xs
xsm
sm
md
lg

“อินเทล” ต้องสู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การพ้นจากตำแหน่งแบบสุดเซอร์ไพรส์ของไบรอัน ครชานนิช (Brian Krzanich) ทำให้อินเทล (Intel) ตกอยู่ในภาวะต้องสู้เพื่อเฟ้นหาซีอีโอคนใหม่ ผู้ที่ต้องพาอินเทลไปเผชิญกับจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์เกือบ 50 ปี

ซีอีโอ Brian Krzanich ของอินเทลเพิ่งแถลงลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 21 มิถุนายน 2018 หลังจากมีการสอบสวนพบว่าซีอีโอมีความสัมพันธ์กับพนักงานรายหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการละเมิดนโยบายของบริษัท ทั้งหมดถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจสำหรับ Krzanich ซึ่งเป็นพนักงานรุ่นดึกที่เข้าร่วมงานที่อินเทล มานานกว่า 35 ปี และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการบริหารบริษัท

Krzanich ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอของอินเทล เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คำพูดว่า Krzanich ถูกทิ้งให้อยู่กับภารกิจยุ่งเหยิงในการพัฒนาอินเทลนั้นไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะอินเทลในเวลานั้น ต้องเร่งดำเนินกลยุทธ์เพื่อบุกตลาดอุปกรณ์พกพา ซึ่งซีอีโอจะต้องผลักดันให้บริษัทก้าวไปข้างหน้า ให้นอกเหนือจากตลาดคอมพิวเตอร์พีซี และเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งอินเทลได้รับผลกระทบในยุคสมาร์ทโฟน และระบบคลาวด์ รวมถึงยุคทองของ AI และยานยนต์อัตโนมัติที่จะมีอิทธิพลมากขึ้น

ที่ผ่านมา อินเทลเป็นที่รู้จักเพราะโปรเซสเซอร์ตระกูลเพนเทียม (Pentium) ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์พีซี แต่ทุกวันนี้ชาวโลกรู้สึกว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับอินเทลน้อยลง ข้อความอย่างอินเทลอินไซต์ (Intel Inside) ไม่แพร่หลายอีกต่อไป และสมาร์ทโฟนหลายพันล้านเครื่องไม่ต้องอาศัยโปรเซสเซอร์ของอินเทล

Krzanich ใช้เวลา 5 ปีที่ผ่านมา ต่อสู้กับภาวะขาลง ซึ่งแน่นอนว่างานทั้งหมดนี้จะต้องถูกส่งมอบให้ซีอีโออินเทลคนใหม่ในอนาคต

สิ่งที่ Krzanich เริ่มไว้แล้ว คือ การบอกโลกว่า วันนี้มีระบบแว่นตาอัจฉริยะ นาฬิกาสมาร์ทว็อตช์ และอีกหลายสินค้าอัตโนัมิตที่ใช้พลังจากชิปอินเทล รวมถึงยานยนต์ที่ขับเคลื่อนตัวเอง แต่ไม่ว่าจะพยายามเท่าใด วันนี้รายได้ของอินเทลประมาณ 85% ยังคงมาจากตลาดเซิร์ฟเวอร์ และเครื่องพีซี

เบื้องต้น อินเทล ถูกประเมินว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการพยายามปรับตัว เช่นในงาน CES ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อินเทลพยายามปรับสุนทรพจน์ให้ดูฉูดฉาด แต่ความพยายามกลับไม่สามารถเรียกความสนใจจากโลกได้อย่างที่หวังไว้ แถมเมื่อยิ่งโฟกัสที่ตลาดอื่น ธุรกิจหลักของอินเทลก็ยิ่งถูกโจมตี ด้วยฝีมือของเอเอ็มดี (AMD) คู่แข่งตลอดกาลที่มีทิศทางสดใสขึ้นในวงการพีซี และเซิร์ฟเวอร์ ซึ่ง Krzanich เองก็เพิ่งยอมรับว่า อินเทลอาจจะเสียส่วนแบ่งในตลาดเซิร์ฟเวอร์ให้กับเอเอ็มดีในปีนี้

