ส่องภาพรวมธุรกิจกลุ่มสามารถ หลังปีที่ผ่านมา 'สามารถ ดิจิตอล' (SDC) อยู่ในจุดต่ำสุด ก่อนเริ่มพลิกกลับมาสร้างรายได้ในปีนี้ เชื่อปีหน้าภาพรวมกลุ่มสดใส หลังมีงานในมือกว่า 9 พันล้านบาท ทำให้ในภาพรวมจะเป็นอีกปีที่ดีของกลุ่มสามารถ
วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์ของกลุ่มสามารถในปัจจุบันว่าจะสามารถทำรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือราว 1.8 - 2 หมื่นล้านบาท โดยรายได้หลักยังมาจากกลุ่มธุรกิจ SAMTEL ที่เริ่มทรานฟอร์มสู่การสร้างรายได้ระยะยาว
'ภาพรวมปีนี้ถือว่าค่อนข้างใช้ได้ เป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของกลุ่มสามารถ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปีที่ดีที่สุดแต่ดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ เยอะ โดยเฉพาะการกลับมาทำรายได้ที่เติบโตขึ้นของ SDC และมีแผนที่จะเข้าไปในธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตได้ในปีถัดๆไป'
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงานประมูลของภาครัฐในปีนี้ บางโปรเจกต์ล่าช้ากว่าที่เคยประมาณการไว้ เนื่องจากการพิจารณางบประมาณของรัฐบาลที่ล่าช้ากว่าปกติ เพราะตามปกติช่วงเดือนตุลาคมจะเข้าสู่ช่วงการประมูลงานสำหรับงบปี 2563 แล้ว แต่ในรอบนี้อาจจะเลื่อนไปประมูลช่วงต้นปี 2563 แทน
ในขณะที่งบของปี 2562 ก็ยังมีโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มประมูลอีก 2-3 งาน ทำให้ยังมีโอกาสที่จะเข้าประมูลโครงการรวมมูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาท ทั้งโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้านการเงินให้แก่กลุ่มลูกค้าธนาคาร โครงการของกรมสรรพสามิต และโครงการของกระทรวงมหาดไทย
ในปีนี้สายธุรกิจไอซีที ของสามารถเทลคอม (SAMTEL) ได้เข้าไปเปิดตลาดใหม่คือการลงทุนระบบไอทีหลักของลูกค้าธนาคาร โดยเฉพาะการติดตั้งระบบ Core Banking เนื่องจากทุกธนาคารต้องทำการทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล ทำให้เชื่อว่าธุรกิจไฟแนนซ์เชียลจะเป็นรายได้หลักอีกอันของกลุ่มนี้
ขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของ SAMTEL ที่เน้นสร้างรายได้จากการบริการ และบำรุงรักษาระบบในระยะยาว จะเริ่มเห็นชัดมากขึ้น จากที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2020 สัดส่วนรายได้จากการให้บริการหลังการขายจะขึ้นมาอยู่ที่ 50% จากปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 40% เรียบร้อยแล้ว รวมๆแล้ว เป้าหมายรายได้จากธุรกิจ SAMTEL ในปีนี้จะอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าในช่วงสิ้นปี มีการประมูลอีกก็จะทำให้รายได้ของ SAMTEL น่าจะสูงเกิน 1 หมื่นล้านบาท
'หลายๆ ธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐเริ่มสนใจนำเทคโนโลยีไปช่วย อย่างที่กรมสรรพสามิต กำลังจะเปิดประมูลโครงการคือ การสแกนโค้ดติดตั้งไปกับบรรจุภัณฑ์เพื่อตรวจสอบการชำระภาษีสุรา ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสของกลุ่ม SAMTEL'
ปัจจุบันงานของกลุ่มสามารถส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจที่มีสัดส่วนคิดเป็นมูลค่าราว 80% ในขณะที่องค์กรเอกชนจะอยู่ที่ราว 20% โดยจะเห็นว่าปัจจุบันเริ่มขยายไปในหลากหลายเซกเตอร์ เนื่องจากทุกคนอยู่ในช่วงทรานฟอร์ม ทั้งเอกชน และรัฐ พยามเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการนำระบบดิจิทัลเข้าไปบริหารงาน ทำให้มีการจัดสรรงบประมาณไอทีเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การให้บริการเอาท์ซอร์ส ในการดูแล และติดตั้งระบบไอที ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ระยะยาว โดยตั้งเป้าว่าจะมีการตั้งศูนย์บริการขึ้นในทุกๆ จังหวัด ซึ่งจะกลายเป็นจุดที่ทำให้สามารถได้เปรียบคู่แข่งในเรื่องของบริการหลังการขาย
