xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีวราห์” จี้ออกหมายจับคนเกี่ยวเรือมรณะล่ม คร่า 47 ชีวิตชาวจีน ที่ภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไล่บี้พนักงานสอบสวน จ่อขอออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องเรือมรณะล่มกลางทะเล คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวจีน 47 ราย พร้อมสั่งสอบเพิ่มทำไม 27 ศพ ไม่สวมเสื้อชูชีพ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (13 ก.ค.) ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคือหน้าการสอบสวนดำเนินคดีกรณีเรือ “ฟีนิกซ์” ล่ม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 47 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งกรณีเรือ “เซเรนาต้า” ที่ประสบอุบัติเหตุเรือล่มเช่นเดียวกัน โดยประชุมร่วมกับตำรวจภูธรภาค 8 ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีเรือล่มทั้ง 2 ลำ

พล.ต.ท.ศรีวราห์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีนี้อย่างรัดกุม และจะต้องดำเนินการสอบสอบให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะต้องสอบสอบให้ครอบคลุมในทุกประเด็น

ทั้งในเรื่องของการตรวจพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งกองพิสูจน์หลังฐานได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบศพของผู้เสียชีวิต ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีประมาณ 27 ราย ที่ไม่มีเสื้อชูชีพติดตัว โดย พล.ต.ท.ศรีวราห์ ได้สั่งการให้พนักงานสอบปากคำทางเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน รวมทั้งเจ้าภูเก็ตในเรื่องของเสื้อชูชีพ

ส่วนเรือที่เกิดเหตุสั่งการให้พนักงานสอบสวนทำหนังสือถึงเจ้าของเรือให้นำเรือลำที่เกิดเหตุซึ่งเป็นของกลางมามอบให้แก่ทางพนักงานสอบสวน ซึ่งเรื่องนี้ทางตำรวจน้ำแจ้งว่า ในส่วนของเรือเซเรนาต้า ทางเจ้าของเรือกำลังอยู่ระหว่างการเร่งกู้ คาดว่าเร็วๆ นี้จะสามารถกู้ได้ ขณะที่ในส่วนของเรือฟีนิกซ์ก็จะมีการประสานกับทางเจ้าของเรือว่าจะกู้เองหรือไม่ ถ้าไม่กู้เองก็จะต้องเป็นในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับให้กู้เรือขึ้นมา โดยทางเจ้าของเรือจะต้องเป็นคนจ่ายค่าดำเนินการในการกู้เรือทั้งหมด ซึ่งในส่วนของเรือฟีนิกซ์คาดว่าจะใช้เวลากู้เรือประมาณ 10 วัน หลังจากเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ พร้อม

ขณะที่เรือสำคัญอีกเรื่องที่ทาง พล.ต.ท.ศรีวราห์ ได้สั่งการในการประชุมครั้งนี้ คือ การตรวจสอบในส่วนของอู่ต่อเรือฟีนิกซ์ ซึ่งวันนี้ได้ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการขอหม้ายค้นเข้าตรวจค้นอู่ต่อเรือธนวัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการต่อเรือ ฟีนิกซ์ ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงที่มาที่ไปของการต่อเรือ โดยย้ำให้สอบปากคำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นการต่อเรือ การตรวจสอบก่อนนำเรือไปใช้ เพราะการจะนำเรือออกไปใช้ได้จะต้องผ่านการตรวจสอบของหน่วยงานของกรมเจ้าท่าซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้

พล.ต.ท.ศรีวราห์ ยังได้ย้ำในเรื่องของการสอบปากคำพยาน ทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บ เด็กเรือ เจ้าของเรือ ผู้เห็นเหตุการณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน หากสอบไปแล้วพบว่าใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดจนเป็นเหตุให้เกิดเรือล่มในครั้งนี้จะต้องมีการดำเนินคดีกับทุกคน ซึ่งตอนนี้ในส่วนของเรือเซเรนาต้า ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว 2 ราย คือ กัปตันเรือ และผู้จัดการบริษัทที่สั่งปล่อยเรือ รวมทั้งได้มีการสอบปากคำพยานไปแล้ว จำนวน 24 ปาก โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยว 10 คน ส่วนนักท่องเที่ยวที่เหลือไม่ให้ความร่วมมือ บางส่วนเดินทางกลับไปแล้ว บางส่วนยังไม่พร้อม โดยทางพนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกงสุลก็ให้ประสานเรื่องนี้แล้ว

