xs
xsm
sm
md
lg

ส่องความพร้อม 5G AIS-True ชิงพันธมิตรธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วสิษฐ์ วัฒนศัพท์
เอไอเอส-ทรู ใช้ช่วงเวลาปลายปีต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 2020 เป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่กสทช. จะเริ่มเดินหน้าเข้าสู่การประมูลคลื่นความถี่เพื่อนำมาให้บริการ 5G ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งแน่นอนว่าช่วงเวลาเกิดการประมูลจะเกิดช่วงอย่างไซเลนท์ พีเรียด ทำให้โอเปอเรเตอร์ที่ต้องการเข้าประมูล 5G ไม่สามารถให้รายละเอียดที่เกี่ยวเนื่องกับ 5G ได้


จึงทำให้ในช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดการประมูลนี้ เกิดศึกแย่งชิงความเป็นผู้นำในการให้บริการ 5G ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ทางกสทช. เปิดให้ทดลอง ทดสอบ ใช้งาน 5G ทั้งบนคลื่นความถี่สูง 26-28 GHz จนถึงล่าสุดที่นำคลื่นความถี่มาตรฐานที่ใช้งาน 5G ทั่วโลกอย่าง 2600 MHz มาให้ทดสอบ

โดยช่วงคลื่นความถี่ระหว่าง 2600 - 3500 MHz ถือเป็นช่วงคลื่นที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาพัฒนา 5G ในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเป็นคลื่นที่มีการนำไปใช้งานทั่วโลก จากการที่เป็นคลื่นความถี่ที่ไม่สูงเกินไปรองรับการใช้งานในพื้นที่กว้าง ทำความเร็วได้ดี และบริษัทผู้พัฒนาโครงข่ายต่างศึกษาถึงรูปแบบการนำไปใช้งานแล้ว

สุภกิจ วรรธนะดิษฐ์
ในขณะที่ช่วงคลื่นอย่าง 26-28 GHz นั้น ยังไม่เหมาะกับการนำมาใช้งานเพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่การให้บริการ เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่สูงทำให้เกิดการสะท้อนไปมาได้ง่ายกว่า จึงยังต้องรอเทคโนโลยีเครือข่ายที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคต

เมื่อเห็นถึงทิศทางของคลื่นความถี่ที่นำมาใช้งานแล้ว สิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไปคือเงื่อนไขการประมูลคลื่น ที่กสทช. อยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็นก่อนประกาศเงื่อนไขการประมูลที่ชัดเจน ซึ่งทางโอเปอเรเตอร์ที่สนใจก็ต้องนำเงื่อนไขดังกล่าวไปวางแผน ก่อนตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่

ทำให้ท่าทีของโอเปอเรเตอร์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือการเฝ้ารอความชัดเจนของเงื่อนไขการประมูล หลังจากนี้ก็เข้าสู่ขั้นตอนการจ้างที่ปรึกษา มาช่วยคำนวณความคุ้มค่า เพราะเมื่อได้คลื่นความถี่มาแล้วก็ต้องมีการลงทุนต่อเนื่องอีก


ในจุดนี้ทั้ง 'สมชัย เลิศสุทธิวงศ์' ซีอีโอ เอไอเอส และ 'สุภกิจ วรรธนะดิษฐ์' หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการพาณิชย์ ทรู ต่างยกโมเดลการที่รัฐยกคลื่นให้แก่เอกชนฟรี เพื่อให้สามารถนำเงินที่ต้องกันมาประมูลคลื่นความถี่ไปใช้ในการลงทุนเพื่อขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานแทน

เพราะสิ่งที่ทั่วโลกเห็นร่วมกันคือเมื่อมี 5G จะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจ และสังคม สามารถเติบโตขึ้นได้ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะได้รับจากการนำ 5G มาให้บริการนั้นสูงกว่ามูลค่าเงินที่รัฐจะได้จากการเปิดประมูลคลื่นแน่นอน

