ศูนย์ข่าวภูเก็ต -เรือมรณะ “ฟีนิกซ์” ล่องทะเลไม่ถึงปี คร่าชีวิตชาวจีน 47 ศพ เผยที่มาต่อในอู่ที่ภูเก็ต ลงทะเลแค่เดือนเดียวต้องขึ้นคานปรับการทรงตัวเพราะเรือเอียง ถ่วงด้วยแท่งซีเมนต์หนัก 3 ตัน นักวิชาการยันทำได้ ขณะอู่ยันได้มาตรฐาน
จากกรณีเกิดเหตุเรือล่ม ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในเรือลำที่ประสบเหตุ คือ เรือ ฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นเรือของบริษัท ทีซี บลู ดรีม ที่มีนางสาววรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล เป็นเจ้าของ มีความสูง 4 ชั้น บรรทุกผู้โดยสารได้ 120 คน ภายในตกแต่สวยหรู ที่ฝ่าคลื่นมรณะจะกลับเข้าฝั่ง พร้อมด้วยนักท่องเที่ยวและลูกเรือกว่า 100 ชีวิต แต่สุดท้ายไม่สามารถโต้คลื่นได้สำเร็จ ถูกซัดจมทะเล จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และ สูญหายจำนวน 47 ราย และ มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก แล้วสาเหตุของเรือล่มครั้งนี้เกิดจากอะไร เป็นคำถามที่ทุกคนอยากได้คำตอบ ว่า เกิดจาก อุบัติเหตุ ความประมาท หรือ เรือไม่ได้มาตรฐาน
จนเป็นที่มาของการลงพื้นที่ตรวจสอบที่มาของเรือ “ฟีนิกซ์” จากการตรวจสอบพบว่า เรือ “ฟีนิกซ์” เป็นเรือที่ต่อขึ้นที่ อู่ ธนวัฒน์ เอ็นจิเนียร์ริ่ง ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต หลังลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยทีมงาน พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน และ พ.ต.อ.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รองผบก.ทท.2 ร่วมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากกรมเจ้าท่า เข้าตรวจสอบ โดยมีเจ้าของบริษัทร่วมให้ข้อมูล
โดยจุดแรกที่ คณะเดินทางไปถึง พบว่าเป็นสถานที่ ที่บริษัท ธนวัฒน์ เอ็นจิเนียร์ริ่ง ใช้เป็นสถานที่ต่อเรือ “ ฟีนิกซ์” ตั้งอยู่ที่คานเรือสิริกิจ ทางเข้าท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลา ต.รัษฎา จ.ภูเก็ต จุดดังกล่าวเป็นพื้นที่โล่งๆ ซึ่งจากการสอบถามทราบว่าสถานที่แห่งนี้เป็นเพียงพื้นที่ว่าง ที่ทางบริษัทมาเช่าเพื่อใช้ในการต่อเรือเท่านั้น และ ไม่ใช่เฉพาะในส่วนของ อู่ธนวัฒน์ฯ ที่มาเช่าพื้นที่ดังกล่าวในการต่อเรือ แต่พบว่ายังมีอู่ อื่นๆที่นำเรือมาขึ้นคานเพื่อซ่อมเรือ และต่อเรืออีกด้วย
หลังจากนั้นได้เดินทางต่อไปยังแพแสงนอก ซึ่งเป็นจุดจอดเรือคู่แฝดกับเรือฟีนิกซ์ ที่ขณะนี้ต่อไปได้แล้ว 70 % เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบเชื่อมโยงกับเรือฟีนิกซ์ ที่จม เนื่องจากเรือลำดังกล่าวเป็นเรือที่ต่อจากอู่เดียวกัน พบว่าเรือลำดังกล่าวมีขนาดความกว้าง 8.5 เมตร ยาว 37 เมตร บรรทุกผู้โดยสารได้ 120 คน
ขณะที่ในส่วนของนายจิรวัฒน์ กูรมะกนก เจ้าของอู่ธนวัฒน์ เอ็นจิเนียร์ริ่ง กล่าวว่า ถ้าพูดถึงอู่ต่อเรือในภูเก็ต อู่ของตนถือว่าเป็นอู่ที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของจังหวัดภูเก็ต มีประสบการณ์ทำงานด้านต่อเรือมายาวนานถึง 40 ปี ตั้งแต่รุ่นพ่อ จนมาถึงรุ่นตน ที่ผ่านมามีการต่อเรือมาแล้วหลายลำ ส่วนใหญ่เป็นเรือประมง เรือขนส่งสินค้าในทะเลอันดามัน เรือบางลำเป็นเรือขนาดใหญ่มาก เรามีอู่ต่อเรือและออฟฟิสอยู่บริเวณท่าเทียบเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต
ส่วนเรือฟีนิกซ์ เป็นเรือท่องเที่ยวลำแรกที่ทางบริษัทต่อขึ้นมา ยืนยันว่าเรือลำนี้เป็นเรือต่อขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่เรือเก่าแล้วเอามาทำใหม่ แต่เป็นเรือที่ต่อขึ้นมาใหม่ทั้งลำ โดยทางบริษัทได้ว่าจ้างให้อู่ของตนต่อเรือลำนี้ขึ้นมาในราคา 11 ล้าน บาท ไม่รวมระบบการตกแต่งภายใน ใช้เวลาต่อเรือประมาณ 1 ปี และเสร็จส่งมอบให้กับลูกค้าเมื่อปี 2560 ซึ่งผ่านการการตรวจสอบจากกรมเจ้าท่าเรียบร้อย
