ศึกลอจิสติกส์ 7 แสนล้านเดือด เอกชนตบเท้าลุยเต็มพิกัด ปีนี้อัดงบรวมกันมากกว่า 10,000 ล้านบาทหวังชิงแชร์พิชิตใจแม่ค้าออนไลน์ อานิสงส์อีคอมเมิร์ชเฟื่องฟู “ไปรษณีย์ไทย” ก้นร้อน เร่งขยับตัวรักษาบัลลังก์
ศึกลอจิสติกส์ 700,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 20% เป็นตัวเลขที่เชิญชวนให้น่าลงทุนสูงมาก จากแนวโน้มอนาคตตลาดอีคอมเมิร์ชมาแรงเติบโต 30% แซงค้าปลีก ทำให้ระบบการขนส่งยิ่งมีความสำคัญสำหรับการซื้อขาย โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ค้ารายย่อย ที่ถือเป็นฐานใหญ่ของประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่ไทยจะเนื้อหอม มีผู้เล่นรายใหญ่รายเล็กแห่เข้าร่วมชิงแชร์ในตลาดลอจิสติกส์ก้อนใหญ่นี้
***เอกชนอัดงบหมื่นล้านลุย
จากทิศทางอันสดใสของตลาดลอจิสติกส์นี้ ส่งผลให้ภาคเอกชนเปิดเกมรุก เข้าชิงแชร์อย่างไม่ขาดสายโดยเฉพาะในกลุ่มตลาดรับส่งพัสดุด่วน หรือเอ็กซ์เพรสในไทยมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา พบว่ามีเม็ดเงินการลงทุนไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท โดยพบว่า “แฟลชเอ็กซ์เพรส” เป็นผู้เล่นรายใหม่ล่าสุด แต่ทุ่มงบลงทุนมากสุดถึง 2,500 ล้านบาท เพื่อหวังติดท็อปทรี
“ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการรับส่งพัสดุที่เร่งด่วนมีจำนวนมากขึ้น ในช่วงเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดขนส่งพัสดุรายย่อยในไทยเติบโตไม่ต่ำกว่า 10-20% ต่อปี ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ในรูปแบบค้าปลีกค้าส่ง ที่ในแต่ละปีเติบโตสูงถึง 30%” ส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์จาก นายคมสันต์ แซ่ลี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุทั่วประเทศของไทย
นายคมสันต์ กล่าวต่อว่า บริษัทได้วางแผนลงทุนในปี 2561 กว่า 2,500 ล้านบาท เพื่อผลักดันธุรกิจขนส่งพัสดุในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ แบ่งเป็น 3 เฟสหลัก คือ 1. การให้บริการส่งพัสดุ เริ่มปีนี้จะเปิดตัวบริการเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 61 ส่วนเฟสที่สองคาดว่าจะเริ่มปีนี้ คือ การทำบริการเติมเต็ม หรือฟูลฟิลเมนต์ เช่น การให้ลูกค้าได้ใช้คลังสินค้า และเฟสที่สาม คือ การขยายตลาดอาเซียนและการจัดการบริการทางการเงินด้วย
ปัจจุบันเริ่มทดลองตลาดให้บริการเฉลี่ย 200-300 ชิ้นต่อวัน และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีปริมาณสินค้าจัดส่งประมาณ 5,000 ชิ้นต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-30% วัน ในปีที่ 2 และ 3 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้ประมาณ 200 ล้านบาทในปีแรก และเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี และสูงถึง 4,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า และวางแผนที่จะเข้ารับพัสดุได้ครอบคลุมทั่วประเทศ 77 จังหวัดในอนาคต
“ด้วยประสบการณ์มากกว่า 20 ปี และทีมงานเคยร่วมงานพัฒนาระบบเทคโนโลยีกับบริษัทอาลีบาบา และอาลีเพย์ จุดเด่นของแฟลชเอ็กซ์เพรส เช่น การรับพัสดุถึงบ้านของลูกค้าฟรีโดยที่ลูกค้าไม่ต้องมาที่ศูนย์ส่งเหมือนแบรนด์อื่นๆ เริ่มต้นที่ราคา 45 บาท แฟลชเอ็กซ์เพรสตั้งเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นท็อปทรีภายใน 3 ปีจากนี้ จากปัจจุบัน ไปรษณีย์ไทยมีส่วนแบ่งมากที่สุดกว่า 60-70% รองลงมา น่าจะเป็น เคอร์รี่เอ็กซ์เพรส สัดส่วนประมาณ 15% นอกนั้น ก็จะมีตลาดใกล้เคียงกัน”
