กสทช. มีมติกำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถซื้อซิมได้สูงสุด 5 ซิมต่อค่าย หากเกินนั้น ต้องซื้อที่ศูนย์บริการโดยตรง และแจ้งให้สำนักงาน กสทช. ทราบ พร้อมมีมติให้ใบอนุญาตโทรคมนาคมแบบที่ 3 แก่บริษัท กรุงเทพธนาคม เพื่อเร่งในการจัดระเบียบสายสื่อสารนำลงดินโดยเร็วตามโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล และกำหนดเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 1800 MHz ให้ผู้ชนะการประมูลสามารถเลือกตำแหน่งของช่องความถี่ได้ตามความต้องการ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561 ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติให้มาตรการเพิ่มเติม สำหรับการลงทะเบียนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่าลงทะเบียนซิมโดยกำหนดดังนี้
1. ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย จะต้องควบคุมจำนวนการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กรณีบุคคลธรรมดา ให้มีจำนวนไม่เกิน 5 เลขหมายต่อหนึ่งผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ หากพบการลงทะเบียนผู้ใช้บริการเกินจำนวนที่กำหนดไว้ ต้องซื้อที่ศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น และให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายงานต่อสำนักงาน กสทช.
2. ให้มีข้อกำหนดในสัญญาระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับตัวแทนจำหน่ายที่มีหน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะตัวการตัวแทน ซึ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในทางแพ่งต่อผู้ใช้บริการ และบุคคลภายนอกในการกระทำของตัวแทนจำหน่ายด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช. ยังมีมติให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 แบบมีโครงข่าย อายุใบอนุญาต 15 ปี แก่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้บริการโครงข่าย โดยสามารถวางโครงข่ายระบบท่อ เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสาร นำสายลงดิน เพื่อให้กรุงเทพฯมีความเป็นระเบียบ ทัศนียภาพสวยงาม ซึ่งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สามารถใช้บริการเช่าท่อของ กทม. เพื่อให้บริการได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลที่ให้ดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งอาเซียน
นายฐากร กล่าวว่า มติเรื่องที่ 3 ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785/1835-1880 MHz ดังกล่าวได้กำหนดเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนการใช้คลื่น ในภาคผนวก ข กฎการประมูล ข้อ 3 กำหนดให้ ผู้ชนะการประมูลจะเป็นผู้เลือกย่านความถี่จากรูปแบบที่ กสทช. กำหนดตามลำดับของผลรวมในการเสนอราคาที่ชนะการประมูล
ผู้ชนะการประมูลที่มีผลรวมของการเสนอราคาสูงที่สุดจะได้เลือกย่านความถี่เป็นลำดับแรก ในกรณีที่มีผู้ชนะการประมูลที่มีผลรวมของการเสนอราคาเท่ากัน กสทช. จะใช้วิธีการจับสลากเพื่อกำหนดผู้ที่จะได้เลือกย่านความถี่ก่อน โดยย่านความถี่สำหรับผู้ชนะการประมูลแต่ละรายจะเป็นชุดคลื่นความถี่ที่อยู่ติดกัน ซึ่งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่จะเข้าร่วมการประมูลอยากให้สำนักงาน กสทช. ประกาศกำหนดเงื่อนไขในการที่จัดเรียงช่องคลื่นความถี่ดังกล่าว ให้มีความชัดเจน ก่อนที่จะมีการยื่นเข้าร่วมการประมูลในวันที่ 8 ส.ค. 2561 วันนี้ที่ประชุม กสทช. จึงได้มีมติในเรื่องดังกล่าว และให้สำนักงาน กสทช. ออกประกาศดังกล่าวต่อไป
สำหรับเงื่อนไขที่สำคัญที่ระบุเพิ่มเข้าไปมีดังนี้ 1. หากผู้มีสิทธิเลือกช่องความถี่ก่อน (ผู้ที่ชนะการประมูลด้วยการประมูลสูงสุด) เป็นผู้ที่ไม่ได้ถือครองคลื่นความถี่ 1800 MHz อยู่เดิม จะต้องไม่เลือกคลื่นความถี่ที่ทำให้ผู้ถือครองคลื่นความถี่รายเดิม และเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ที่เรียงติดกับคลื่นความถี่เดิมได้ 2. หากผู้มีสิทธิเลือกช่องคลื่นความถี่ก่อน เป็นผู้ที่ถือครองคลื่นความถี่ 1800 MHz เดิมอยู่ก่อนแล้ว และไม่สามารถเลือกช่องความถี่ใหม่ให้เรียงติดกับคลื่นความถี่เดิมได้ ให้ผู้ใช้งานคลื่นดังกล่าวสามารถย้ายการใช้งานคลื่นความถี่ตามสิทธิทั้งหมดไปยังช่วงความถี่ที่ว่างพอสำหรับตัวเองได้ และ 3. หลังจากผู้ชนะการประมูลเลือกช่องความถี่แล้วสำนักงาน กสทช. จะนำเสนอที่ประชุม กสทช. ให้ความเห็นชอบต่อไป