MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จำคุก 5 ปี “พิจิตต รัตตกุล” อดีตผู้ว่าฯ กทม.กับอดีตเลขาฯ คดีจัดซื้อที่ดินจอดรถ กทม.แพงเกินจริง ส่วนอดีตผู้อำนวยการเขตบางซื่อ จำคุก 7 ปี
ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (27 ธ.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่ อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็น โจทก์ยื่นฟ้อง นายพิจิตต รัตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม., นายญาณเดช ทองสิมา อดีตรองผู้ว่าฯ กทม., นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม., นายสมคาด สืบตระกูล อดีตเลขานุการผู้ว่าฯ กทม., นายประเสริฐ สมะลาภา อดีตปลัด กทม., นายสมควร รวิรัฐ อดีต ผอ.สำนักการคลัง กทม., นางอรุณพรรณ แก้วมรินทร์ อดีต ผอ.กองระบบการคลัง กทม. และนายชวน พัฒนวรานนท์ อดีต ผอ.เขตบางซื่อ เป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตฯ, ร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ, ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีใช้อำนาจในหน้าที่ ให้กรุงเทพมหานคร จัดซื้อที่ดินใช้เป็นที่จอดรถขยะ รถน้ำ และรถอื่นๆ ของ กทม.ย่านบางซื่อ ในราคา 270 ล้านบาท ซึ่งแพงเกินจริงเป็นเงินกว่า 36 ล้านบาท และรับค่านายหน้าขายที่ดิน เป็นเงิน 18 ล้านบาท เหตุเกิดระหว่างวันที่ 4 ธ.ค. 2538 ถึง 16 ก.ย. 2540
คดีอัยการโจทก์ฟ้องเมื่อเดือน ต.ค. 2553 ระบุว่า ระหว่างวันที่ 4 ธ.ค. 2538 - 16 ก.ย. 2540 พวกจำเลยร่วมกับนายสมคาด เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. และนายชวน ผอ.เขตบางซื่อ เรียกทรัพย์สินจากการดำเนินการจัดซื้อที่ดินของนายสุพจน์ และนางสุณี มโนมัยพันธุ์ เพื่อจัดหาสถานที่เพื่อใช้เป็นที่จอดรถขยะรถน้ำของ กทม.หลังมีการประกาศให้ประชาชนเสนอขายที่ดินแก่ กทม. ต่อมานายชวนได้รายงานว่า นายสุพจน์ และนางสุณี เสนอขายที่ดิน 17 แปลง เนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา พร้อมอาคารและสิ่งก่อสร้างที่ตั้งอยู่ในซอยเรียงปรีชา ถนนประชาราษฎร์ 1 แขวงและเขตบางซื่อ กทม. ราคาตารางวาละ 60,000 บาท และบริษัท วินโล จำกัด เสนอขายที่ดินเนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. ราคาตารางวาละ 65,000 บาท ต่อมานายชวน ผอ.เขตบางซื่อ มีหนังสือสอบถามราคาประเมินที่ดินของนายสุพจน์ เพียงรายเดียว รวม 15 โฉนด ไปยังสำนักงานที่ดิน กทม.ที่ตีราคาประเมินที่ดินดังกล่าวตารางวาละ 42,000 บาท ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ตีราคาประเมินตารางวาละ 60,000 บาท นอกจากนี้ ที่ดินนั้นก็ไม่ปรากฏว่าทางเข้า-ออกมีการจดทะเบียนโอนเป็นทางสารธารณประโยชน์ แต่ทางเข้าออกตกเป็นภาระจำยอมโดยการจัดซื้อที่ดินได้เสนอให้จำเลยพิจารณาอนุมัติจัดซื้อที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยวิธีการพิเศษ ตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่องการพัสดุ พ.ศ. 2538 โดยมีนายสมควร รวิรัฐ ผอ.สำนักการคลัง กทม. เป็นประธานกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษอันเป็นการขัดต่อข้อบัญญัติ กทม.เรื่องการพัสดุ พ.ศ. 2538 เนื่องจากไม่ใช่พัสดุที่ต้องซื้อเร่งด่วน แต่คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษเชิญ นายสุพจน์และนางสุณี มโนมัยพันธุ์ ต่อรองราคาโดยไม่พิจารณาผู้เสนอขายรายอื่นก่อนมีมติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าว ในราคาตารางวาละ 59,900 บาท รวมเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา ซึ่งรวมราคา หลังต่อรองลงแล้วจำนวน 270 ล้านบาท กระทั่งวันที่ 16 ก.ย. 2540 จำเลยมอบอำนาจให้นายชวน ผอ.เขตบางซื่อ ทำสัญญาจัดซื้อที่ดินจากนายสุพจน์
ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาเมื่อปี 2558 ว่า นายสมคาด สืบตระกูล จำเลยที่ 4 กระทำผิดตามมาตรา 149 ให้จำคุก 8 ปี ส่วนนายชวน พัฒนวรานนท์ จำเลยที่ 8 กระทำผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินฯ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามมาตรา 149 และ 157 ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด จำคุกจำเลยที่ 8 เป็นเวลา 10 ปี ต่อมาอัยการโจทก์ จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 8 ยื่นอุทธรณ์
