รมช.สาธารณสุข ลงพื้นที่กระบี่ ลุยพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล ดูแลนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซัน ลดเจ็บป่วยตาย ดันอันดับ 1 ของอาเซียนภายในปี 2564
วันนี้ (27 ต.ค.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเกาะลันตา และโรงพยาบาลกระบี่ จังหวัดกระบี่ ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขทางทะเลและพื้นที่เกาะ 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มีประมาณ 35 ล้านคนต่อปี ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งจัดบริการพิเศษทางสุขภาพ หรือพรีเมียม เซอร์วิสในพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล (Maritime ECS : Maritime Emergency Care System) พัฒนาศักยภาพหน่วยบริการให้สามารถดูแลผู้บาดเจ็บ/ป่วยฉุกเฉินทางทะเล และโรคที่พบบ่อย และสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขทางทะเล/ ทีมกู้ชีพทางทะเล เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทางทะเลร้อยละ 80 ได้รับการดูแลให้มีความปลอดภัยหากเจ็บป่วย/ฉุกเฉินทางทะเล เสียชีวิตจากเหตุฉุกเฉินลดลงร้อยละ 25 การเจ็บป่วยจากโรคที่พบบ่อยลดลงร้อยละ 30 สร้างรายได้จากการลงทุนบริการระดับพรีเมียมปีละ 70 ล้านบาท และความเชื่อมั่นของประเทศอยู่ในอันดับ 1 ของอาเซียนภายในปี 2564
“ขอชื่นชมจังหวัดกระบี่ที่มีความพร้อมดูแลนักท่องเที่ยวและประชาชนในช่วงไฮซีซั่น ตุลาคม - พฤษภาคม ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และสถานพยาบาลเอกชน ดำเนินการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือส่งต่อผู้ป่วยทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ มีระบบการปรึกษาแพทย์กับโรงพยาบาลแม่ข่าย ระหว่างการนำส่งบนเรือ Ambulance จนถึงโรงพยาบาล สร้างมาตรฐานการดูแลประชาชนพื้นที่เกาะ ห่างไกล และสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว” นายสาธิตกล่าว
ทั้งนี้ จังหวัดกระบี่เป็นหนึ่งในจังหวัดพื้นที่เขตสุขภาพพิเศษด้านสาธารณสุขทางทะเล เน้นบูรณาการเครือข่ายการช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวในภาวะวิกฤตฉุกเฉินทางทะเล โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเกาะลันตาได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอกระบี่จัดซ้อมแผนการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล โดยมีระบบการช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ ส่งทีมแพทย์ พยาบาล ณ พื้นที่เกาะ แนวทางการส่งต่อ การอบรมอาสาสมัครกู้ชีพ กู้ภัย ระบบการแจ้งเหตุจากจุดเกิดเหตุ ศูนย์สั่งการและระบบสั่งการทางการแพทย์เชื่อมโยงกับศูนย์ระดับภาคใต้ รวมทั้งการประสานงานหน่วยงานที่มีศักยภาพในการจัดระบบบริการทางการแพทย์ทางทะเล และระบบป้องกันไม่ให้เกิดเหตุหรือระบบแจ้งเตือน ณ จุดเกิดเหตุ