“จุรินทร์”เปิดงานประชุมสุดยอดด้านธุรกิจและการลงทุนของอาเซียน หนุนรับมือเศรษฐกิจดิจิทัล หลังกูเกิล เทมาเส็ก และเบน แอนด์ โค ประเมินอีก 6 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนจะเติบโตอีก 3 เท่า มูลค่า 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มั่นใจความร่วมมือภาครัฐและเอกชนอาเซียน จะทำให้อาเซียนรับมือความท้าทายได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงานงาน ASEAN Businesses and Investment Summit 2019 จัดโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า ขอแสดงความชื่นชมภาคเอกชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประชาคมอาเซียนไปสู่ยุค 4.0 หรือยุคดิจิทัล ซึ่งนับว่าเป็นวาระที่สำคัญและเหมาะสมกับช่วงเวลานี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในปัจจุบันคงไม่สามารถปฏิเสธได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างรวดเร็วที่ส่งผลให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้ในทุกที่และทุกเวลา และทำให้การติดต่อสื่อสารสามารถทำได้อย่างไร้ขีดจำกัดตลอดจน AI และหุ่นยนต์ก้าวเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยังส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้า การบริการ การบริโภค และการผลิต ซึ่งก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ แต่ในทางกลับกันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ก็ส่งผลให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทัน ต้องทยอยปิดตัวลงในทุกภูมิภาคของโลก
อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนมาในภูมิภาคอาเซียน เศรษฐกิจดิจิทัลมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2018 มีมูลค่าสูงถึง 7.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่มีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต คือ การขยายตัวของชนชั้นกลาง การเพิ่มขึ้นของประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ต รวมทั้งการปรับตัวของ SMEs ในภูมิภาคที่หันมาใช้ดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน มีสัดส่วนถึงร้อยละ 35 27 และ 16 ของ GDP ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนยังมีโอกาสเจริญเติบโตอีกมาก โดยการศึกษาจาก 3 บริษัทชั้นนำของโลกอย่าง Google , Temasek Holding และ Ben & Co พบว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือในปี 2025 เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน จะถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัว โดยมีมูลค่าสูงถึง 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
นายจุรินทร์กล่าวว่า อาเซียนตระหนักถึงบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจต่อประเทศสมาชิก จึงได้มีการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน เช่น การจัดทำข้อตกลงด้าน E-Commerce เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การจัดทำกรอบบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้า การคุ้มครองข้อมูล การพัฒนาระบบชำระเงิน การพัฒนาทักษะของบุคลากรและการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาธุรกิจ และการจัดทำแนวทางพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อการรับมือกับ 4IR ซึ่งภาคเอกชนโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนได้มีบทบาทในการผลักดันการทำแนวทางดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานรองรับอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตผ่าน Reskilling และ Upskilling แล้ว
“ความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนบรรลุเป้าหมาย และเชื่อมั่นว่าภายใต้ความร่วมมือนี้ จะทำให้เกิดความเข้มแข็งระหว่างรัฐกับเอกชน จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์และพร้อมรองรับความท้าทายจากการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเข้มแข็งและยังยืนต่อไป”นายจุรินทร์กล่าว