โดยวันนี้นายพิจิตต จำเลยที่ 1 นายสมคาด จำเลยที่ 4 และ นายชวน จำเลยที่ 8 พร้อมทนายความและบุคคลใกล้ชิดเดินทางมาศาล
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยที่ 1, 4 และ 8 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตฯ และฐานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้นายสุพจน์ มโนมัยพันธุ์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน จ่ายเงินจำนวน 18 ล้าน ให้ นายชูศักดิ์ ศรีประเสริฐ นายหน้าขายที่ดิน เป็นค่ามัดจำที่ดินและค่านายหน้าไม่ได้มีส่วนได้เสียในการซื้อขายที่ดิน แต่ในชั้นพิจารณา นายชวน จำเลยที่ 8 ไม่ได้นำสืบถึงเงินจำนวนดังกล่าว ที่จำเลยที่ 8 ได้แจ้งอนุกรรมการไต่สวนว่า ได้มีหนังสือเสนอขายที่ดินให้ จำเลยที่ 8 ต่อมาจำเลยที่ 8 เสนอขายให้กับนายชูศักดิ์ กระทั่งมีการเตรียมต่อรองและวางมัดจำเงินจำนวนดังกล่าว โดยนายชูศักดิ์ นำเงิน 8 ล้านบาทให้จำเลยที่ 8 ดำเนินการ เมื่อจำเลยที่ 8 ตรวจสอบพบว่าที่ดินดังกล่าวไม่มีทางเข้าออกเป็นเหตุให้นายชูศักดิ์ ไม่ต้องการซื้อที่ดินดังกล่าวอีก จำเลยที่ 8 จึงเบิกถอนเงินคืนให้กับนายชูศักดิ์ เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่ปรากฏว่ามีการคืนเงินด้วยวิธีการอย่างไร และไม่มีหลักฐานการคืนเงิน การที่จำเลยที่ 8 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินของนายสุพจน์ภายหลังจากที่ กทม.ซื้อที่ดินของนายสุพจน์เพียงไม่กี่วัน ชี้ชัดว่าเป็นเงินที่เกี่ยวข้องการขายที่ดินของนายสุพจน์ให้แก่ กทม. ฟังได้ว่าจำเลยที่ 8 และพวกเรียกรับเงินจากนายสุพจน์เป็นการตอบแทน ที่จำเลยที่ 8 กับพวกช่วยดำเนินการให้กทม.ซื้อที่ดิน ส่วนที่จำเลยที่ 8 อุทธรณ์ว่าการซื้อขายที่ดินเป็นการซื้อขายที่ดินเปล่าไม่ร่วมสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากเจ้าของที่ยกสิ่งปลูกสร้างให้กับ กทม.เห็นว่า จำเลยที่ 8 ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวมีสิ่งปลูกสร้างแม้นายสุพจน์จะยกสิ่งปลูกสร้างให้กับ กทม.แต่จำเลยที่ 8 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากกทม.ไม่จดทะเบียนสิทธิ์นิติกรรมที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ตรงตามความเป็นจริงว่า มีสิ่งปลูกสร้าง การที่จำเลยที่ 8 ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็เพื่อช่วยเหลือนายสุพจน์ไม่ให้ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินและค่าธรรมเนียมจดทะเบียน จำเลยที่ 8 จึงมีความผิด ตามมาตรา 149 และ 157
ขณะที่นายสมคาด จำเลยที่ 4 เป็นคณะกรรมการ ตซช.มีหน้าที่ พิจารณาและตรวจสอบทำเลที่ดินที่ กทม.ดำเนินการจัดซื้อ ซึ่งจำเลยที่ 4 มีความเกี่ยวข้องกับ จำเลยที่ 8 ในการซื้อขายที่ดิน และจำเลยที่ 8 ไม่มีเหตุโกรธเคืองหรือปรักปรำจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 8 ซื้อแคชเชียร์เช็ค จำนวน 3 ล้านบาท สั่งจ่ายให้จำเลย ที่ 4 แสดงว่าจำเลยที่ 8 ประสงค์จะแบ่งเงินให้จำเลยที่ 4 ที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าไม่ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 8 สั่งซื้อแคชเชียร์ให้กับตัวเอง นั้นเป็นการกล่าวอ้างลอยๆและพยานที่เบิกความก็เป็นทีมงานของจำเลยที่ 4 จึงเชื่อว่าเป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 4 มากกว่า ส่วนเงินฝาก 1 ล้านบาท ในบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขานนทบุรี ของจำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 4 อ้างว่าเป็นเงินมรดกที่ได้รับจากมารดาจึงนำมาเข้าบัญชีตนเองนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4 อยู่บ้านเดียวกับมารดาตลอดและทราบดีว่าการเก็บเงินสดไว้กับตนเองจำนวนมากจะไม่ปลอดภัย หากมารดาเก็บเงินได้มากขนาดนี้จำเลยที่ 4 จะต้องนำเข้าฝากไว้กับธนาคารนานแล้ว และที่อ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกเป็นข้อต่อสู้ที่ไม่อาจรับฟังได้ ที่สำคัญคือจำเลยที่ 4 ไม่สามารถนำสืบแหล่งที่มาของเงินจำนวน 14 ล้านบาทได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลย 4 ได้รับเงินจากจำเลยที่ 8 ที่เรียกค่าตอบแทนการดำเนินจัดซื้อที่ดินจากนายสุพจน์