ด้านนายอเล็กซ์ อึ้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคอรี เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในปี 2561 บริษัทมีแผนที่จะใช้เงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท ในการขยายธุรกิจในทุกด้าน ทั้งจำนวนบุคลากร จุดรับบริการ คลังสินค้า การเช่ายานพาหนะเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจและรักษาความเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุด่วนในไทย ที่เคอรี่ มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 80% ในแง่ของปริมาณออเดอร์หรือจำนวนพัสดุ ซึ่งคาดว่าตลาดรวมจะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30% ต่อปี
“การลงทุนปีนี้หลักๆ เช่น จะขยายพื้นที่คลังสินค้าที่ถนนบางนา-ตราด เฟสที่สอง รวมเพิ่มเป็น 36,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับเป้าหมายการเติบโตของปริมาณพัสดุที่เคอรี่ ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มเป็น 1 ล้านชิ้นต่อวัน จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 7.5 แสนชิ้นต่อวัน ซึ่งเติบโตกว่า 100% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการขนส่งพัสดุขนาดเล็กที่มีน้ำหนักสูงสุดไม่เกิน 30 กิโลกรัมต่อกล่อง ส่วนจุดบริการก็จะมีการเพิ่มอีกต่อเนื่อง และบริการใหม่ที่จะเริ่มได้ในไตรมาสที่สามนี้ คือ เซลฟ์คอลเลกต์ หรือ Self Collect ที่ลูกค้าสามารถจะเลือกได้ว่าจะมารับพัสดุที่จุดใด เวลาใด วันใด ซึ่งทุกรูปแบบมีรวม 1,800 จุด คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,500 จุดในสิ้นปีนี้”
ขณะเดียวกัน ทางด้าน เอสซีจี เอ็กซ์เพรส ที่เป็นบริการแบบ B2C จะใช้เงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท จากงบรวม 1,000 ล้านบาทในปีนี้เช่นกัน โดยนายนิธิ ภัทรโชค ผู้จัดการใหญ่ตลาดในประเทศธุรกิจเอสซีจีซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์กลุ่มบริษัท เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีโลจิสติกส์ ได้เตรียมงบลงทุนในส่วนลอจิสติกส์ไว้ 1,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาธุรกิจในเครือลอจิสติกส์ โดยเฉพาะเอสซีจี เอ็กซ์เพรส ที่เป็นบริการแบบ B2C จะใช้เงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เพื่อขยายจุดให้บริการให้ครบทั่วประเทศภายในครึ่งปีนี้ จากปัจจุบันที่มีจุดบริการแล้ว 500 สาขา กระจายตามหัวเมืองต่างๆ ใน 40 จังหวัดในปีที่ผ่านมา คาดว่าปีนี้เอสซีจีโลจิสติกส์ จะเติบโต 10% หรือมีรายได้กว่า 17,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้เล่นรายใหญ่อย่าง “ดีเอชแอล” เป็นอีก 1 รายที่แม้จะไม่เปิดเผยตัวเลขการลงทุน แต่พร้อมขยายจุดให้บริการเต็มกำลัง โดยปีนี้เร่งผุดดีเอชแอลเซอร์วิสพอยต์ ให้ครบ 1,000 จุด โดยในปี 2561 นี้ตั้งเป้าหมายที่จะขยาย ดีเอชแอล เซอร์วิสพอยต์ (DHL ServicePoint) หรือจุดรับส่งพัสดุด่วนในประเทศ ให้ได้ประมาณ 500 จุด เพื่อให้สิ้นปีนี้มีจุดดีเอชแอลเซอร์วิสพอยต์ รวมเป็นประมาณ 1,000 จุด และเพิ่มเป็น 2,000 จุดภายในปีหน้า (2562) จากปัจจุบันที่มีประมาณ 500 จุด
นายเกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย จำกัด และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ล่าสุด บริษัทได้พันธมิตรใหม่ คือ ร้านหนังสือซีเอ็ด ซึ่งมีสาขาทั่วประเทศเกือบ 400 สาขา ซึ่งในช่วงแรกนี้ได้ติดตั้งจุดบริการในร้านซีเอ็ด แล้วประมาณ 150 สาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งนี้จะช่วยทำให้ลูกค้าของดีเอชแอล มีความสะดวกมากขึ้น ทั้งกลุ่มลูกค้าที่มีการลงทะเบียนกับดีเอชแอล และลูกค้าที่เป็นมาร์เกตเพลซ รวมถึงกลุ่มลูกค้าทั่วไป ที่จำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ลูกค้ารายย่อยมีประมาณ 80% ของพอร์ตทั้งหมด และตั้งเป้าหมายมีสัดส่วนรายได้จากรายย่อยนี้ประมาณ 30% ในปีนี้ โดยคาดว่าปีนี้รายได้รวมจะเติบโต 5-10%
