ASTVผู้จัดการออนไลน์--ค่าเงินเอเชียปั่นป่วนไปตามๆกัน ท่ามกลางกระแสวิตกกันว่าจะเกิดศึกแข่งขันลดค่าเงินแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน หลังจากที่ธนาคารประชาชนจีน ซึ่งเป็นธนาคารกลาง ปรับลดค่าเงินหยวนแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันอังคาร (11 ส.ค.) ร้อยละ 1.86 โดยกำหนดค่ากลางในการซื้อขายสกุลเงินหยวนประจำวัน ที่ 6.2298 หยวน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในวันถัดมายังได้ปรับลดค่าเงินหยวนลงอีกร้อยละ1.62 โดยกำหนดค่ากลางการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่ 12 ส.ค. ที่ 6.3306 หยวน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
การลดค่าเงินจีนในสองวันติดๆกันนี้ ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงไปเกือบ ร้อยละ 4 ถือเป็นการปรับลดค่าเงินจีนครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี นับจากปี 2548 ที่จีนได้ประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินจีน กับดอลลาร์สหรัฐ และใช้ระบบค่าเงินลอยตัวแบบมีการจัดการ
ก่อนหน้านี้ จีนกำหนดค่ากลาง หรือ อัตราอ้างอิงของอัตราแลกเปลี่ยนหยวนจากโพลล์ของผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาด (market-makers) แต่ในวันอังคารที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนแถลงว่าจะกำหนดค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยนจากตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนตอนปิดตลาดของวันก่อนหน้า อุปสงค์และอุปทานในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราหลัก
ตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดซื้อขายทันที (spot market) ณ ขณะนี้ สามารถเคลื่อนไหวขึ้น-ลงจากค่ากลางฯที่ทางการกำหนด ระหว่างร้อยละ 2 ในแต่ละวัน
ธนาคารกลางมังกรยัน หยวนไม่ควงสว่านอ่อนค่า
ทางธนาคารกลางจีนแถลงว่าการปรับลดค่าเงินหยวนครั้งนี้เป็นการปรับลดครั้งเดียวจบ (one-off devaluation) เพื่อปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยน เป็นการปรับปรุงกลไกกำหนดราคาหยวน และรักษาค่าเงินให้มีเสถียรภาพในระดับที่สมเหตุสมผล
ขณะนี้จีนกำลังปฏิรูปนโยบายหยวนเพื่อที่จะได้เข้าไปรวมอยู่ในระบบตะกร้าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสกุลหลัก หรือที่เรียกว่า ซูเปอร์ เคอร์เรนซี (Special Drawing Right ชื่อย่อ SDR) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ
กลุ่มนักวิเคราะห์ของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ที่นำทีมโดย Eddie Cheung กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินครั้งนี้ จะช่วยดันสกุลเงินหยวนเข้าสู่ “ชมรมซูเปอร์ เคอร์เรนซี” ของไอเอ็มเอฟ ก่อนหน้าไอเอ็มเอฟก็ได้กล่าวว่าหยวนต้องปฏิรูปสู่กลไกตลาดมากขึ้น หลังจากที่จีนประกาศลดค่าเงินในสัปดาห์นี้ ไอเอ็มเอฟมีปฏิกิริยาตอบรับด้วยดีว่าจะส่งผลเป็นคุณูปการในระยะยาว
“กลไกใหม่ในการกำหนดค่ากลางหยวน...เป็นความเคลื่อนไหวที่น่ายินดี โดยจะเปิดทางให้พลังของตลาดเข้ามามีบทบาทในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น” โฆษกไอเอ็มเอฟ แถลง
ธนาคารกลางมังกรยังได้อ้างอิงรากฐานเศรษฐกิจจีนยังแข็งแรงพอที่จะเป็นกันชนมิให้ค่าเงินไถลร่วงลงไปมากกว่านี้
หม่า จวิน หน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารประชาชนจีน เขียนในบทความแสดงความคิดเห็นที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์พีเพิล เดลี่ กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุว่าจากข้อมูลดัชนีเศรษฐกิจตัวสำคัญๆยังสามารถประคับประคองเงินหยวนให้มีเสถียรภาพ รากฐานเศรษฐกิจจีนยังคงดีอยู่ ดีกว่ากลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆเผชิญกับแรงกดดันมหาศาลจนต้องลดค่าเงินของพวกเขา
