xs
xsm
sm
md
lg

คุยไทยได้แล้ว! Google Assistant เปิด-ปิดไฟฉายได้เมื่อสั่งภาษาไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ไม่ต้องคุยภาษาอังกฤษแล้ว เพราะมีรายงานว่าผู้ใช้ไทยบางราย เริ่มโต้ตอบกับระบบ Google Assistant ด้วยวลีไทยได้สบาย
จากข้อมูลก่อนหน้านี้ที่กูเกิล เปิดเผยกำหนดการว่า ระบบผู้ช่วยส่วนตัว “กูเกิลแอสซิสแทนต์” (Google Assistant) จะรองรับการใช้งานภาษาไทยในช่วงเดือนพฤษภาคม ล่าสุด เริ่มมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ (Android) บางรายสามารถเข้าใช้งานได้เมื่อเอ่ยวลีภาษาไทย โดยระบบสามารถเปิด-ปิดไฟฉายได้เมื่อสั่งเป็นภาษาไทย และโต้ตอบเป็นภาษาไทยกลับมาได้ถูกต้อง

เบื้องต้น จากการสังเกตการณ์พบว่า กูเกิลสุ่มเปิดสิทธิทดลองใช้งาน Google Assistant ภาษาไทยกับผู้ใช้บางราย โดยผู้ใช้โทรศัพท์พิกเซลโฟน (Pixel Phone) และหัวเว่ย (Huawei) บางรายสามารถใช้ได้ ขณะที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนรุ่นเก่าอย่าง S8 ยังไม่สามารถใช้งานได้

วิธีการทดสอบว่า แอนดรอยด์โฟนที่ใช้อยู่รองรับการใช้งาน Google Assistant ภาษาไทยได้หรือยัง ให้เข้าไปตั้งค่าการใช้งานภาษาตัวเครื่อง แล้วเปลี่ยนเป็นภาษาไทย (กรณีที่แต่เดิมใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ อยู่)

หากใช้ภาษาไทยอยู่แล้ว สามารถกดปุ่มโฮมค้าง หรือลากนิ้วจากขอบล่างของหน้าจอขึ้นมา เพื่อเรียกใช้งานได้ทันที ถ้าไม่ขึ้นระบบ Assistant โต้ตอบกลับมาแปลว่า ตัวเครื่องยังไม่สามารถใช้งานได้ คาดว่าจะต้องรออัปเดตจากทางกูเกิลอีกครั้ง

กรณีที่ใช้งานได้ ก็สามารถพูดคุยเป็นภาษาไทยกับระบบผู้ช่วยของกูเกิลได้ทันที ส่วนการเปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการยังไม่มีกำหนดออกมาจากกูเกิลในเวลานี้ แต่คาดว่าจะไม่นานเกินรอ เพราะจากการประกาศความร่วมมือกับทางสิริเวนเจอร์ และการเริ่มเปิดให้ผู้ใช้งานบางส่วนใช้งานได้แล้วถือเป็นข้อยืนยันว่าใกล้จะเปิดตัวแล้วนั่นเอง

ข้อมูลที่กูเกิล เปิดเผยในขณะนี้มีเพียงตัวอย่างวลีที่ถามได้เป็นภาษาไทย โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มข้อมูลที่ต้องการค้นหาหรือสั่งการ ดังนี้

1. กรณีต้องการรับข้อมูลท้องถิ่น วลีภาษาไทยที่สามารถพูดคุยกับระบบผู้ช่วยของกูเกิลได้แก่

สภาพอากาศ: วันนี้อากาศเป็นอย่างไรบ้าง
อาหาร: ค้นหาร้านพิซซ่าในบริเวณใกล้เคียง
เวลาทำการ: ร้านครัวอัปสรยังเปิดอยู่ใช่ไหม
การนำทาง: นำทางไปบ้าน

2. สื่อสาร

การโทร: โทรหาแม่, โทรหาพ่อแบบเปิดลำโพงโทรศัพท์
SMS: ส่งข้อความหาชาติชาย “เจอกัน 5 โมงเย็น”
อีเมล: ส่งอีเมล
WhatsApp: ส่งข้อความ WhatsApp หาไก่

3. วางแผนวัน

นาฬิกาปลุก: ปลุกฉันตอน 7 โมงเช้า
การจราจร: สภาพการจราจรไปที่ทำงานเป็นอย่างไรบ้าง
การแจ้งเตือน: เตือนให้ฉันซักผ้าเมื่อถึงบ้าน เตือนให้ฉันโทรหาแม่ทุกวันอาทิตย์
ทำการจอง: จองโต๊ะสำหรับ 2 คนที่ร้านสมชาย สัปดาห์หน้า

4. ดูรูปภาพ ชมวิดีโอ

รูปภาพ: แสดงภาพของฉันบนชายหาด
เพลง: เล่นเพลงแจ๊ส เล่นเพลงถัดไป
YouTube: ชมวิดีโอลูกสุนัขน่ารักบน YouTube

5. ถาม Google

การอัปเดตเกม: ใครชนะเกมฟุตบอลเมื่อคืนนี้
การคำนวณ: 20% ของ 80 คือเท่าไหร่
พจนานุกรม: คำว่า “gregarious” หมายความว่าอย่างไร
แปลภาษา: ฉันจะพูดว่า “ยินดีที่ได้รู้จัก” เป็นภาษาฝรั่งเศสว่าอย่างไร
ค้นหา: ค้นหาไอเดียเที่ยววันหยุดฤดูร้อน
ค้นหารูปภาพ: ค้นหารูปลูกแมว
คำตอบจากเว็บ: จะขจัดคราบไวน์ออกจากพรมได้อย่างไร

6. ควบคุมอุปกรณ์อัจฉริยะในบ้าน

ไฟ: หรี่ไฟห้องนั่งเล่นหน่อย
ตัวควบคุมอุณหภูมิ: ปรับอุณหภูมิเป็น 21 องศา ลดอุณหภูมิลง 2 องศา
เปลี่ยนการตั้งค่า: เปิด Wi-Fi เพิ่มระดับเสียง ลดความสว่าง
ควบคุมโทรศัพท์: เปิดไฟฉาย
ค้นหาสิ่งที่อยู่ในแอปของคุณ: ค้นหา “BNK 48” บน Twitter

7. เล่นสนุก

คุยกับ Assistant: คุณมีความฝันไหม คุณชอบสีอะไร
เกม: เล่นเกมกันเถอะ ถามคำถามทายปัญหากับฉันสิ
บันเทิง: เล่าเรื่องตลกให้ฉันฟัง เล่าเรื่องน่าสนใจให้ฉันฟัง

และหากต้องการไอเดียเพิ่มเติม ลองถาม Assistant ว่า “คุณทำอะไรได้บ้าง” เพื่อแก้เบื่อเวลาที่เหงาอยู่ก็ได้

สำหรับ Google Assistant นั้น ถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2012 กระทั่งต้นปีนี้ Google ยืนยันว่าจะมีการเปิดให้ใช้งาน Google Assistant เพิ่มอีกใน 25 ประเทศภายในปีนี้ และสามารถรองรับภาษาอีก 30 ภาษาใหม่ จากเดิมที่รองรับ 8 ภาษาเท่านั้น ซึ่งนอกจากภาษาไทย ภาษาใหม่ของ Google Assistant ยังมีภาษาสวีเดน ภาษาเดนมาร์ก ภาษานอร์เวย์ ภาษาอินโดนีเซีย และภาษาฮินดู.


กำลังโหลดความคิดเห็น