***ไปรษณีย์ไทยอัด 6,300 ล้านจับมือ อาลีบาบา ป้องบัลลังก์
ในสถานการณ์ที่เอกชนพร้อมอัดงบลุยในตลาดขนส่งนี้ ผู้นำตลาดอย่าง 'ไปรษณีย์ไทย' ที่อยู่ในตลาดนี้มาอย่างยาวนาน ย่อมปฏิเสธลำบากว่าไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะยังคงมีกำไรในตัวเลขที่พึงพอใจ แต่นัยสำคัญ ไปรษณีย์ไทย กำลังสูญเสียแชร์ลงไปทุกวินาที ส่งผลให้ปีนี้ไปรษณีย์ไทยพร้อมสู้เต็มกำลัง เพื่อรักษาบัลลังก์ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่ต้องเพิ่มขึ้น
นายกาหลง ทรัพย์สอาด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย กล่าวว่า ในปี 2561 ไปรษณีย์ไทย มีแผนลงทุนราว 6,300 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าให้มากขึ้น โดยมีแผนจะลงทุนก่อสร้างสำนักงานไปรษณีย์แห่งใหม่พร้อมติดตั้งระบบ Full Automation รวมทั้งสิ้น 4 แห่งคิดเป็นเงินลงทุนแห่งละ 1,500 ล้านบาท ประกอบด้วย ไปรษณีย์จังหวัดสกลนคร ไปรษณีย์จังหวัดเชียงราย ไปรษณีย์อำเภอวังน้อยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และไปรษณีย์อำเภอสัตหีบในพื้นที่อีอีซี นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุนติดตั้งเครื่องจักรเพื่อเพิ่มศักยภาพงานบริการไปรษณีย์อีกหลายแห่ง คิดเป็นเงินลงทุนแห่งละ 150 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ และเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรต่อไป
ด้านนางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย กล่าวต่อว่า ไปรษณีย์ไทยยังมีความได้เปรียบคู่แข่งอย่างมากด้วยสาขาบริการไปรษณีย์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศหลายร้อยแห่งควบคู่ไปกับแผนเปิดเคาเตอร์ตามจุดต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการและด้วยประสบการณ์รวมถึงความชำนาญของบุคลากร อีกทั้งไปรษณีย์ไทยยังมีฐานลูกค้าที่ใหญ่กว่ามากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด และพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงได้หมด นอกจากนี้ ยังพบว่าไปรษณีย์มีความเที่ยงตรงมากทั้งเวลาการขนส่ง และความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งเป็นข้อการันตีที่ลูกค้าชอบ เชื่อว่าปีนี้ไปรษณีย์ไทยจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 30,800 ล้านบาท โต 10% จากปีก่อนปิดที่ 27,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ปีนี้ไปรษณีย์ไทยจะยังคงรักษาแชมป์ไว้ได้ แต่ในอนาคตอาจจะลำบาก หากทาง “อาลีบาบา” เข้ามาร่วมสมรภูมินี้อย่างเต็มตัว การร่วมมือกับทางอาลีบาบา จึงเป็นทางออกที่จะช่วยให้ไปรษณีย์ไทยรักษาบัลลังก์ไว้ได้ จากแผนของทางอาลีบาบา ที่จะมีการลงทุนกว่า 11,000 ล้านบาท เตรียมก่อสร้างโครงการ Smart Digital Hub ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายในปี 2561-2562 ซึ่งโครงการดังกล่าวประกอบด้วย 1. Digital Platform ศูนย์กระจายสินค้า 2. การขนส่งที่จับมือกับทางไปรษณีย์ไทย และ 3. การลงทุนด้านไอที ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ที่เปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยได้เข้าร่วม ทั้งนี้ เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และทั่วโลก