xs
xsm
sm
md
lg

Google, Temasek คาดปี 2568 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยแตะ 1.5 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กูเกิล (Google) และเทมาเส็ก (Temasek) จับมือวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อเนื่องปีที่ 3 ดึงเบนแอนด์คัมปานี (Bain & Company) เป็นพันธมิตรวิจัยหลักในรายงาน e-Conomy SEA 2019 พบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในปีนี้ (ราว 3 ล้านล้านบาท) โดยประเทศไทยจะเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 29% และคาดว่าจะเติบโตทะลุ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2568 หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันทั่วทั้งภูมิภาคนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น 360 ล้านคน เพิ่มขึ้น 100 ล้านคนจาก 4 ปีก่อน

โอกาสในการเติบโตของตลาดออนไลน์อาเซียนยังรออยู่อีกมหาศาล เพราะปัจจุบันยอดมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value: GMV) ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คิดเป็นเพียง 3.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา (6.5% ในปี พ.ศ. 2559)

รายงานนี้ยังคาดการณ์ว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตขึ้นถึง 3 เท่า แตะ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9 ล้านล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2568 เฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย จะมีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้หรือพ.ศ. 2562 (ราว 4.8 แสนล้านบาท)

ไทยใหญ่อันดับ 2

ประเทศไทยจะเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 29% และคาดว่าจะเติบโตทะลุ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2568 หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท

การท่องเที่ยวออนไลน์ (ธุรกิจจองโรงแรม ที่พัก และเที่ยวบิน) ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดและอิ่มตัวมากที่สุดในไทย โดยมูลค่าตลาด (Gross Bookings Value) ในปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 2.1 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 17%

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสำหรับประเทศไทย อีคอมเมิร์ซเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตเร็วที่สุด สถิติพบว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 54% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีมูลค่าแตะ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2562 (ราว 150,800 ล้านบาท) และ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2568 (ราว 542,880 ล้านบาท)

ในขณะที่สื่อออนไลน์ (โฆษณา เกม บริการติดตามเพลงและวิดีโอ) ในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 39% และคาดว่าจะมีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้หรือราว 9 หมื่นล้านบาท และทะลุ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2568 (ราว 2 แสนล้านบาท)

การเติบโตของสื่อออนไลน์ในไทยถูกวิเคราะห์ว่าเป็นผลจากการขับเคลื่อนโดยอัตราการใช้โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มวิดีโอที่สูงมากในหมู่ชาวไทย โดยบริการเรียกรถออนไลน์ (Ride Hailing) ในไทยมีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2562 หรือ 39,208 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 36% ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558

จับตาพื้นที่นอกเมืองใหญ่

ปัจจุบันเมืองใหญ่ 7 เมืองที่มีประชากรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 15% ของทั้งภูมิภาคกลับมีสัดส่วนการใช้จ่ายเกิน 50% ของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเขตเศรษฐกิจนอกเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตได้รวดเร็วกว่าเขตเศรษฐกิจในเมืองถึง 2 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งจะทำให้เกิดงานและโอกาสใหม่ ตลอดจนความต้องการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายงานของ Google, Temasek และ Bain & Company ย้ำว่าแม้เม็ดเงินลงทุนยังคงไหลเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่สตาร์ทอัปไทยยังคงขาดเงินทุนสนับสนุนในการจัดตั้งธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่คนไทยควรลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองเพื่อให้มีที่ยืนบนเวทีโลก.


กำลังโหลดความคิดเห็น