจะดูที่เกตเวย์เป็นหลัก อุปกรณ์ที่จะควบคุมหรือให้เลขหมาย ก็ต้องเป็นอุปกรณ์ที่คาดว่าจะเกิดปัญหาได้ เช่น หุ่นยนต์ตัดหญ้า หากมีการผิดพลาดขณะตัดหญ้าแล้วสร้างความเสียหายให้กับสิ่งของรอบข้าง การมีหมายเลขกำกับก็จะทำให้รู้ได้ว่าหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นของใคร” นายก่อกิจ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทเอกชนรายหนึ่งรายใดต้องการเป็นผู้ให้บริการหรือวางระบบสื่อสารที่มีอุปกรณ์ IoT ให้บริการแก่ลูกค้าเชิงพาณิชย์ บริษัทจำเป็นต้องมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการกับ กสทช.ก่อน ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่มีใบอนุญาตสามารถให้บริการได้แล้วจำนวน 3 ราย คาดว่าน่าจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ กสทช.ยังได้ปรับประกาศเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) สามารถนำข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตน เช่น พฤติกรรมการใช้งานในภาพรวม เป็นต้น มาวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการค้าได้ เพราะเมื่อเทคโนโลยี 5G มา อุปกรณ์ IoT จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ จึงจำเป็นต้องแก้ประกาศให้โอเปอเรเตอร์สามารถใช้ข้อมูลเพื่อธุรกิจได้ แต่ต้องห้ามละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่ระบุชัดถึงตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นอันขาด รวมถึงการปรับให้สอดรับกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
ขณะเดียวกันเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่กสทช.ต้องดูแลในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลด้านโทรคมนาคม โดย กสทช.ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในการประสานการทำงานร่วมกันเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของ พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ เมื่อระบบล่ม หรือ ถูกโจมตี ต้องสามารถดำเนินการตามมาตรการที่กฎหมายกำหนดไว้ได้เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