กสทช.ชี้ 5G ช้าไม่ได้ เหตุมีประโยชน์ทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ย้ำการลงทุนไม่จำเป็นต้องเกิดทั่วประเทศแต่ควรเลือกพื้นที่ที่จำเป็นก่อน เช่น อีอีซี
พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการ กสทช. ประจำปี 2562 ในหัวข้อ กสทช. กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ว่าเทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการแพทย์ โดยเฉพาะการแพทย์ทางไกลที่แม้ประเทศไทยจะมีพื้นที่ชนบทห่างไกลจากชุมชนเมืองไม่มาก แตกต่างจากประเทศออสเตรเลียที่มีพื้นที่ชนบทห่างไกลจากชุมชนเมืองอยู่ราว 5,000 ไมล์ หรือ 8,046 กิโลเมตร ทำให้การแพทย์ทางไกลเข้ามามีบทบาทในการป้องกันและรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันทวงที
ทั้งนี้ จากปัญหาของระบบการแพทย์ของไทย ด้านการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกล เนื่องด้วยจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอและแพทย์ส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลส่วนกลาง และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตเมือง ส่งผลให้แพทย์ไม่เพียงพอและรองรับกับจำนวนผู้ป่วยในเขตพื้นที่ห่างไกล สำนักงาน กสทช. เล็งเห็นถึงปัญหา โดยได้มอบหมายให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และมอบทุนเพื่อทำโครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง เพื่อลดช่องว่างทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลความเร็วสูง ในการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบแพทย์ทางไกล และให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลาแบบเรียลไทม์
“มหาวิทยานเรศวรได้รับมอบทุนสนับสนุนจาก กทปส. มีลักษณะคล้ายการแพทย์ทางไกล รูปแบบครบวงจรมีแพทย์เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ป่วยและพยาบาล ผ่านแอพพลิเคชั่นเชื่อมต่อสำหรับแพทย์ โครงการดังกล่าวได้รับทุนครั้งแรกเมื่อปี 2557 ทำเป็นโครงการต้นแบบทดลองทั้งสิ้น 4 - 5 โรงพยาบาลในพื้นที่ ทั้งนี้ ในการพัฒนาระบบแพทย์ทางไกลให้สามารถเชื่อมโยง รับส่งข้อมูล รวมทั้งการเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ทุกพื้นที่ในประเทศ และเกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษา ลดปัญหาการเสียชีวิตของประชาชน เกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทยและประชาชนในประเทศด้วย” พล.ท.พีระพงษ์ กล่าว
พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวว่า ประโยชน์ด้านการแพทย์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากประโยชน์ของ 5G ทั้งหมด ซึ่งผู้ลงทุนคือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่ปัจจุบันกำลังลังเลเรื่องการลงทุน 5G เนื่องจากมองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหัตถอุตสาหกรรมจะนำ 5G ไปพัฒนาต่อยอดในด้านใด ประกอบกับมองว่า ตลาดยังไม่พร้อมจึงไม่อยากรีบลงทุน แต่เรื่องนี้เป็นแผนการขับเคลื่อนระดับชาติ อย่างน้อยควรผลักดันให้ 5G เกิดขึ้นในพื้นที่ที่จำเป็นก่อน อาทิ พื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และตามหัวเมืองใหญ่ของทุกภูมิภาค ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดพร้อมกันในทุกพื้นที่
“การไม่เร่งขับเคลื่อน 5G จะส่งผลให้ประเทศไทยล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องหนักใจของ กสทช. อย่างมาก แต่ส่วนตัวไม่ค่อยหนักใจมากนัก เพราะนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เข้มแข็ง และได้วางแผนการดำเนินการไว้หมดแล้ว ทำให้การประชุม กสทช. มีความคล่องตัวมาก”