xs
xsm
sm
md
lg

7 หน่วยงานจับมือเตรียมพร้อมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ ช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุมอเตอร์เวย์-แหลมฉบัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นประธานในการสาธิตเฮลิคอปเตอร์การแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยอุบัติเหตุบนทางหลวงพิเศษ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กรมทางหลวง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ตำรวจทางหลวง กองบินตำรวจ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมกว่า 250 คน

นายสาธิต กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่งผลให้มีการใช้เส้นทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง มากขึ้น ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถด้วยความเร็วสูง กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับกระทรวงคมนาคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และบริษัท กรุงเสพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เพิ่มศักยภาพการแพทย์ฉุกเฉินด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงผู้บาดเจ็บทางอากาศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยแก่นักท่องเที่ยว นักลงทุน และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี ซึ่งครั้งนี้เป็นการซักซ้อมความเข้าใจในกระบวนการปฏิบัติงาน การวางแผนการเข้าจุดเกิดเหตุโดยเฮลิคอปเตอร์พร้อมทีมแพทย์ร่วมกับรถฉุกเฉินในพื้นที่ โดยแผนการดำเนินงานระยะต่อไปจะร่วมกับกรมทางหลวง เปิดช่องทางพิเศษเป็นระยะ เพื่อง่ายต่อการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าถึงผู้ป่วยและผู้ประสบอุบัติเหตุได้รวดเร็วขึ้น ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ด้วยการลำเลียงทางอากาศ ช่วยแก้ปัญหารถกู้ชีพเข้าถึงจุดเกิดเหตุยาก ซึ่งจะช่วยลดการตาย ความพิการจากอุบัติเหตุได้

ทางด้านนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สพฉ. ได้จัดระบบการช่วยเหลือและนำส่งผู้ป่วยด้วยากาศยาน (สกายด็อกเตอร์) ซึ่งดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือเข้าถึงยาก ซึ่งปีงบประมาณ 2562 มีปฏิบัติการสกายด็อกเตอร์ 59 ครั้ง ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน 66 ราย

สำหรับพื้นที่อีอีซี มีอัตราการเจ็บป่วยฉุกเฉินและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก จึงจัดให้มีการช่วยเหลือสาธิตโดยใช้ทีมฉุกเฉินจากกรมทางหลวง โรงพยาบาลชลบุรี และมูลนิธิในพื้นที่ ร่วมกับเฮลิคอปเตอร์จากกองบินตำรวจ และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แก้ไขระเบียบด้านการบินให้การบินเพื่อการแพทย์ฉุกเฉิน อำนวยความสะดวกให้ลงจอดนอกสนามบิน เป็นการลดระยะเวลาและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน