“เดอะ ฟินแล็บ” เผยผลสำเร็จโครงการ Smart Business Transformation ร่วมมือธนาคารยูโอบี ทรานฟอร์มองค์กรรับยุคดิจิทัล ชูโซลูชัน ติดอาวุธเอสเอ็มอีไทย ช่วยทำตลาดออนไลน์แบบง่าย พร้อมบริหารจัดการสต็อกสินค้า “อาร์ทตี้” แบรนด์เครื่องหนังไทย 1ใน 15 เอสเอ็มอี ต้นแบบ ปลื้ม โซลูชันเดอะ ฟินแล็บ ช่วยเสริมให้เกิดความสามารถในการรุกตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น เตรียมเปิดแบรนด์ช็อปปีหน้า
นายเฟลิกซ์ ตัน หัวหน้ากลุ่มงานร่วม เดอะ ฟินแล็บ จากประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ได้ดำเนินโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพกลุ่มธุรกิจกลุ่มเอสเอ็มอี ให้สามารถพัฒนาและเติบโตได้ในยุคดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 2 รุ่น ในประเทศสิงคโปร โดยคัดเลือกจาก 700 บริษัทใน 44 ประเทศ สำหรับรุ่นที่ 3 ของโครงการบ่มเพาะนี้จะเน้นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการปรับองค์กรเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัว รวมทั้งจับคู่เอสเอ็มอี กับผู้ให้บริการโซลูชั่นที่เหมาะสมและตรงความต้องการในการทำธุรกิจของกลุ่มเอสเอ็มอี ภายใต้ ชื่อโครงการ Smart Business Transformation ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2562 โดยธนาคารยูโอบี (ประเทศไทย) และเดอะ ฟินแล็บ ภายใต้การสนับสนุนจากองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งได้คัดเลือก 15 เอสเอ็มอีไทยเข้าร่วมโครงการ
เอสเอ็มอีทั้ง 15 รายได้รับการชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ และเทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญคือได้ทบทวนรูปแบบธุรกิจของตนเอง เพื่อวิเคราะห์หาโอกาสในการพัฒนาและกำหนดแผนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลในระยะยาว รวมถึงประเมินและประยุกต์ใช้โซลูชันนำร่องที่เดอะ ฟินแล็บคัดสรรมา
นายเฟลิกซ์ ตัน กล่าวว่า เอสเอ็มอี ได้เลือกใช้โซลูชันเพื่อจัดการความท้าทายต่างๆ ที่ประสบปัญหาอยู่ เช่น วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อรู้ใจลูกค้ามากขึ้น การทำตลาดโดยใช้ดิจิทัลช่วยในการเข้าถึงลูกค้า เพิ่มยอดขาย และสร้างวิธีการปรับปรุงประสิทธิภาพผ่านการปรับกระบวนการธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่ทางเดอะ ฟินแล็บได้จัดทำไปก่อนหน้านี้และพบว่า เอสเอ็มอีในประเทศไทยระบุว่ากลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโต 2 อันดับแรก คือ การรุกตลาดใหม่ 54% และการใช้การตลาดระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มยอดขาย 51%
“ปัญหาของเอสเอ็มอีไทยคือ ต้องการทำตลาดออนไลน์ ต้องการไปสู่อี-คอมเมิร์ซ แต่ยังไม่มีเครื่องมือในการบริหารจัดการงานหลังบ้าน เช่น งานด้านสต็อกสินค้า และ บัญชี ดังนั้นโซลูชันที่ใช้ ไม่ได้ใช้เพียงงานหน้าบ้านเท่านั้นแต่ต้องทำให้ระบบหลังบ้านมีความพร้อมด้วย การที่เอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการเมื่อจบโครงการแล้วจะเห็นผลสำเร็จหรือไม่ต้องใช้เวลาและขึ้นอยู่กับความพร้อมของเอสเอ็มอีด้วย ดังนั้นเอสเอ็มอีที่เราคัดเลือกต้องมีใจในการปรับเปลี่ยนแนวคิดรับยุคดิจิทัลรวมถึงมีแผนในการทรานฟอร์มองค์กรและพนักงานด้วย ”
ผลของโครงการทำให้เอสเอ็มอีได้เข้าใจธุรกิจของตนเองมากขึ้น และได้ใช้งานโซลูชันที่เหมาะกับตนเอง แม้ว่าขณะนี้โครงการได้สิ้นสุดลงแล้วแต่ก็ยังคงมีการปรึกษากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโซลูชั่นที่เป็นไฮไลท์สำหรับเอสเอ็มอีไทยได้แก่ ออฟฟิโอ โซลูชัน ช่วยให้สามารถทำวิดีโอได้เองแบบง่ายและรวดเร็วจากเดิมที่ต้องจ้างคนอื่นทำใช้เวลา 3 วัน เหลือเพียง 15 นาที โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างคนอื้นอีกต่อไป
ขณะที่ “แอนซันโต” โซลูชันด้านอี คอมเมิร์ซ ช่วยนำสินค้าขึ้นมาร์เก็ตเพลสและช่วยกระจายไปยังช่องทางออนไลน์ต่างๆหลายช่องทาง อีกทั้งยังมีการสรุปยอดขายจากหลายๆช่องทางได้พร้อมกันเพื่อสะดวกในการเช็คสต็อกสินค้า
“โครงการของเราเริ่มที่สิงคโปร์เป็นที่แรก จากนั้นก็มาที่ประเทศไทย และมาเลเซีย เรามองว่าทั้งสามประเทศนี้จะสามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันได้ ภายในการสนับสนุนของธนาคารยูโอบีและเดอะฟินแล็บ
*** อาร์ทตี้กรุ๊ปส์ ตั้งเป้าโกอินเตอร์
1 ใน 15 เอสเอ็มอี ที่ เดอะ ฟินแล็บเห็นความมุ่งมั่นและเป้าหมายที่ชัดเจนในการปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัลและต้องการรุกตลาดออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างจริงจัง คือ อาร์ทตี้กรุ๊ปส์ (Artty) ผู้ผลิตเครื่องหนังแบรนด์ อาร์ทตี้ โดยนางพฤทธิดา ศรีสันติสุข กรรมการผู้จัดการ เจ้าของแบรนด์ เล่าว่า อาร์ทตี้ เกิดจากการต่อยอดจากธุรกิจฟอกเครื่องหนังของครอบครัวสามีมาสู่การผลิตสินค้าทั้ง รองเท้า และ กระเป๋า เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ด้วยการรุกตลาดองค์กร บริษัท หน่วยงานราชการและโรงแรม 5 ดาว แต่เมื่อเริ่มรุกตลาดคอนซูเมอร์ด้วยการขายผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งไลน์ และ เฟซบุ๊ค กลับเจอปัญหาเรื่องสต็อกสินค้า ที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ทำให้พลาดออเดอร์ลูกค้าจำนวนมากเพราะไม่สามารถผลิตได้ทัน
เมื่อเข้าร่วมโครงการ อาร์ทตี้ ได้รับการสนับสนุนโซลูชันที่ใช้ในการปรับเปลี่ยนองค์กรประกอบด้วย บิสสมาร์ท โซลูชันจัดการธุรกิจครบวงจรที่จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการบริหารธุรกิจ โดยเป็นโซลูชั่นที่รวมการทำงานทุกส่วนของธุรกิจ เช่น ระบบจัดการข้อมูลพนักงานและจ่ายเงินเดือนอัตโนมัติ การทำบัญชี การจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงเหลือ เป็นต้น
บิสสมาร์ท เป็นโซลูชั่นที่รวมการทำงานทุกส่วนของธุรกิจ เช่น ระบบจัดการข้อมูลพนักงานและจ่ายเงินเดือนอัตโนมัติ การทำบัญชี การจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงเหลือ เป็นต้น และบิสสมาร์ท ยังช่วยให้ผู้ประกอบการได้ใช้ SAP Business One โซลูชันการบริหารจัดการ , HReasily โซลูชันด้านทรัพยากรบุคคล และ Enterpryze โซลูชันด้านการวางแผนระบบในการทำธุรกรรมต่างๆขององค์กร อาร์ทตี้กรุ๊ปส์ ใช้ซอฟต์แวร์การวางแผนบริหารทรัพยากรหลังบ้าน ( ERP – Enterprise Resource Planning) เมื่อดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบแล้วจะสามารถประหยัดเวลาได้ถึง 80% ที่ต้องใช้ในการจัดการสินค้าและการบริหารสินค้าคงคลัง
ขณะที่ เทลสกอร์ นำเสนอแพลตฟอร์มทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งใช้เทคโนโลยี AI และ machine learning โดยแบรนด์สินค้าและธุรกิจต่างๆ สามารถค้นหา อินฟลูเอนเซอร์ ที่เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์และทำงานกันได้โดยตรงบนแพลตฟอร์มนี้ อาร์ตี้กรุ๊ปส์จะใช้แพลตฟอร์มของเทลสกอร์ในการค้นหาอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อช่วยโปรโมทสินค้า วิธีการนี้จะช่วยทำให้แบรนด์และผลิตภัณฑ์ของอาร์ตี้กรุ๊ปส์เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมไปถึงแคมเปญการตลาดที่จะมีประสิทธิภาพดีขึ้น
ด้าน แอนชันโต นำเสนอโซลูชันด้าน e-commerce ให้ธุรกิจสามารถบริหารกิจกรรมทางการขายบนหลากหลายช่องทาง แอนชันโต จะทำงานกับอาร์ตี้กรุ๊ปส์เพื่อพัฒนาให้อาร์ทตี้สามารถบริหารมาร์เกตเพลสของตนพร้อมๆ กับเว็บไซต์ประเภทต่างๆ ได้บนแพลตฟอร์มการให้บริการเดียว ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความผิดพลาดของช่องทางการขายออนไลน์ของอาร์ทตี้ลง แอนชันโตยังช่วยให้อาร์ทตี้สามารถเจาะตลาดใหม่ได้ เพราะแอนชันโต จะมีการผสานรวมช่องทางเพื่อเข้าหาตลาดต่างๆ ในหลายประเทศ
นอกจากนี้ยังใช้โซลูชัน ออฟฟิโอ ในการสร้างวิดีโอด้วยตนเองทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการผลิตวิดีโอได้อย่างมาก ขณะที่วิดีโอที่ได้ออกมาคุณภาพระดับมืออาชีพและตรงกับความต้องการมากที่สุด
“การทรานฟอร์มต้องเกิดจากที่ตัวเราต้องการและมีเป้าหมายก่อน จากนั้นจึงค่อยบอกให้พนักงานทำ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ในช่วงแรกอาจจะยากแต่เมื่อใช้เป็น ปรับเปลี่ยนได้ เขาจะบอกว่าง่ายขึ้น โดยเฉพาะการนับสต็อกสินค้า เมื่อก่อนใช้เวลาหลายวันถึงจะรู้ว่าสินค้าหมวดไหนหมด ทำให้พลาดโอกาสและเราไม่รู้เลยว่ารองเท้าขนาดไหนขายดี แต่เมื่อมีโซลูชันเข้ามาช่วยนอกจากทำให้การเช็คสต็อกง่ายขึ้นแล้ว เรายังสามารถทำซีอาร์เอ็มกับลูกค้าเพื่อต่อยอดได้อีกด้ว
เมื่อ อาร์ทตี้ ได้ทรานฟอร์มองค์กรแล้ว จึงมีความพร้อมในการรุกตลาดอย่างจริงจัง ด้วยคุณภาพ ดีไซน์และราคาที่สามารถแข่งขันได้เพราะเป็นการทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำคือผลิตภัณฑ์หนังไปจนถึงปลายน้ำที่เป็นสินค้ารูปแบบต่างๆ หลังจากอาร์ทตี้พัฒนาหน้าเว็บไซต์รวมถึงแบรนด์ของตนเองให้สู่แบรนด์ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เรียบร้อยภายในเดือนธันวาคมนี้แล้ว เดือนมีนาคมปีหน้า อาร์ทตี้ ก็พร้อมจะเดินทางไปคุยกับพาร์ทเนอร์ที่ประเทศต่างๆเพื่อสร้างแบรนด์ ช็อป ของตนเอง ก่อนที่จะรุกไปในประเทศอื่นๆต่อไป รวมทั้งยังมีแผนในการสร้างแบรนด์ ช็อป ในประเทศไทยอีกด้วย
“ที่ผ่านมาเรามีลูกค้าต่างประเทศสนใจจำนวนมาก แต่เราไม่กล้ารุกตลาดอย่างจริงจังเพราะระบบหน้าบ้านหลังบ้านเรายังไม่พร้อม แต่ตอนนี้ทุกอย่างพร้อม เราจะลุยอย่างเต็มที่ในฐานะแบรนด์ของคนไทย ที่พร้อมจะโกอินเตอร์”