xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มสามารถ เตรียมเปิดบริการ “ดิจิทัล ทรังค์ เรดิโอ” ไตรมาส 2 นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มสามารถ คาดเปิดให้บริการ ดิจิทัล ทรังค์ เรดิโอ ซิสเตมส์ ได้ภายในช่วงไตรมาส 2 นี้ มั่นใจสร้างฐานลูกค้าใช้งานได้ 1 แสนรายตามเป้าหมายที่วางไว้ภายในสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกับการติดตั้งสถานีฐาน 1,000 แห่งให้ครอบคลุมการใช้บริการ

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าในการให้บริการ Digital Trunked Radio System (DTRS) ภายใต้ SISC Consortium ประกอบไปด้วย บริษัท สามารถดิจิตอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด ที่ร่วมมือกับทาง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 2 นี้

“รูปแบบของการให้บริการ DTRS คือการที่กลุ่มสามารถ เข้าไปลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อที่จะนำไปติดตั้งบนสถานีฐานให้ครอบคลุม 1,000 สถานีภายในปีนี้ ส่วนทาง กสท ที่เดิมมีใบอนุญาตในการให้บริการ Turnk Radio บนคลื่นความถี่ 800 MHz อยู่แล้ว รวมถึงมีสถานีฐานให้เข้าไปใช้งาน”

เบื้องต้น กลุ่มสามารถ จะลงทุนในการติดตั้งอุปกรณ์ให้บริการ DTRS ราว 2,500 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการราว 5 หมื่น-1 แสนรายภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าภายในปี 2020 จะมีฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 3-4 แสนราย

ส่วนในแง่ของการรับรู้รายได้ จะมีการแบ่งสัดส่วนรายได้จากค่าบริการรายเดือนที่กำหนดไว้ราวเดือนละ 800 บาท โดยจะแบ่งให้ทาง กสท 300 บาท ส่วนที่เหลืออีก 500 บาท จะเป็นรายได้ของกลุ่มสามารถ ทำให้ถ้าได้ลูกค้า 4 แสนรายตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็จะมีรายได้ต่อเดือนกว่า 200 ล้านบาท

สำหรับจุดที่แตกต่างระหว่างโทรศัพท์มือถือ และ DTRS คือ DTRS จะสามารถสื่อสารได้หลายคนในการสื่อสารครั้งเดียว สามารถสื่อสารได้ทันที แม้เครือข่ายล่มยังสามารถสื่อสารระหว่างเครื่องลูกข่ายได้ภายในระยะ 1 กิโลเมตร ที่สำคัญ คือ ตัวเครื่องทนทาน กันน้ำ กันกระแทก และมีรุ่นพิเศษที่ป้องกันไม่ให้เกิดประกายไฟด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะมาใช้บริการ DTRS ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานจากทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการท่าอากาศยาน, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, กรมอุทยานแห่งชาติ, กรมการขนส่งทางบก, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม รวมถึงเอกชนอย่างธุรกิจลอจิสติกส์ที่เน้นการติดต่อสื่อสาร

ปัจจุบันเริ่มมีการนำ DTRS เข้าไปใช้งานแล้วในกรมอุทยาน ที่เข้าไปใช้เพื่อบริหารจัดการการเดินเรือ และนักท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน และคาดว่าจะขยายมาในฝั่งอ่าวไทยต่อไป ส่วนภาคธุรกิจอื่น ๆ คาดว่าเมื่อมีการติดตั้งสถานีฐานครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ก็จะมีลูกค้าเข้ามาใช้งานเพิ่มเติมอีก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสามารถ มองว่า ธุรกิจทรังก์เรดิโอ ที่ใช้การส่งสัญญาณผ่านอนาล็อกในปัจจุบันเหลือใช้งานอยู่ไม่กี่แห่ง และมีโอกาสที่จะเปลี่ยนมาใช้งาน DTRS ที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากกว่า โดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างเกิดภัยพิบัติ และกลุ่มสาธารณภัย รวมถึงความโดดเด่นของ DTRS ในการนำไปใช้งานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการ ด้วยการนำความสามารถของตัวเครื่องที่สามารถระบุพิกัด GPS ได้ สามารถตรวจจับลักษณะการจับถือเพื่อแจ้งเตือน (Man Down System) สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง จะกลายเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ DTRS ถูกนำไปใช้งาน



กำลังโหลดความคิดเห็น