xs
xsm
sm
md
lg

IoT อาเซียน-อินโดจีนโตแรง “เดลล์ อีเอ็มซี” ควง “วีเอสทีฯ” บุกตลาดคึกคัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากซ้าย สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วีเอสที อีซีเอส, เออร์วิน เมเยอร์ ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเอเชียใต้ เดลล์ อีเอ็มซี โออีเอ็มแอนด์ โซลูชัน IoT และอโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน
ตอกย้ำตลาดโซลูชันอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือ IoT ปีนี้แรงสุดขีดทั่วอาเซียน และอินโดจีน ทั้งไทย, กัมพูชา, ลาว และพม่า ล่าสุด “เดลล์ อีเอ็มซี” ควง “วีเอสที อีซีเอส” ประกาศความร่วมมือเป็นพันธมิตรเจาะตลาดองค์กรธุรกิจทั้งกลุ่มน้ำมันและก๊าซ ภาคการผลิต สุขภาพ และการเกษตร ประเมินตลาดอินโดจีนโตแรง โดยเฉพาะพม่า ที่มีบรรยากาศการลงทุนคึกคักเหมือนไทยช่วง 30 ปีก่อน เป็นห่วงเกษตรไทยลงทุน IoT น้อยกว่าเพื่อนบ้าน อาจทำให้ไทยเสียเปรียบการแข่งขันครัวโลก

อโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน ให้สัมภาษณ์ว่า เดลล์อีเอ็มซี เริ่มทำธุรกิจ IoT ตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีนี้บริษัทจะขยายบริการผ่านช่องทางจำหน่ายเต็มที่ คาดว่าอัตราการเติบโตจะเป็นไปตามเทรนด์ที่การสำรวจพบ คือ เพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว

“สถิติที่สำคัญของตลาด IoT ไทย คือ เม็ดเงินการลงทุนจาก 57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2014 จะเพิ่มเป็น 1 พันล้านเหรียญ (สหรัฐฯ) ในปี 2020 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า” อโณทัย กล่าว “ในตลาดอินโดจีน ตลาดที่ใหญ่ที่สุด คือ ไทยแน่นอน รองลงมา เป็นเวียดนาม, เขมร, พม่า และลาว”

สำหรับบริการ IoT ของเดลล์อีเอ็มซีนั้น ไม่ได้ครอบคลุมส่วนผลิตเซ็นเซอร์ IoT แต่เน้นดูแลระบบ IoT และระบบฝังตัวที่อยู่ตรงกลางระหว่างอุปกรณ์ถึงส่วนกลางที่เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ (Core) และต่อไปยังคลาวด์ (cloud) โดยกรอบการทำงานที่เดลล์ อีเอ็มซี ดำเนินการร่วมกับลูกค้าในปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 หลักใหญ่ เพื่อให้ธุรกิจสามารถต่อยอดการลงทุนระยะยาว

“ในแง่ IoT เรามีผลิตภัณฑ์ที่ครบ เราจะแนะนำธุรกิจให้มอง 3 ส่วน คือ 1. เริ่มจากจุดเล็ก แล้วจึงค่อยขยายไปตามธุรกิจ การทำแบบนี้จะลดต้นทุนและสามารถเห็นผล รองรับความต้องการใหม่ขึ้นได้ 2. ต้องวางสถาปัตยกรรมให้รองรับการวิเคราะห์ขั้นสูง หลายองค์กรพบปัญหาเก็บข้อมูลขึ้นคลาวด์ทุกอย่างแล้วทำอย่างไรต่อ ข้อมูลบางส่วนใช้ไม่ได้ ค่าคลาวด์แพง 3. เน้นความปลอดภัยข้อมูล ถ้ามองข้ามไปตั้งแต่วันแรก ธุรกิจจะมีความเสี่ยงเสียหายมหาศาล”