ส่วนกรณีเรือฟีนิกซ์ ขณะนี้ได้แจ้งข้อหาในส่วนของกัปตันเรือไปแล้ว และมีการสอบปากคำพยานไปแล้วหลายปาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเรือฟีนิกซ์ ทางรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งให้ทางพนักงานสอบสวนเร่งสอบสอบให้เสร็จโดยเร็ว และจะต้องขอออกหมายจับในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้ 1 ในนั้นคือ เจ้าของเรือลำที่เกิดเหตุ และจะต้องมีการดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะสอบไปถึงใครก็ตาม ถ้าเกี่ยวข้องก็จะต้องดำเนินคดีทั้งหมด

ขณะที่ผู้แทนจากสำนักงานเจ้าท่าภูเก็ต กล่าวชี้แจงในการประชุม ว่า อำนาจหน้าที่กรมเจ้าท่า คือ ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนเรือไทย ตาม พ.ร.บ.เรือไทย 2481 ทำหน้าที่เกี่ยวข้องการพิสูจน์การได้มาซึ่งเอกสารและคุณสมบัติของผู้มาจดทะเบียนเรือ กรณีเรือทั้ง 2 ลำ เมื่อคุณสมบัติได้รับการยืนยันจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักพัฒนาการค้า กระทรงพาณิชย์ที่มีนายทะเบียนรับจดแจ้งก่อนตั้งบริษัทนิติบุคคลให้มีความสามารถเต็มคุณสมบัติที่มาจดทะเบียนเรือตาม พ.ร.บ.เรือไทยได้

หากมีการปกปิด หรือซ่อนเร้นในสาระสำคัญของโครงสร้าง หรือมีผู้ถือหุ้นทดแทนกัน ก็เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนในฐานะเจ้าพนักงานของกระทรงพาณิชย์ ที่จะต้องออกพิสูจน์ทราบถิ่นที่อยู่ หรือการครอบงำกิจการนั้นๆ ซึ่งเจ้าท่าได้ถูกตัดออกจากอำนาจหน้าที่ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรงพาณิชย์ชัดเจน

2.การตรวจสภาพการใช้เรือ ทางกรมเจ้าท่า เรามีตำแหน่งเจ้าพนักงานตรวจเรือที่แยกออกมาจากนายทะเบียนเรือ มีวิศวกรต่อเรือ วิศวกรออกแบบ วิศวกรอนุมัติแบบ และเจ้าพนักงานผู้อนุมัติในการนำเรือไปใช้ได้อย่างปลอดภัยตามกฎข้อบังคับการตรวจเรือตามที่ 12 พ.ศ.2528 โดยในส่วนนี้จะดูเรื่องท่าเรือ ความปลอดภัยสิ่งล่วงล้ำลำน้ำว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และดูเรื่องคนประจำเรือว่ามีความสามารถ ศักยภาพวิชาชีพแห่งการเดินเรือ

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุสิ่งที่ทางกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการไปแล้วกับเรือทั้ง 2 ลำ คือ 1.เพิกถอนทะเบียนทั้ง 2 ลำ ยกเลิกใบอนุญาตใช้เรือทั้ง 2 ลำ งดใช้ประกาศนียบัตรผู้ทำการนายเรือ ตำแหน่งนายเรือ จำนวน 2 ปี ตามกฎหมายมาตรา 291 แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือน่านน้ำไทย ส่วนเรื่องการกู้ซากเรือเพื่อมาพิสูจน์ทราบและส่งพนักงานสอบสวนตาม ป.วิอาญาต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการกู้ซากเรือลำดังกล่าวคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณเกือบ 1 เดือน

เจ้าท่าเปรียบเสมือนปลายทาง แต่การไปพิสูจน์ทราบในชั้นต้นที่มาของต้นทาง อู่ต่อเรือ หรือ พ.ร.บ.โรงงาน หรือการต่อเรือ มีมาตรฐานในการประกอบเรือตามวิชาชีพของวิศวกร ตรงนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องประสานกับอุตสาหกรรมจังหวัด



กำลังโหลดความคิดเห็น