กลุ่มบริษัทซีดีจี ประกาศแนวทางธุรกิจในอนาคตหลังจากครบรอบ 50 ปี มั่นใจ 3 โซลูชันมาแรงที่จะทำเงินให้บริษัทมากที่สุดในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ คือ โซลูชันด้านการวิเคราะห์ข้อมูล โซลูชันด้าน IoT และโซลูชันด้านความปลอดภัย ความท้าทาย คือ การดันให้รัฐฯ มีแผนพัฒนาเป็นรูปธรรม รวมถึงการปรับกฎหมาย และบุคลากร คาดปีหน้า บริษัทจะเติบโตได้อีก 10% จากปีล่าสุดที่ทำรายได้มากกว่า 5,000 ล้านบาท
นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ซีดีจี เปิดเผยถึงหน่วยธุรกิจหลักที่จะผลักดันให้ ซีดีจี เติบโตยิ่งขึ้นในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ว่าจะเป็น 3 ใน 10 เทคโนโลยีที่บริษัทให้บริการอยู่ ได้แก่ เทคโนโลยีไอที, ระบบโซลูชัน, ระบบวิเคราะห์, เทคโนโลยีบลอกเชน, ระบบขนส่ง, บริการแอปพลิเคชัน, ระบบ GIS, โซลูชันเอาท์ซอร์ส, ระบบ IoT, โซลูชันเฉพาะทาง และระบบความปลอดภัย ซึ่งทั้ง 10 เทคโนโลยีนี้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองดิจิทัล เพื่อปูทางให้ประเทศไทยพัฒนาสู่ยุค 4.0 ได้สำเร็จ
“ถ้าให้ดูจาก 10 อย่าง ผมมองว่ามี 3 ส่วน หนึ่ง คือ โซลูชันวิเคราะห์ข้อมูล สอง คือ โซลูชัน IoT ซึ่งวันนี้ทำได้แล้ว และสาม คือ โซลูชันซีเคียวริตี และความเป็นส่วนตัว เราเห็นว่ายังมีช่องว่างอยู่สูงมาก และเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำ เนื่องจากเป็นช่องทางที่แฮกเกอร์เล่นได้ตลอด” นาถ ระบุ “ความท้าทายใน 5 ปีนับจากนี้ คือ ถ้ารัฐมีแผนที่จะทำ หรือหน่วยงานใดมีแผน จะดีมาก จะได้มีการเร่งทำให้การบริการประชาชนทำได้ดีขึ้น ซึ่งก็ต้องทำตาม 5 คีย์หลัก เรื่องปรับกฎหมาย และปรับบุคลากร ผมมองว่า เครื่องมือเรามีพร้อมแล้ว”
5 คีย์หลักที่ นาถ กล่าวถึง คือ สิ่งที่ซีดีจี มองว่าจะเป็นองค์ประกอบสู่เมืองดิจิทัล เพื่อให้ไทยสามารถยกระดับเป็นประเทศ 4.0 ได้สำเร็จ
“เมืองดิจิทัลจะสำเร็จได้ต้องข้อมูลต้องถูกต้อง และ 2. คือ ข้อมูลต้องเชื่อมกันได้ 3. การใช้กฎข้อบังคับต้องใช้อย่างจริงจัง 4. บางครั้งอาจต้องปรับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผมมองว่า บ้านเราลำบากมากในจุดนี้ เพราะมีหลากกฎหมายในหลายหน่วยงาน 5. หน่วยงานรับผิดชอบต้องมีความชัดเจน”
นาถ ระบุว่า ซีดีจี จะเน้น 5 แนวทางดำเนินการเพื่อให้บริษัทเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมไทยที่ดีขึ้น โดยทิศทางที่ซีดีจี วางแผนจะเดินต่อไปในอนาคตนี้ถูกประกาศในงานฉลองครบ 50 ปีบริษัท ตอกย้ำฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจรแก่หน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ
“เราจะพัฒนาความสามารถคนในซีดีจี ให้เต็มที่ 2. คือ เราจะดึงเทคโนโลยีใหม่มาแล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ 3. คือ เราจะต่อเชื่อม ช่วยให้การแชร์ข้อมูลภาครัฐเชื่อมเข้าด้วยกันให้ได้ ถามว่ายากไหม ต้องบอกว่ายาก เพราะที่ผ่านมา ข้อมูลของรัฐยังไม่ได้มาตรฐาน” นาถ ระบุ “4. คือ เราอยากให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้มากยิ่งขึ้น และ 5. คือ เราจะทำสิ่งที่ดีให้กับสังคม เราจะยึดในจุดนี้ต่อไป เราทำมาตลอด และจะทำต่อไป”
สำหรับ 50 ปีของซีดีจี ผลงานเด่นในช่วงที่ผ่านมา คือ การเป็นบริษัทผู้ริเริ่มจัดทำแผนที่ 1 ต่อ 1000 ครั้งแรกในประเทศไทย เป็นผู้จัดทำระบบนำทางรถเทคโนโลยีจีพีเอสยุคแรกบนรถยนต์ ขณะเดียวกัน ก็นำแผนที่มาช่วยวิกฤติสึนามิ ทั้งหมดนี้เป็นตามวิสัยทัศน์ตลอด 50 ปีของซีดีจี ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ชีวิตง่ายกว่าเดิม
“การแทรกแซงทางดิจิทัล หรือดิจิทัลดิสรับชัน เกิดกับเราเร็วมาก ถือว่าเกิดกับเราก่อนคนอื่น เราถือว่าเป็นบริษัทที่ตื่นตัวตลอดเวลา และพัฒนาเรียนรู้สิ่งใหม่ เรานำเอาสิ่งใหม่เข้ามาในงาน ร่วมกับหน่วยงานการศึกษา เชื่อมกับฐานลูกค้าให้ดีที่สุด”
เบื้องต้น นาถ ระบุว่า สัดส่วนรายได้หลักของบริษัทในวันนี้มาจากภาครัฐ 90% (รวมรัฐวิสาหกิจ) จุดนี้ไม่สามารถประเมินเม็ดเงินที่ภาครัฐเตรียมไว้ เพื่อลงทุนสู่การเป็นเมืองดิจิทัล เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลไทยตั้งงบประมาณเป็นวงจร หรือไซเคิล ทำให้ไม่เห็นภาพใหญ่ในขณะนี้.