“ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา” นำทัพภารกิจพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกลแห่งแรกของไทยในนาม “STT GDC ประเทศไทย” เปิดศักราชกลุ่มทุนสิงคโปร์เทเงินลงทุน 7.3 พันล้านบาทเพื่อสร้างศูนย์ให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตขนาดใหญ่ที่สุดในแดนสยาม ดีเดย์เปิดให้บริการเฟส 1 ที่รามคำแหงช่วงไตรมาสแรกปี 2564 เป้าหมายเบื้องต้นคือการสร้างรายได้ 1 พันล้านบาทให้ได้ใน 4 ปีแรก
นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสทีที จีดีซี ประเทศไทย กล่าวว่าเป้าหมายรายได้ 1 พันล้านบาทใน 4 ปีจะส่งให้ STT GDC ประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 20% ซึ่งจะยังต้องเร่งการเติบโตต่อไปเพราะเจ้าตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ไทยในขณะนี้มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 28% ของตลาดรวม
“ภายใน 4 ปี ผมจะทำรายได้ให้ได้ 1 พันล้านบาท ลูกค้าส่วนแรกคือลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ เช่นธนาคารและรีเทล กลุ่มที่ 2 คือองค์กรรัฐ กลุ่มที่ 3 คือ OTT” ศุภรัฒศ์กล่าว “กลยุทธ์ของเราจะเน้นที่ลูกค้าเป็นหลัก มองว่าเฟสแรกจะมีลูกค้าองค์กรไทยส่วนใหญ่ เชื่อว่าตลาดไทยจะเติบโตมากกว่าต่างประเทศ อัตราการเติบโตของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยอยู่ที่ 14-16% ต่อเนื่องทุกปี สูงกว่าต่างประเทศที่เติบโต 12% คือจะโตขึ้นแน่นอน”
ทุนสิงคโปร์บุกไทย
บริษัท เอสทีที จีดีซี ประเทศไทย นั้นเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทในเครือบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์เพื่อดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย” และ “เอสทีที จีดีซี” ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์จากสิงคโปร์บ้านเดียวกัน สำหรับศุภรัฒศ์
ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ถูกดึงตัวจากทรู ไอดีซี มานั่งเก้าอี้เป็นซีอีโอคนแรกของบริษัท บนภารกิจหลักในการนำทีมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยให้เติบโต โดยเทเงินทุน 7.3 พันล้านบาทปั้น “ดาต้าเซ็นเตอร์แคมปัสระดับไฮเปอร์สเกล” แห่งแรกในกรุงเทพมหานคร
จุดต่างของดาต้าเซ็นเตอร์แคมปัสระดับไฮเปอร์สเกลเมื่อเทียบกับดาต้าเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิม คือความสามารถในการขยายโครงข่ายเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้เต็มที่มากกว่า ประเด็นนี้ศุภรัฒศ์ระบุว่าเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานครมีดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นไฮเปอร์สเกล และมีแคมปัสซึ่งทำให้ทุกงานบริการดาต้าเซ็นเตอร์สามารถรวมศูนย์มาอยู่ในที่เดียว
“ในทางทฤษฎี ไฮเปอร์สเกลคือความสามารถขยายให้ใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีทางธุรกิจ เหมือนห้างที่รวมทั้งธนาคาร ศูนย์อาหาร และร้านค้าทุกอย่างไว้ทั้งหมด แต่นี่คือไฮเปอร์สเกลของดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้คลิกซื้อของและจ่ายเงินผ่านหลายบริการได้เร็วขึ้น เพราะแม้บริษัทเหล่านี้จะแยกเซิร์ฟเวอร์ แต่เมื่ออยู่ในแคมปัสเดียวกัน ก็จะทำให้ขยายระบบได้สะดวก ซึ่งดาต้าเซ็นเตอร์นี้ออกแบบเพื่อการขยายตัวไว้ในแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน”
ไฮเปอร์สเกล เลิศกว่าเดิม
4 ข้อดีของดาต้าเซ็นเตอร์แคมปัสระดับไฮเปอร์สเกลเมื่อเทียบกับแบบดั้งเดิม คือ 1. การคุ้มทุนกว่าในระยะยาว เพราะลูกค้าองค์กรสามารถซื้อบริการในราคาส่งได้ เช่นในต่างประเทศ มีการเช่าเหมาดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งอาคาร แต่ในไทยยังเช่าใช้เป็นห้อง ซึ่งจุดนี้บริษัทผู้ให้บริการก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเพราะมีรายได้ในระยะยาว
2. ราคาส่งจะช่วยยกระดับอีโคซิสเต็มในภาพรวม การเป็นแคมปัสจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตเพราะมีความรวดเร็วของบริการเพิ่มขึ้น 3. ความเป็นกลางที่ดาต้าเซ็นเตอร์ไฮเปอร์สเกลจะเข้าได้กับทุกค่ายบริการต่างแบรนด์ และ 4. การเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ไฮเปอร์สเกล จะมีลักษณะเหมือนสายการบินที่พร้อมเชื่อมต่อเส้นทางการบินเรียบร้อย เห็นได้ชัดจาก เอสทีที จีดีซี ที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วในจีน อินเดีย สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร การไม่ใช่แบรนด์ใหม่ทำให้บริษัทต้องการเชื่อมไทยให้เข้ากับเศรษฐกิจโลก
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตประมาณปีละ 14-16% ปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ตลาดเติบโตมาจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งธนาคารดิจิทัล ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจการสร้างและการบริโภคคอนเท้นต์ที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจวิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์ (Data science and analytics) ความสนใจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มากขึ้น รวมถึงนโยบายจากภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล
“ภารกิจหลักของเรา คือการทำให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตในตลาดประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่า การมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าเพื่อดึงดูดลูกค้า และการช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการบริการจะเป็นสิ่งที่เสริมให้ธุรกิจแข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันในตลาดได้”
ยังไม่ดีเดย์เริ่มเซ็นสัญญา
บริการศูนย์ข้อมูลระดับไฮเปอร์สเกลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแบบเป็นกลางแห่งนี้ มีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2564 โดยจะตั้งอยู่บนสุดยอดทำเลใจกลางกรุงเทพฯ ภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วยอาคารศูนย์ข้อมูลไฮเปอร์สเกล 2 อาคารด้วยกัน โดยอาคารหลังแรกได้รับการออกแบบบนพื้นที่รวมเกือบ 30,000 ตารางเมตร และมีมูลค่าการลงทุนศูนย์ข้อมูลในโครงการเฟสแรกมากกว่า 7 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างเฟส 1 นี้ จะแล้วเสร็จในปี 2564
สำหรับเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) นั้นเป็นผู้สนับสนุนและผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในไทยให้กับเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ จากแนวทางการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการเป็นเจ้าของ ผู้พัฒนา และผู้บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภทแบบครบวงจร วันนี้ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ หันมาร่วมทุน 51% ในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ โดย เอสทีที จีดีซี จะถือหุ้นในเอสทีที จีดีซี ประเทศไทย 49% ตามที่กฏหมายระบุ.