***5G ยุคของพันธมิตรทางธุรกิจ

ไม่ใช่แค่เรื่องของเงื่อนไขในการประมูลเท่านั้นที่ ทั้งเอไอเอส และทรู รวมถึง ดีแทค เห็นพ้องต้องกันว่า ในการพัฒนาโครงข่าย 5G โอเปอเรเตอร์ ไม่สามารถลงทุน และให้บริการด้วยตัวเองได้ทั้งหมด ทำให้ต้องมีการจับมือร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม ทำให้เห็นการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างโอเปอเรเตอร์ ร่วมกับทั้งผู้พัฒนาโครงข่ายทั้งอีริคสัน โนเกีย แซตทีอี หัวเว่ย ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่าง หัวเว่ย ออปโป้ วีโว่ ซัมซุง ที่ต่างเตรียมพัฒนาสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ออกมาทำตลาดในอนาคตอันใกล้นี้


จนถึงพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการ 5G แล้ว อย่าง 'ไชน่า โมบายล์'ที่กลุ่มทรู ดูจะได้เปรียบมากที่สุด เพราะปัจจุบันไชน่า โมบายล์ เข้ามาถือหุ้นในกลุ่มทรูถึง 15% ทำให้มีการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาคอยช่วยเหลือ รวมถึงนำโซลูชันที่ให้บริการในจีนแล้วประสบความสำเร็จมาให้ได้เรียนรู้เพื่อเป็นทางลัดของกลุ่มทรูในการศึกษา 5G

ความยิ่งใหญ่ของไชน่า โมบายล์คือเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายที่มีฐานลูกค้ามากที่สุดในโลกถึง 925 ล้านราย และเริ่มให้บริการ 5G แล้วในประเทศจีนด้วย ทำให้กลุ่มทรูมั่นใจว่าจะเป็นไม้ตายสำคัญที่ทำให้กลุ่มทรูชิงความเป็นผู้นำของ 5G ได้

5G The Robotics จำลองซูเปอร์มาร์เก็ตในอนาคตที่ทำงานโดยหุ่นยนต์

Atena AIS 5G @ สามย่านมิตรทาวน์
แต่เรื่องราวกลับไม่ใช่แบบนั้น เพราะข้อมูลจากแหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม ระบุว่า ทางไชน่า โมบายล์ ก็เตรียมเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับทางเอไอเอส เพื่อพัฒนา 5G เช่นเดียวกัน รวมถึงผู้ให้บริการในญี่ปุ่นอย่าง NTT ที่เตรียมเข้ามาเป็นพันธมิตรกับทางเอไอเอสด้วย

สุภกิจ ให้สัมภาษณ์ว่า ในยุคของ 5G เชื่อว่าจะไม่เหลือการทำพันธมิตรแบบเอ็กซ์คลูซีฟแล้ว เพราะปัจจุบันโลกกำลังอยู่ในยุคที่เปิดกว้าง ทุกๆ ธุรกิจสามารถเป็นพันธมิตรกันได้ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม

***Use Case ช่วยให้เห็นภาพการนำ 5G ไปใช้งาน

นอกเหนือจากเครือข่ายโอเปอเรเตอร์แล้ว พันธมิตรทางไอทีโซลูชัน ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สำคัญเป็นอย่างมากในยุค 5G เพราะเมื่อโอเปอเรเตอร์เตรียมเครือข่ายพร้อมแล้ว ก็ต้องมีอุปกรณ์ แพลตฟอร์ม คอนเทนต์ ที่มาทำงานอยู่บนโครงข่าย 5G เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จาก 5G ได้ดีที่สุด


ด้วยเหตุนี้ จึงได้เห็นการเดินสายนำเทคโนโลยี 5G ไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 ต่อเนื่องมาตลอดทั้งปีนี้ ในจุดนี้ เอไอเอส ถือเป็นรายเดียวที่เดินสายนำนวัตกรรมไปให้ทุกภาคในประเทศไทยได้สัมผัสใช้งาน 5G