'เชื่อว่าปีหน้าจะมีงานที่ต้องทำเยอะ การแข่งขันไม่ใช่เรื่องของราคา หรือความสัมพันธ์เหมือนที่ผ่านมาแล้ว แต่จะแข็งในเรื่องคุณภาพของบริการด้วย ดังนั้นการที่จะทำแล้วให้ได้เปรียบ ลูกค้าสบายใจ ที่สำคัญต้องมีคุณภาพ'
ในส่วนของการปรับตัวเพื่อสร้างรายได้ระยะยาวของกลุ่มสามารถ เป็นการเตรียมการเพื่อรับอนาคตกรณีที่ถ้าเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี บริษัทก็ยังมีรายได้เข้ามาจากการให้บริการหลังการขายอยู่
***ปูทาง SDC สู่การสร้างรายได้
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ 'วัฒน์ชัย' ห่วงที่สุดคงหนีไม่พ้น สามารถ ดิจิตอล(SDC) ที่เริ่มเข้าสู่การทรานฟอร์มธุรกิจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ผ่านจุดที่ทำรายได้ต่ำสุดไปแล้วในปีที่ผ่านมา และเริ่มเข้าสู่ธุรกิจใหม่ในปีนี้ ทั้งเริ่มสร้างรายได้ให้กลับมาเติบโต
'ปีนี้ SDC เริ่มเห็นรายได้แล้ว และตั้งเป้าว่าปีหน้ามีโอกาสที่จะสร้างรายได้ถึง 5,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มมีรายได้จากการให้บริการดิจิทัลทรังก์เรดิโอ ที่ในปีนี้ขายไปแล้วกว่า 9,000 เครื่อง สร้างรายได้หลักร้อยล้านบาท'
ที่ผ่านมา SDC ได้ลงทุนติดตั้งโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล และเสาโทรคมนาคม ในกรมอุทยานทั้งหลายไปแล้ว และเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากการให้บริการ พร้อมกับโอกาสในการให้บริการกลุ่มลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยในปีหน้า DTRS (Digital Trunk Radio) ยังมีกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมป้องกันสาธารณภัย อุทยานแห่งชาติทางทะเล กลุ่มผู้ประกอบการเดินเรือ โดยตั้งเป้าจำหน่ายไว้ประมาณ 6 หมื่นเครื่อง
'การนำ DTRS ไปใช้งาน ไม่ใช่แค่เพื่อติดต่อสื่อสาร แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการติดตามเรือนำเที่ยว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้เฝ้าระวัง และสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวได้ จึงเป็นการขยายตลาดการให้บริการ DTRS ไปในตัว'
นอกจากนี้ SDC ยังมีโครงการที่จะสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง อย่างการติดตั้งอุปกรณ์กระจายสัญญาณไวไฟทั่วประเทศ ของ Google Station ที่จับมือร่วมกับ กสท โทรคมนาคม ในการให้บริการ Google WiFi ตามพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนมีการใช้งานจำนวนมาก
โดยทาง SDC จะมีรายได้จากการเข้าไปหาพื้นที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ไวไฟ และดูแลรักษาระบบตลอดช่วง 5 ปี นับจากระยะเวลาติดตั้ง โดยในช่วงแรกตั้งเป้าติดตั้งไว้ 10,000 จุดภายในปี 2020 และจะขยายเพิ่มเป็น 30,000 จุดภายใน 3 ปีข้างหน้า
เบื้องต้น SDC ได้เข้าไปติดต่อกับทางสถาบันอาชีวะกว่า 428 แห่ง ที่จะทำให้สามารถให้บริการ Google Station ได้ประมาณ 2,000 จุดภายในสิ้นปีนี้ และสร้างรายได้ระยะยาวประมาณ 216 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
'ในปี 2020 ถ้า SDC ทำได้ตามเป้าที่วางไว้ก็จะเริ่มกลับมาสร้างรายได้รวมให้กลุ่มบริษัท เพราะปัจจุบันอยู่ในช่วงที่หาธุรกิจมาทดแทนแล้ว ถ้ามีรายได้มั่นคงระยะยาวมากขึ้น ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มสามารถแบบก้าวกระโดด'
*** U-Trans เร่งก่อสร้างสถานีไฟฟ้า
ในกลุ่มของธุรกิจพลังงาน และสาธารณูปโภค ถือเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างรายได้จากการที่มีโครงการต่อเนื่อง ทั้งโอกาสในการเข้าประมูลโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินอีกหลายเส้นทาง และธุรกิจใหม่ๆ ทางด้านพลังงานที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น
โดยเฉพาะในกลุ่มโรงงานไฟฟ้า ที่เร่งเข้าไปศึกษาการสร้างโรงงานไฟฟ้าอยู่ภายในบริษัท เทด้า เพราะได้มีการเซ็นสัญญาโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า และโครงการสายไฟฟ้าลงดิน รวมมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทแล้ว