xs
xsm
sm
md
lg

MFEC ดึงแมชชีนเลิร์นนิงเตือน 15 นาทีก่อน “แอปล่ม” ฝัน 1 ปี ทำเงินเพิ่ม 500 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ธนกร ชาลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือเอ็มเฟค
เอ็มเฟค (MFEC) ปรับกลยุทธ์หวังกระโดดไกลในปีที่ 21 ยอมรับ 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้อง “ย่อ” ก่อนกระโดด เพราะรายรับบริษัทลดลงเป็นเลข 1 หลักจากภาวะฐานลูกค้าภาครัฐหดหาย และบริษัทเทลโค หันมาให้บริการระบบไอทีเสียเอง ล่าสุด MFEC เบนเข็มมาลุยโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยการพัฒนาระบบขึ้นใหม่ ดันเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงมาช่วยทำนาย และแจ้งเตือนล่วงหน้า 15 นาทีก่อนที่แอปพลิเคชันจะล่ม คาดระบบนี้จะโดนใจกลุ่มองค์กรใหญ่ที่เสี่ยงธุรกิจเสียหายหากเกิดวิกฤตแอปล่ม จนทำเงินเพิ่ม 500 ล้านบาทตลอดปีนี้ถึงปีหน้า ดึงให้รายได้รวม MFEC ให้กลับมาบวกอีกครั้ง

ธนกร ชาลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเฟค (MFEC) ระบุว่าวันนี้บริษัทมีจุดยืนเป็นผู้ให้บริการงานไอทีครบวงจร ซึ่งเป็นการปรับตัวหลังจากธุรกิจติดตั้งระบบไอที หรือ เอสไอ (System Integrater) เริ่มชะลอตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยหนึ่งในการปรับรูปแบบธุรกิจที่ดำเนินการแล้วในขณะนี้ คือ การพัฒนาระบบชื่อเอ็มดีเฟนซ์ (mDefence) ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการวิเคราะห์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้จากข้อมูลในเครือข่าย

“โซลูชันนี้ไม่มีใครทำ เราทำเจ้าแรกของประเทศไทย ในต่างประเทศก็ยังไม่เคยเห็น แมชชีนเลิร์นนิงถือว่าใหม่ แม้จะใช้มานานแล้วในการทำระบบวิเคราะห์ แต่ยังไม่มีการใช้ในมุมองค์กรที่เน้นเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ และแอปพลิเคชันที่มีความสำคัญกับธุรกิจ”

จุดเด่นของ mDefence คือ องค์กรจะได้เห็นปัญหาก่อนเกิดจริง ระบบจะคาดเดาได้ว่าอีกไม่นานไฟสถานะความเรียบร้อยของทราฟฟิกในแอปพลิเคชันจะเปลี่ยนเป็นสีแดง บริการใหม่ที่ MFEC พัฒนาขึ้นมาเองนี้ต่อยอดจากระบบเททเทรชัน (Tetration) ของซิสโก้ ซึ่งเป็นระบบที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล ซึ่งวิ่งไปมาในเครือข่าย ส่วนที่เพิ่มเติมคือระบบคาดเดาที่สามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้จากประวัติการเกิดปัญหาในเครือข่ายที่เก็บได้

ธนกร อธิบายว่า ข้อมูลที่วิ่งในเครือข่ายองค์กร อาจมีลักษณะเหมือนกับเหตุที่เคยเกิดขึ้นจนทำให้ระบบล่มใน 5 นาทีต่อมา หากตรวจพบ ระบบจะแจ้งเตือนให้องค์กรสามารถป้องกัน หรือรับมือล่วงหน้าได้ โดยยืนยันว่าการวิเคราะห์ทำได้แม่นยำ เพราะใช้ศาสตร์หลายแขนง รวมถึงความชำนาญในเซอร์วิสที่บริษัทมี จะทำให้เกิดความแตกต่างจากระบบดูแลทราฟฟิกแอปพลิเคชันอื่น

ธนกร ย้ำว่า ไม่สามารถเปิดเผยจำนวนผู้ทดลองใช้บริการได้ในขณะนี้ เพราะเพิ่งพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ เบื้องต้น มองกลุ่มเป้าหมายเป็นองค์กรใหญ่ทุกราย เนื่องจากกลุ่มนี้วิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลได้ยากลำบาก และเป็นธุรกิจที่เสี่ยงได้รับความเสียหายมากหากแอปพลิเคชันล่ม ได้แก่ กลุ่มธนาคาร ที่ลูกค้าจะใช้บริการไม่ได้หากแอปพลิเคชันล่ม หรือบริษัทประกันภัยที่ตัวแทนขายฯ อาจพลาดลูกค้าหากแอปล่มทั้งประเทศ

“ต้นทุนการพัฒนาไม่ถึง 10 ล้านบาท เราใช้ทีมงานภายในบริษัทพัฒนาขึ้น mDefence ใช้ศาสตร์หลายด้านทั้งด้านธุรกิจ ผู้ดูแลระบบ และฝ่ายงานพัฒนาแอปพลิเคชัน” ธนกร ระบุพร้อมย้ำว่า mDefence ไม่ใช่ระบบแรกที่บริษัทพัฒนาขึ้น “ก่อนหน้านี้เรามีดาต้าคลินซิ่ง เราบอกไม่ได้ว่า สินค้าไหนได้ผลกับตลาดเท่าไหร่ แต่ mDefence คาดว่าจะเห็นผลการตลาดชัด เพราะทำงานบนคอร์ขององค์กรขนาดใหญ่ ถ้าเอาไปใช้จะเห็นโอกาสอื่นเพิ่มอีกมาก เช่น ระบบนี้อาจพบปัญหาที่ช่วยให้ MFEC สามารถเสนอขายโซลูชันอื่นได้เพิ่ม รายได้เหล่านี้จะตามมา คาดว่าจะสร้างยอดขาย 500 ล้านบาทในปีนี้ และปีหน้า”