ตั้งต้นจากการแสดงการเชื่อมต่อ 5G ครั้งแรกในไทยที่ AIS D.C. พร้อมใช้ควบคุมโดรนข้ามประเทศ ก่อนทยอยเดินสายไปยัง ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา ศรีราชา เชียงใหม่ ก่อนปิดท้ายที่สามย่าน มิตรทาวน์ในกรุงเทพฯ

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้เอไอเอสถือว่านำนวัตกรรมมาจัดแสดงเกือบครบทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมโดรน รถยนต์ไร้คนขับ ในมุมของโลจิสติกส์ เกม AR/VR คอนเทนต์เพื่อความบันเทิงต่างๆ หรือแม้แต่หุ่นยนต์แขนกลความแม่นยำสูงที่สามารถนำไปใช้งานตามโรงงานผลิต

ขณะเดียวกัน เอไอเอส ยังมีพันธมิตรทางธุรกิจที่พร้อมเปิดตัวร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัป และธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับรู้ถึงการพัฒนา 5G ของเอไอเอส ผ่านการเดินสายจัดแสดงนวัตกรรมในภูมิภาคต่างๆ นี้



5G Remote Control Vehicle การบังคับรถยนต์ไร้คนขับทางไกล ผ่านเครือข่าย 5G
ตามมาด้วยทรู ที่ยกโชว์เคสมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่ไอคอน สยาม ก่อนกลับมาอีกครั้งในการใช้พื้นที่สยาม สแควร์ ควบคู่กับไอคอน สยาม ในการจัดแสดงเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเกษตร และปศุสัตว์ ที่ทางกลุ่มทรู เข้าไปร่วมมือกับทางซีพีในการศึกษารูปแบบการนำไปใช้งาน

เพียงแต่ภาพในการนำเสนอของกลุ่มทรู จะมุ่งเจาะไปยังไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เป็นหลัก เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ทั้งการนำหุ่นยนต์ต้อนรับ แขนกลอัจฉยะมาให้ลูกค้าได้ทดสอบสั่งงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตในอนาคต

ต่อด้วยการนำเสนอความบันเทิงรูปแบบใหม่ที่จะได้รับเมื่ออยู่ในยุค 5G ทั้งการนำเกม VR มาให้ลูกค้าได้ทดลอง เพราะในอนาคตกลุ่มทรู ที่ถือคอนเทนต์ระดับโลกภายใต้ทรูวิชั่นส์ สามารถนำคอนเทนต์รูปแบบใหม่มานำเสนอผ่าน 5G ได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น

แม้แต่การจัดคอนเสิร์ตที่รวมนักร้อง นักดนตรี จากหลากหลายสถานที่เข้าด้วยกัน ผ่านเทคโนโลยีโฮโลแกรม และการนำความสามารถของ 5G มาใช้ในการส่งต่อข้อมูล ที่ทำให้ทุกเวทีดำเนินไปพร้อมๆ กันได้ โดยไม่เกิดระยะเวลาหน่วงจากการสื่อสารผ่านเครือข่ายไร้สาย

5G Connected Drones การสาธิตบังคับโดรนระยะไกล ระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองโคราช
พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงาน และกรรมการยุทธศาสตร์ 5G ทรู กล่าวว่า หัวใจสำคัญของ 5G ในรูปแบบของทรู จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากการให้บริการในยุค 3G 4G โดยมองจากไลฟ์สไตล์ของธุรกิจ ที่มาขับเคลื่อนการใช้ชีวิต และการทำธุรกิจให้มีความชัดเจนขึ้น

พร้อมย้ำว่าการมาของ 5G ไม่ใช่เรื่องใหม่ 100% แต่เป็นการต่อยอดจากยุคของ 3G 4G ซึ่งทางทรู เป็นผู้นำที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยก่อนใคร ทำให้มั่นใจว่าเมื่อถึงยุคของ 5G การที่จะเป็นผู้นำอีกครั้งไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป

***อุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จาก 5G ก่อน

ถัดมาในแง่ของความพร้อมในการเปิดใช้งาน ด้วยการที่โอเปอเรเตอร์ทุกรายต่างเข้าร่วมทดลอง และทดสอบ นำคลื่นความถี่มาให้บริการ 5G ดังนั้นในวันที่ได้รับไลเซนต์ หรือใบอนุญาตให้บริการ 5G ทุกโอเปอเรเตอร์ก็พร้อมที่จะลงทุน และติดตั้งโครงข่ายเพื่อให้บริการ

เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังอยู่ในช่วงที่ไม่สามารถเตรียมการล่วงหน้าได้ เพราะยังอยู่ในช่วงที่ไม่มีใบอนุญาตทำให้ไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์เครือข่าย 5G เข้ามาติดตั้งได้ ดังนั้นในเรื่องของความเร็วในการให้บริการ 'วสิษฐ์' เชื่อว่าถ้าเป็นไปตามกำหนดที่กสทช. วางไว้ ในกรณีที่เอไอเอส เข้าร่วมประมูล และได้ใบอนุญาตในเดือนพฤษภาคม ก็พร้อมที่จะเริ่มให้บริการทันที

แต่แน่นอนว่ารูปแบบของการให้บริการ 5G จะแตกต่างจากยุคของ 3G และ 4G ที่เน้นเรื่องของความครอบคลุมการใช้งานทั่วประเทศ แต่ 5G จะเริ่มจากในพื้นที่ที่มีความจำเป็นในการใช้งานก่อน เพราะต้องมีการควบคุมคุณภาพให้เหมาะสม

ส่วน 'พิรุณ' มองว่า การให้บริการของ 5G ในช่วงแรกจะเริ่มขึ้นในพื้นที่ปิดก่อน เนื่องจากข้อจำกัดของการคลื่นความถี่ในการให้บริการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเต็มที่ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างการนำไปใช้งานกับหุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติ ไปใช้ภายในโรงงานผลิตก่อน

5G Smart Little Robot Companion หุ่นยนต์บรรณารักษ์ ที่ปฏิบัติงานที่สำนักหอสมุด มข.
ตามด้วยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคอนเทนต์ และความบันเทิง เพราะจะมีผู้บริโภคในกลุ่ม Early Adopter พร้อมที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการใช้งาน อย่างการถ่ายทอดสดฟุตบอล ก็สามารถนำ VR มาใช้งานควบคู่กันเพื่อให้ได้ประสบการณ์เหมือนไปนั่งดูอยู่ในสนามแข่งขันจริงๆ

***แล้ว 'ดีแทค' หายไปไหน?

ไม่ใช่ว่า ดีแทค ไม่มีการทดสอบ และทดลอง 5G เพราะในช่วงปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ดีแทค ก็ใช้พื้นที่ภายในสำนักงานตึกจามจุรีสแควร์ จัดแสดงเทคโนโลยี 5G ให้พนักงาน และพันธมิตรที่เกี่ยวข้องได้สัมผัส ประสบการณ์ 5G โดยเป็นการทำงานร่วมกับทางอีริคสัน ในการนำอุปกรณ์ และโซลูชันมาจัดแสดง

เบื้องหลังของดีแทค ในการศึกษาพัฒนา 5G ยังมีผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ของโลกอย่าง เทเลนอร์ ที่พร้อมจะแชร์ประสบการณ์ในการนำ 5G ไปให้บริการในแถบสแกนดิเนเวีย มาปรับใช้งานให้เข้ากับประเทศไทย

โดยทาง ดีแทค ก็มองว่าการให้บริการ 5G จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าภาคธุรกิจไม่เห็นประโยชน์ของการนำไปใช้งาน ดังนั้นจึงอยู่ในช่วงศึกษาร่วมกันกับพันธมิตรเพื่อที่จะนำเทคโนโลยี 5G เข้าไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น