หลังจากนั้นทางบริษัทให้สั่งให้ทางอู่ต่อเรืออีก ลำ ซึ่งเป็นการต่อเรือตามแบบพิมพ์เขียวของทางบริษัทที่ส่งมาให้ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการต่อ เป็นเรือคู่แฝดกับเรือ ฟีนิกซ์ แต่มีขนาดใหญ่กว่า กว้าง 8.5 เมตร ยาว 37 เมตร บรรทุกผู้โดยสารได้ 120 คน ซึ่งทางเจ้าของต้องการที่จะให้ต่อเรือที่มีความโอ่โถงสะดวกสบาย โดยลำนี้มีการตกลงว่าจ่างกันที่ราคา 11 ล้านบาทเช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องระบบภายในยังไม่ได้มีการพูดถึงว่าจะต้องมีการตกแต่งแบบไหนอย่างไร ขณะนี้สามารถต่อไปได้แล้ว 70 %
อย่างไรก็ตามถ้าพูดถึงประสบการณ์ในการต่อเรือ ทางอู่มั่นใจว่าเรามีมาตรฐานในการต่อเรือ เพราะที่ผ่านมาได้มีการต่อเรือให้กับหน่วยงานราชการ ทั้งกรมประมง กรมเจ้าท่ามาแล้วหลายลำ นอกจากนั้นยังมีการซ่อมเรือ ทำทุ่นเหล็กสำหรับทำปะการังเทียมด้วย จึงมั่นใจว่าการทำงานมีมาตรฐานอย่างแน่นอน และการต่อเรือเป็นการต่อตามแบบที่เจ้าของเรือกำหนดมาในแบบพิมพ์เขียว ส่วนเรื่องอุปกรณ์ในเรือ ไม่ว่าจะเป็นกระจก หรือวัสดุอื่นๆก็เป็นวัสดุที่ได้มาตรฐานเพราะผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการก่อนที่จะนำเรือออกไปให้บริการนักท่องเที่ยว
ขณะที่ พ.ต.อ.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รองผบก.ทท.2 กล่าวว่า จากการตรวจสอบร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ โดยการเปรียบเทียบกับเรือที่กำลังต่อ และสภาพแวดล้อม มองว่า เป็นโรงงานต่อเรือเล็กๆ ในพื้นที่ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต สำหรับเรือฟีนิกซ์ เป็นเรือท่องเที่ยวลำแรกที่ต่อโดยบริษัทนี้ ซึ่งเป็นเรือโครงสร้างเหล็ก มีใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่า จดทะเบียนเมื่อปี 60 โดยการต่อเรือต่อตามแบบพิมพ์เขียวที่บริษัทเจ้าของเรือเป็นคนสั่ง
แต่ที่น่าสังเกตเรือลำนี้ราคาจ้างต่ออยู่ที่ 11 ล้าน เมื่อลงไปดูโรงงานพบว่าเป็นพื้นที่ว่างเปล่า เป็นคานเรือที่เช่าต่อเรือ โดยใช้แรงงานในพื้นที่ จากการตรวจพิมพ์เขียวพบว่าพบว่าเรือมีผนังกั้นน้ำไม่เพียงพอ เรือมีความยาว 29 เมตร ต้องมีผนังกั้นน้ำ 4 ช่อง แต่เรือลำน้ำมีเพียง 2 ช่อง
นอกจากนั้นประตูผนึกน้ำไม่ได้มาตรฐาน และจำนวนไม่เพียงพอ ส่วนเครื่องยนต์เรือ ดูจากทะเบียนเรือพบว่าเป็นเครื่องยนต์ ฮีโน่ เป็นการนำเครื่องยนต์รถมาปรับแต่ง โดยมี 2 เครื่องยนต์ รวมแรงม้าแล้วอยู่ที่ 730 แรงม้า สามารถวิ่งได้ 11 -12 น๊อต ซึ่งแรงม้าน้อยไปในการที่จะนำเรือไปชนและหนีคลื่นใหญ่ๆ ได้ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้
นอกจากนั้นเรือลำดังกล่าว เมื่อต่อเสร็จและนำมาใช้ ได้ 1 เดือน พบว่าเรือมีอาการเอียง ทางอู่ต่อเรือก็ได้แก้ไขด้วยการนำแท่งปูนซีเมนต์ประมาณ 3 ตันมาถ่วงใต้ท้องเรือ เพื่อให้เรือทรงตัวได้ ส่วนวัสดุอื่น การเชื่อมเหล็ก ไฟส่องสว่าง และอื่นๆ จะต้องรอตรวจสอบหลังจากมีการกู้เรือว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่
ขณะที่นักวิชาการจากกรมเจ้าท่า ระบุ ขนาดเครื่องยนต์ 730 แรงม้า สามารถสู้คลื่นในเวลาปกติได้ แต่ถ้าคลื่นใหญ่แรงส่งอาจจะไม่เพียงพอ ส่วนกรณีการนำแท่งปูนซีเมนต์ถ่วงในท้องเรือเพื่อให้เรือสามารถทรงตัวได้นั้น ในทางปฏิบัติสามารถทำได้ แต่จะต้องมีการคำนวณที่ถูกต้อง และแท่งปูนจะต้องไม่ขยับออกจากจุดที่วางไว้เด็ดขาด