รายได้ 500 ล้านบาทที่จะเพิ่มขึ้นนี้คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ของรายได้รวมเฉพาะ MFEC ที่มีมูลค่าราว 2,000-3,000 ล้านบาทในปี 2017 (ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือทำรายได้รวม 3,200 ล้านบาทในปี 2017 ที่ผ่านมา) อย่างไรก็ตาม MFEC ระบุว่า ราคาเริ่มต้นของบริการ mDefence ไม่ตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กรที่ต้องการใช้บริการ ขณะที่อนาคต mDefence อาจให้บริการในรูประบบเช่ารายเดือนโดยคำนวณจากปริมาณดาต้าบนเครือข่าย

นอกจากนี้ จุดสังเกตของ mDefence คือ ปริมาณดาต้าในเครือข่ายต้องมีมากพอ เนื่องจากระบบต้องสร้างสมมุติฐาน ต้องปรับให้ระบบแม่นยำขึ้นต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยูกับปริมาณ และเคสปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งระบบจะทำงานต่างกันสำหรับเคสปัญหาที่ 10 ปีเกิด 1 ครั้ง หรือเคสที่มักเกิดขึ้นทุกสัปดาห์โดยเฉลี่ย ระบบสามารถแจ้งเตือนก่อนเกิดปัญหาจริงช่วง 15-30 นาที สามารถส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนผู้ดูแลระบบได้

“ธุรกิจสายการบินก็เป็นลูกค้าเรา แต่การใช้ในระบบคมนาคมยังไม่มั่นใจ เพราะขึ้นอยู่กับข้อมูลในเครือข่าย” ธนกร กล่าวแบ่งรับแบ่งสู่ถึงความเป็นไปได้ในการใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้านี้กับระบบรถไฟฟ้าในไทย โดยยืนยันว่าระบบจะให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาต่างกันไปตามธุรกิจ ซึ่งจะใช้ข้อมูลประวัติการแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับแอปพลิเคชันนั้น ร่วมกับคำแนะนำด้านจัดการข้อมูลจากวิศกรของบริษัทด้วย

*** ไม่มีลูกค้าภาครัฐแล้ว?

mDefence ยังถูกมองว่าจะเป็นจิ๊กซอว์ที่จะเตือนให้องค์กรลงมือบำรุงรักษาระบบเพื่อตัดความเสี่ยง ซึ่งจะเพิ่มช่องทางให้ MFEC มีช่องทางเพิ่มรายได้ต่อเนื่องในอนาคต จุดนี้ ธนกร ย้ำว่าจะเริ่มทำตลาดที่ลูกค้ากลุ่มหลักของบริษัทก่อน ซึ่งวันนี้กลุ่มที่เติบโต คือ ธนาคาร โรงพยาบาล และธุรกิจประกันภัย ไม่ใช่บริษัทโทรคมนาคม หรือองค์กรรัฐที่ “ไม่ค่อยได้ทำแล้ว”

“ที่โตคือธนาคาร และประกัน กำลังเพิ่มในส่วนรีเทล และโรงพยาบาล เพราะเป็นกลุ่มที่ลงทุนเพิ่ม โรงพยาบาลลงทุนเพิ่มสูง เช่นเดียวกับตลาดประกันภัยที่เติบโตเพราะสาเหตุเดียวกัน ขณะที่ธนาคารลงทุนเพิ่มเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะต้องแข่งขัน” ธนกร ระบุ “ตอนนี้โอเปอเรเตอร์ทำตัวเป็นเอสไอ สร้างบริการคลาวด์ และอีกหลายบริการเพิ่มจากเครือข่ายเดิมที่มี MFEC จึงปรับตัวหลังจากทำธุรกิจมานาน 21 ปี ด้วยการพยายามที่จะสร้างสินค้าของตัวเอง ผันตัวสู่ธุรกิจที่สามารถทำรายได้ต่อเนื่องทุกปี จากลูกค้าที่มีอยู่ในมือ”

นอกจาก mDefence บริษัทได้จับมือกับบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมไอที สร้างธุรกิจกับพันธมิตรใหม่ที่นำไอทีเข้าไปเสริม โดยต้นปีที่ผ่านมา MFEC ได้ร่วมมือกับสื่อด้านกีฬาอย่างสยามสปอร์ต พัฒนาแอปพลิเคชันจำหน่ายตั๋วชมอีเวนต์หลากหลาย ซึ่งมีแผนพัฒนาไปสู่บริการอีเวนต์ออนไลน์ เพื่อให้ผู้อาศัยนอกพื้นที่ กทม. สามารถร่วมรับข้อมูลจากอีเวนท์ได้จากแอปพลิเคชันโดยไม่ต้องเดินทาง ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบธุรกิจหลากหลายที่บริษัทกำลังปลุกปั้นในระยะยาว

ขณะเดียวกัน MFEC ใช้วิธีดึงคนเก่งสร้างเครือข่ายเพื่อต่อยอดธุรกิจบริษัท โดยปีนี้มีการรับพนักงานเพิ่มเกิน 100 คน จากปกติ 20-30 คนต่อปี ขณะนี้บริษัทมีพนักงานรวมทั้งหมดเฉพาะ MFEC ราว 1,200 คน.


กำลังโหลดความคิดเห็น