CDN คือ เครือข่ายนำส่งข้อมูลที่เป็นเบื้องหลังให้เว็บไซต์ขนาดใหญ่ทั่วโลกทำงานได้ต่อเนื่องแบบไม่ต้องกลัวล่ม ล่าสุด อะคาไม (Akamai) ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด CDN ประกาศบุกตลาดไทย เพราะมองเห็นโอกาสเติบโตมหาศาลบน 1 ใน 3 ปัจจัยหลักเรื่องการเติบโตของชาวออนไลน์ไทย โดยคนไทยขึ้นแชมป์ออนไลน์นานที่สุดโลก 9 ชั่วโมงต่อวันต่อคน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
อชุทศ กุลการ์นี รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปแผนกพัฒนาประสบการณ์ด้านเว็บไซต์ บริษัท อะคาไม เทคโนโลยีส์ (Akamai) ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจัยที่สะท้อนว่า ตลาด CDN ของประเทศไทยจะเติบโตอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ขนาดผู้ใช้อินเทอร์เน็ต, ตัวเลขจีดีพี และสัดส่วนการลงทุน ทั้งหมดทำให้ Akamai คาดว่าจะสามารถขยายธุรกิจได้มากกว่า 2 เท่าในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ และอีกกว่า 10 เท่าในช่วงระยะยาว 7 ปี
“มีการประเมินว่า ภายในปี 2025 บรอดแบนด์ไทยจะขยายจากความเร็วเฉลี่ย 13.3 Mbps เป็น 30 Mbps ผลคือบริการวิดีโอออนไลน์จะไม่เหมือนเดิม จะรองรับ 4K ธุรกิจจะมีโอกาสเติบโตมากขึ้น เพราะเทคโนโลยี CDN ของ Akamai จะช่วยให้ธุรกิจให้บริการได้ดีขึ้น ส่งให้ Akamai เติบโตขึ้น 2 เท่าใน 2 ปี และอาจเป็น 10 เท่าใน 7 ปี” ผู้บริหาร Akamai ระบุ “ประเทศไทยมีพร้อมทั้งขนาดผู้ใช้อินเทอร์เน็ต, ตัวเลขจีดีพี ซึ่งหมายถึงจำนวนเงินที่ประชาชนจะใช้ซื้อบริการในประเทศ และสัดส่วนการลงทุน ทั้งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทุกอย่างสะท้อนว่า ไทยมีความพร้อมมาก ภาครัฐก็สนับสนุนโดยเฉพาะนโยบายประเทศไทย 4.0”
CDN ย่อมาจาก Content Delivery Network (CDN) บริการ CDN ของ Akamai หมายถึงเครือข่ายนำส่งข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งเน้นให้ธุรกิจให้บริการผ่านเว็บไซต์ได้อย่างปลอดภัยและเสถียรมากขึ้น กลุ่มลูกค้าของ Akamai คือ กลุ่มธนาคาร อีคอมเมิร์ซ และสื่อ ซึ่งต้องป้องกันให้ระบบออนไลน์ไม่ล่ม และให้บริการแก่ลูกค้าหลายล้านคนทั่วโลกต่อเนื่องตลอดเวลา
“ทุกวันนี้ คนไม่ดูทีวี แต่ไปดูทีวีออนไลน์ ธนาคารก็ลดสาขา แล้วลงทุนระบบโมบายล์แบงกิ้งเพื่อตอบโจทย์การทำออนไลน์เพย์เมนต์ เช่นเดียวกับอีคอมเมิร์ซ ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม แปลว่า Akamai เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เราพยายามตอบโจทย์โมบายล์เฟิร์ส ให้ธุรกิจบริการได้ต่อเนื่อง ผู้ใช้บริการวิดีโอออนไลน์สามารถดูทันที“
ปัจจุบัน Akamai มีเซิร์ฟเวอร์ให้บริการ 2.5 แสนตัวทั่วโลก ในประเทศไทยมีจำนวนเกิน 2,000 ตัว เป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ทำได้ทั้งบริการเพิ่มความปลอดภัย และนำส่งข้อมูล โดยเซิร์ฟเวอร์บางส่วนติดตั้งที่ กทม. ทำให้ผู้ใช้ในกรุงเทพฯ สามารถดู ซื้อ และใช้บริการแอปพลิเคชันต่างชาติในประเทศไทยได้ทันทีไม่มีล่าช้า
Akamai ระบุว่า บริษัทมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้ 5 บริษัทในกลุ่มท็อป 10 ธนาคารเอเชียเป็นลูกค้าของ Akamai ขณะที่ 9 จากท็อป 10 บริษัทรีเทลก็ใช้บริการ Akamai เช่นเดียวกับสำนักงานข่าวที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย (ไม่เปิดเผยชื่อ) ก็ใช้งาน
“คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดต่อวันเมื่อเทียบกับทั้งโลก สถิติคร่าว คือ 9 ชั่วโมงต่อวันต่อคน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีมากกว่า 40 ล้านคน ดังนั้น ไทยคือประเทศที่เน้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ ยังมีแผนให้บริการ IoT ในอนาคต ทุกบริษัทจึงต้องปรับตัว เราจึงมีโอกาสสูงมากในไทย”
พันธมิตรของ Akamai ในไทยขณะนี้ คือ WIT และ TRUE ดำเนินการติดตั้งและทำระบบ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของ Akamai ไม่ได้อยู่ที่เงินทุน แต่ Akamai มองว่า อยู่ที่ความปลอดภัย ซึ่งทำให้บริการของธุรกิจทั่วโลกมีมีความเสี่ยงล่ม และสร้างความเสียหาย
“เดือนที่แล้ว มีการโจมตี DDos ครั้งใหญ่ที่สุด มีการแฮกกล้องวงจรปิด และกล้องติดตามเด็ก 1.5 แสนตัว แล้วแปลงเป็นบ็อตโจมตีระบบให้บริการของหลายธุรกิจ ทำให้มีข้อมูลมหาศาล 1.3 TB วิ่งเข้ามาทุก 1 วินาที ข้อมูลจำนวนมหาศาลทำให้ระบบคลาวด์ล่ม เทคโนโลยีของ Akamai สามารถตรวจจับการโจมตีนี้ได้ เรากำลังขยายเครือข่ายเซิร์ฟเวอร์ในไทยให้เชื่อมกัน เป้าหมายของเรา คือ ขยายโครงข่ายเซิร์ฟเวอร์ทุกประเทศ โดยเน้นประเทศไทยเป็นหลัก”
Akamai มองว่า ภัยโจมตีเว็บไซต์ไทยจะเกิดขึ้นบน 2 เทรนด์แรง คือ การโจมตีจะใหญ่ขึ้น เช่นภัย DDos ที่เคยมีข้อมูลปริมาณ 50 MB เข้ามาโจมตี แต่ล่าสุด ปริมาณข้อมูลเพิ่มเป็น 1.3 TB มากขึ้น 30 เท่าเมื่อเทียบกับการโจมตีที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ การโจมตีจะฉลาดมากขึ้น ขโมยได้ลึกขึ้น ความพยายามล็อกอินเพื่อขโมยข้อมูลในช่วงปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นราว 60% เมื่อเทียบกับปีก่อน
“แต่เทคโนโลยีของ Akamai สามารถตรวจจับได้ เพราะบอกได้ว่า ทรานแซกชันนี้เป็นมนุษย์ หรือเป็นบ็อต เราดูพฤติกรรมการคีย์ข้อมูล และปัจจัยอื่นร่วม มีการใช้ระบบการเรียนรู้ด้วยเครื่อง หรือ ML ในการตรวจจับ”
Akamai ยอมรับว่า 2-3 ปีก่อน ยังไม่เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างจริงจัง แต่วันนี้บริษัทมีพันธมิตรแล้ว มีลูกค้าใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพ พร้อมกับเน็ตเวิร์กที่รองรับได้ดี โดยเป้าหมายสูงสุด คือ อยากให้คนรู้จัก Akamai เหมือนที่อินเทลทำได้ แม้ว่าจะเป็นระบบเบื้องหลังก็ตาม
Akamai เป็นบริษัทที่มีเซิร์ฟเวอร์ในมากกว่า 130 ประเทศ สามารถทำรายได้ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั่วโลกในปี 2017 ที่ผ่านมา รายได้จากบริการคลาวด์ซิเคียวริตี้ในปี 2017 อยู่ที่ 482 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นอัตราเติบโต 32% ต่อปี
“10 ปีที่แล้ว บริการ Akamai เน้นเรื่องดาวน์โหลดไฟล์ วันนี้เราเปลี่ยนไปทำระบบเพิ่มประสิทธิภาพให้เว็บ อีก 2-3 ปีนับจากนี้ Akamai จะทำเรื่อง IoT ระบบ CDN เพื่อรองรับรถไร้คนขับ ที่จะต้องเชื่อมต่อข้อมูลกับเซิร์ฟเวอร์ของ Akamai รวมถึงระบบเมืองอัจฉริยะสมาร์ทซิตี้” ผู้บริหาร Akamai ทิ้งท้าย “อีกส่วนคือ Private Blackchain เราทำเพื่อรองรับธนาคาร ให้สามารถจัดการทรานเเซ็กชันของบัตรเครดิตและข้อมูลอื่น ทั้งหมดนี้ทำบนเครือข่ายของ Akamai ยังอยู่ในช่วงวิจัย จะทำให้ทรานเเซ็กชันนับล้านเกิดขึ้นได้เร็ว และลื่นไหล”