ปัจจัยหลายๆตัวที่ยังเป็นเสาค้ำเงินหยวน อาทิ ตัวเลขบัญชีเดินสะพัดเกินดุล (Current Account Surplus) ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 3.65 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สภาพการคลังที่ยังแข็งแรงดี อัตราขยายตัวเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในระดับกลางที่ร้อยละ 7 ระหว่างครึ่งปีแรกนี้ ความต้องการสกุลเงินหยวนที่ยังขยายตัวในการค้าโลก การลงทุน ตลอดจนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดแห่งสหรัฐฯที่กำลังประกาศในเร็วๆนี้ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยปกป้องค่าเงินหยวนจากการถูกดูดเข้าไปในวังวนควงสว่านอ่อนค่าลงเรื่อยๆ
แต่กลุ่มนักวิเคราะห์มองกันว่า การปรับลดค่าเงินหยวนครั้งนี้ เป็นการช่วยอุดหนุนการส่งออกที่ยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมังกร เสริมสร้างพลังการแข่งขันในขณะที่อัตราเติบโตเศรษฐกิจซบเซาอย่างน่ากลัวอยู่ขณะนี้
“การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนที่อ่อนค่าเช่นนี้ ส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางจีนจะปรับลดค่าเงินให้อ่อนค่าลงกว่านี้ ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าในระดับเมื่อวันอังคาร(11 ส.ค.) ยังไม่แรงพอที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออก นอกจากนี้ทุนก็จะเผ่นหนีออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ” Kenix Lai นักวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนประจำธนาคารเอเชียตะวันออก (Bank of East Asia) ในฮ่องกง ชี้
ทั้งนี้การส่งออกจีนตกต่ำลงร้อยละ 8.3 ในเดือนก.ค. ซึ่งทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจแผ่นดินใหญ่ในครึ่งปีหลังไม่สดใสเลย
การวิเคราะห์อีกสำนัก SG Global Economics ระบุในรายงานการวิจัยว่า การลดค่าเงินจะช่วยเศรษฐกิจมังกรที่กำลังซวนเซ
“แม้ว่าธนาคารจีนบอกว่าเป็นการลดค่าเงินแบบครั้งเดียวจบ แต่เราก็แลเห็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่จะฉุดเงินหยวนอ่อนค่าลงอีก”
ขณะนี้บางประเทศก็ได้ลดค่าเงินกันแล้ว ตอกย้ำกระแสวิตกที่ว่าจะเกิดสงครามลดค่าเงินแบบตาต่อตาฟันต่อฟันในกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ เพื่ออัดฉีดดารส่งออกของตนในตลาดโลกก่อนหน้าที่สหรัฐฯจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดกันว่าจะประกาศในเร็วๆนี้
เวียดนามโต้ในพลัน ลดค่าเงินด่ง
เวียดนามประกาศโต้ตอบการลดค่าเงินจีนอย่างชัดเจน โดยขยายแถบช่วงที่ให้อัตราแลกเปลี่ยนสามารถขึ้น-ลงได้จาก “ค่ากลาง” เป็น 2 เท่าตัว นั่นคือต่อนี้ไปให้ขึ้นหรือลงได้ ไม่เกิน 2% จากค่ากลางที่ธนาคารกลางกำหนดในแต่ละวัน ส่งผลให้เงินด่งอ่อนลงทันที 1% อยู่ที่ 22,040 ด่งต่อดอลลาร์เมื่อวันพุธ(12) ขณะที่อัตราอ้างอิงยงคงเดิมที่ 21,673
ธนาคารกลางเวียดนามแถลงว่า เนื่องจากการลดค่าเงินหยวนของจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุด ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจเวียดนาม จึงต้องดำเนินการเพื่อให้เงินด่งยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรับมือผลกระทบดังกล่าวได้ และรับประกันความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกของประเทศ
ขณะที่ เกาหลีใต้ได้ลดค่าเงินวอน และออสเตรเลียก็ลดค่าเงินดอลลาร์ของตนไปแล้ว.