นอกจากนี้ จำเลยที่ 8 ได้ถอนเงินจำนวน 5 ล้านบาทและนำเงินฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันธนาคารเอเชีย สาขาสาธร และนำเงินเข้าธนาคารไทยธนุ สาขาชิดลมอีก จำนวน 5 ล้านบาท เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของนายพิจิตต จำเลยที่ 1 นายสุพจน์และเงินที่ จำเลยที่ 8 ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 แล้วก็เป็นเงินส่วนหนึ่งที่นายสุพจน์ได้จากการขายที่ดินให้กับ กทม. แม้โจทก์ไม่ได้หาหลักฐานเชื่อมโยงเงินจำนวนดังกล่าว ก็เป็นหน้าที่จำเลยที่ 1 จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงถึงเงินจำนวนดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 เบิกความว่า เงินจำนวน 10 ล้านบาท เป็นเงินที่มีอยู่เดิมและได้แจ้งต่อ ป.ป.ป.ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่งเห็นว่า นำสำเนารายการแสดงบัญชีทรัพย์สินจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำเอง ซึ่งการแสดงรายการสินทรัพย์เป็นเงินสด ไม่มีอะไรเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ามีเงินสดจำนวนดังกล่าวอยู่จริง ทั้งนี้จำนวนเงินสดที่แจ้งไว้มีมากถึง 13 ล้านบาท ย่อมจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันที่มาของเงินได้ไม่ยาก แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานมาแสดงจำนวนเงินสดที่จำเลยที่ 1 แจ้งไว้ในรายการทรัพย์สิน จึงไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ย่อมประกอบธุรกิจและใช้บัญชีธนาคาร ต้องทราบดีว่าหากเก็บเงินสดไว้จะไม่ปลอดภัยและขาดประโยชน์ที่จะได้จากดอกเบี้ย เมื่อตรวจสอบบัญชีของจำเลยที่ 1 ทั้งสองธนาคาร ทราบว่ามีการเบิกเงินเกินบัญชี มียอดหนี้ธนาคารมาตลอดทั้งสองบัญชี ซึ่งสภาพการเงินเป็นหนี้ 10 ล้านบาท ยังไม่มีเหตุผลว่าเหตุใดที่จำเลยที่ 1 ต้องเก็บเงินสดไว้กับตัวเองยอมเสียดอกเบี้ยให้กับธนาคาร พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1, 4 และ 8 ร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ส่วนที่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 8 อ้างว่ากทม.ไม่ได้รับความเสียหายและโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นเกินสมควร เห็นว่า แม้จำเลย 4 และ 8 จะเรียกรับเงินแต่ศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ไม่ทำให้ กทม.ได้รับความเสียหาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 8 ปี และจำคุกจำเลยที่ 8 เป็นเวลา 10 ปีนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าหนักเกินไป อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้เป็นจำคุก จำเลยที่ 1 และ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา คนละ 5 ปี และให้จำคุก จำเลยที่ 8 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เป็นเวลา 7 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ภายหลังทนายความจำเลย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินและเงินสดขอปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1, 4 และ 8 ระหว่างฎีกาสู้คดี ซึ่งล่าสุดศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันโดยตีราคาประกันจำเลยที่ 1,4 คนละ 8 แสนบาท และจำเลยที่ 8 ศาลตีราคาประกัน 1 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากศาล
ดร.พิจิตต กล่าว ด้วยสีหน้านิ่งเฉยว่า ขณะนี้ทำงานอยู่องค์กรระหว่างประเทศ ทุกวันนี้ก็เอาใจช่วยผู้ว่า กทม.ทุกคนอยู่ ส่วนเรื่องการสู้คดีในชั้นฎีกาให้เป็นเรื่องของทนายความ ก็ไม่รู้สึกเครียด เพราะเครียดกว่านี้ก็เคยมาแล้ว