ผู้บริหารเดลล์ อีเอ็มซี ย้ำว่าจะจำหน่ายโซลูชัน IoT ผ่านชาเเนล คือ วีเอสทีฯ 100% ธุรกิจเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจขนส่ง และห้องเย็น ยังมีอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ธุรกิจดูแลสุขภาพ การเกษตร และโครงการเมืองปลอดภัย (Safe City) ซึ่งเดลล์อีเอ็มซี เพิ่งทำข้อตกลงกับรัฐบาลเวียดนามในฮานอย ทำโครงการสมาร์ทซิตี้ คาดว่าจะมีอีกหลายเมืองในเอเชียที่จะถูกยกให้เป็นศูนย์ IoT ในอนาคต
สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วีเอสที อีซีเอส
สำหรับวีเอสทีฯ หรือวีเอสที อีซีเอส (VST ECS) มีชื่อเดิม คือ บริษัท เดอะแวลลูซิสเตมส์ จำกัด ปัจจุบันเป็นบริษัทหนึ่งในเครือของวีเอสที อีซีเอสกรุ๊ป ประเทศฮ่องกง ซึ่งการันตีตัวเองว่า ผู้นำด้านการจัดจำหน่ายสินค้าไอทีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายกว่า 35,000 รายกระจายอยู่ในประเทศจีน, ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, พม่า และลาว

สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วีเอสทีฯ กล่าวว่า บริษัทจะนำผลงานนักพัฒนาไทยมาเพิ่มในโซลูชันของเดลล์อีเอ็มซีแล้วขาย ตอนนี้มีการจัดตั้งเครือข่ายพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ (ISV) 40 ราย คาดว่าจะคัดเหลือ 20 เพื่อทำตลาด

“เราเป็นมาร์เกตเพลส เรามีซอฟต์แวร์บางตัวที่จะเพิ่มเข้าไปให้บริการบริษัทท้องถิ่น มีทีมขาย มีความเชี่ยวชาญ เชื่อว่าจะขยายธุรกิจได้สมบูรณ์แบบ สำหรับตลาดไทยผมมองว่ามากกว่า 89% น่าจะโตเป็นเท่าตัว 200% ได้เลย”

ตัวเลข 89% ที่สมศักดิ์ พูดถึงมาจากการสำรวจของ AIBP หรือ Asia IoT Business Platform ซึ่งเผยผลสำรวจว่า 89% องค์กรไทยพร้อมลงทุน IoT รองลงมา เป็นมาเลเซีย 86% อินโดนีเซีย 83% ฟิลิปปินส์ 80% และเวียดนาม 79% จุดนี้แม้ไม่มีตัวเลขในฝั่งอินโดจีน แต่สมศักดิ์ ระบุว่า จากการลงทุนทำธุรกิจในกัมพูชา ลาว พม่า นานเกิน 3 ปี พบว่าตลาดอินโดจีนเติบโตรวดเร็ว 30-40% โดยเฉพาะพม่านั้น มีเงินทุนใหญ่เหมือนไทยเมื่อ 30 ปีก่อน

สมศักดิ์ ระบุว่า วีเอสทีฯ ทำรายได้ปี 2017 ที่ผ่านมา ราว 19,000 ล้านบาท เติบโตจาก 10% เมื่อเทียบจากปี 2016 จุดนี้ผู้บริหารเชื่อว่าจะเติบโตเป็นเลข 2 หลักในปีนี้ ผลจากการบุกหนักตลาดอินโดจีน และการเข้าสู่ตลาดเอ็นเตอร์ไพรส์ และคอนซูเมอร์ครบด้าน โดยไตรมาส 1 ปี 2018 พบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 35% เนื่องจากเป็นช่วงที่การปรับรูปแบบธุรกิจเริ่มส่งผลชัดเจน
อโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน
อีกประเด็นที่น่าสนใจจากการสำรวจของ AIBP คือ สัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดยไทยมีสัดส่วนการลงทุน IoT ในภาคการเกษตรที่ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน ข้อมูลชี้ว่า งบ IoT ไทยเกิน 55.1% กระจุกตัวอยู่ที่โครงการภาครัฐ และบริการสาธารณะ รองลงมา เป็นอุตสาหกรรม ขณะที่การเกษตรมีสัดส่วน 9% เท่านั้น ขณะที่เวียดนาม และพม่า เตรียมงบลงทุน IoT ในการเกษตรมากกว่า 30%

“ประเทศเราเป็นเกษตรกรรม จุดนี้ผมคิดว่าต้องกระตุ้น” อโณทัย ทิ้งท้าย “การลงทุนเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เราไม่อยากให้ลูกค้าลงทุนมหาศาลในเวลาเดียว เพราะนี่คือ การเดินทางยาวนาน 5G มาค่อยขยายต่อก็ได้ แต่ที่ย้ำ คือ ต้องวางสถาปัตยกรรม ความปลอดภัย และรองรับการขยายตัว อย่ารอ เริ่มจากจุดเล็กค่อยขยายไป”.


กำลังโหลดความคิดเห็น