อีกสิ่งที่โลกมองอินเทล คือ “กฎของมัวร์กำลังมีปัญหา” มัวร์ที่ว่า คือ กอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) ผู้ร่วมก่อตั้งอินเทลที่พยากรณ์ไว้ในชื่อ Moore’s Law ว่า จำนวนทรานซิสเตอร์ในหน่วยประมวลผลจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุก 2-3 ปี กฎนี้ทำให้อินเทล ประกาศแผนเปิดตัวโปรเซสเซอร์ขนาด 10 นาโนเมตรในช่วงปลายปี 2016 ที่ผ่านมา แต่ล่าสุด อินเทล เพิ่งเลื่อนกำหนดการเปิดตลาดออกไปอีกเป็นปี 2019 เนื่องจากปัญหาการผลิต ซึ่งที่ผ่านมา อินเทลยังต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการออกแบบหน่วยประมวลผลขึ้นใหม่ เพื่อป้องกันข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยที่ถูกค้นพบเมื่อต้นปีนี้

ในช่วงเวลา 5 ปีที่ Krzanich ขึ้นเป็นซีอีโอ อินเทลผ่านการปรับโครงสร้างสำคัญ และยกเลิกสินค้าบางกลุ่มทิ้งไป ที่เห็นชัดคือโปรเซสเซอร์ Atom ที่ถูกยกเลิก แม้จะมีฐานะเป็นคู่แข่งกับชิปสแนปดรากอน (Snapdragon) ของควอลคอมม์ (Qualcomm) โดยอินเทลยอมหันไปเซ็นข้อตกลงผลิตชิปเออาร์เอ็ม (ARM) ในโรงงานของอินเทลแทน เพื่อตอกย้ำว่า อินเทลกำลังมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจชิปกราฟิก หรือ GPU และอนาคตของยุคปัญญาประดิษฐ์

อินเทล ยังดึงตัวอดีตมือดีของแอปเปิล และเอเอ็มดีอย่าง Raja Koduri มาสร้างชิปกราฟิก ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ในปี 2020 ประเด็นการให้ความสำคัญกับ GPU สำหรับการประมวลผลภาพ และ AI นั้นถูกฟันธงว่า อินเทลกำลังเป็นผู้ไล่ตาม เพราะคู่แข่งอย่างเอ็นวิเดีย (Nvidia) และเอเอ็มดี ล้วนมีภาษีดีกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ GPU ไม่เหมือนโปรเซสเซอร์แบบเดิมที่มีแกน หรือ core จำนวนมาก ทำให้สามารถจัดการกับการคำนวณที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซึ่งทำให้เหมาะสำหรับการฝึก หรือเทรนนิ่งระบบ AI มากกว่า

สำนักข่าวเดอะเวิร์จ (The Verge) วิเคราะห์ว่า สิ่งที่อินเทลต้องทำตอนนี้ คือ การหาตัวซีอีโอที่สามารถทำให้อินเทลสามารถแข่งขันในยุค AI ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้มั่นใจได้ว่า ธุรกิจชิปพีซีแบบเดิมจะไม่ถูกคู่แข่งชิงส่วนแบ่งตลาดไป สิ่งสำคัญที่อินเทล ต้องระวัง คือ ต้องป้องกันไม่ให้คู่แข่งแทรกตัวเข้าเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งทำกำไรให้อินเทลเป้นหลักในขณะนี้

แม้ว่าการรักษาอินเทลให้เติบโตปลอดภัยจะถือเป็นงานหินสำหรับผู้สืบทอดตำแหน่งจาก Krzanich แต่งานนี้ก็ถือว่ายังมีหวัง เพราะอินเทล ถูกมองว่าไม่ต่างจากไมโครซอฟท์ (Microsoft) ในช่วงก่อนที่สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) จะเข้ารับตำแหน่ง จุดนี้ทั้ง 2 บริษัทถูกมองว่า อินเทล และไมโครซอฟท์ เดินตามรอยเท้าของกันและกันมาหลายทศวรรษภายใต้ชื่อพันธมิตร “วินเทล” (Wintel) ที่คนไอทียุคก่อนรู้จักดี แต่ไมโครซอฟท์ สามารถปรับตัวได้เร็วกว่า ซึ่งอินเทลจะต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าจะอยู่รอดหรือค่อยๆ เฉาลงไปในอนาคต.


กำลังโหลดความคิดเห็น