xs
xsm
sm
md
lg

ฆ่าเสือดำโฆษณาเสือแดง เครือข่ายเยาวชนจี้ สธ.เอาผิดป้ายโฆษณาตึก “เปรมชัย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายเยาวชน จี้ สธ. เอาผิดป้ายโฆษณาตึก “เปรมชัย” ซัดฆ่าเสือดำโฆษณาเสือแดง ด้าน สธ. ชี้ มีมูลเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. น้ำเมา แต่ยังต้องรวบรวมหลักฐาน ยอมรับใช้สัญลักษณ์ “น้ำดื่ม - โซดา” คล้ายคลึงแอลกอฮอล์เป็นปัญหามาก เร่งศึกษาเพิ่มมีผลทำให้เข้าใจเป็นน้ำเมา หวังแก้กฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มธรรมดาแต่โลโก้คล้ายน้ำเมา

วันนี้ (14 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมกลุ่มเยาวชนกว่า 20 คน นำหลักฐานการกระทำผิดกฎหมายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บนตึกอิตัลไทย ที่ตั้งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่ง นายเปรมชัย กรรณสูต เป็นประธานบริหารบริษัท และป้ายบิลบอร์ดตามตึกอาคารสูงต่างๆ มายื่นต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สธ. เป็นตัวแทนรับมอบ ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการกากบาททับป้ายที่ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งชูป้ายเสียดสีด้วยข้อความต่างๆ อาทิ ฆ่าเสือดำโฆษณาเสือแดง หลบเลี่ยงกฎหมายโฆษณาหาผลประโยชน์ เป็นต้น

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เครือข่ายฯ ได้ร้องเรียนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้งกรณีป้ายโฆษณาบนตึกสูงที่ผิดกฎหมาย ป้ายโฆษณาบนตึกอิตัลไทย รวมไปถึงป้ายโฆษณาตู้ไฟ ตามร้านเหล้าผับบาร์ต่างๆ ที่มีการใช้ตราสัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบใดๆ จาก กทม. และป้ายโฆษณาก็ยังติดเกลื่อนเมือง จึงนำหลักฐานต่างๆ มามอบให้ สธ. เพื่อให้เอาผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

นายวันชัย พูลช่วย เลขานุการเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า ขอให้ สธ. ดำเนินการดังนี้ 1. ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ดำเนินการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรูปของป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ติดบนผนังตึก อาคารสูง ฯลฯ ที่มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงตราสัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2. หาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการโฆษณาของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ใช้ตราสัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิเช่น น้ำดื่ม น้ำโซดา ฯลฯ อย่างเป็นรูปธรรมโดยด่วน และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อออนไลน์ และ 3. ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 ขอเรียกร้องผ่านไปยังผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เคารพกฎหมายและหยุดหาช่องเพื่อโฆษณาหลบเลี่ยงกฎหมาย ทำการตลาดที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบ

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการใช้ตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์อื่น เช่น น้ำดื่ม โซดา ที่มีความคล้ายคลึงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เมื่อพบเห็นภาพสัญลักษณ์แล้วรับรู้ว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 99.12 ตรงนี้หากจะมีการดำเนินการให้ชัดเจนจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2550 ในการป้องกันไม่ให้ใช้ตราสัญลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงเครื่องดื่มมาใช้โฆษณา ส่วนเรื่องการโฆษณาทางสังคมออนไลน์อยากฝากประชาชนว่าอย่าแชร์หรือส่งต่อ เพราะจะยิ่งเท่ากับเป็นการช่วยการโฆษณาออกไป

นพ.นินธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เรื่องป้ายโฆษณานั้น คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สามารถพิจารณาได้ว่ากระทำผิดหรือไม่ หากผิดก็สามารถเอาผิดได้ แต่หากไม่แน่ใจก็สามารถส่งต่อมายังคณะกรรมการควบคุมฯ พิจารณาแทน ส่วนการปลดป้ายลงนั้นไม่ใช่อำนาจของ สธ. แต่เป็นอำนาจของท้องถิ่น คือ กทม. ส่วนกรณีการโฆษณาบนตึกสูง คณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ได้รับเรื่องและพิจารณาเบื้องต้นแล้วว่า มีมูลเข้ายข่ายความผิด แต่ยังไม่ได้ชี้ขาด เพราะต้องรวบรวมหลักฐานก่อน

“หากโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบมีความผิดตรงๆ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกปรับอีกวันละ 5 หมื่นบาท จนกว่าจะจะปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่ส่วนที่อ้างว่าไม่ใช่ตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เป็นเครื่องดื่มก็ต้องมารวบรวมข้อมูลว่าเป็นอย่างไร เพราะจากผลสำรวจก็ชัดเจนว่าเมื่อพบเห็นทำให้เข้าใจว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จะต้องมีการทำวิจัยให้เห็นข้อมูลที่ชัดเจนว่าใช้สัญลักษณ์เครื่องดื่มธรรมดาที่คล้ายคลึงแล้วทำให้นึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ชัดเจนว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เบื้องต้นต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า มีใครเกี่ยวข้อง ต้องไปดูถึงเจ้าของอาคารที่ติดตั้งป้าย บริษัทที่รับจ้างโฆษณา ผู้ว่าจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย ทั้งนี้ ในวันที่ 9 เม.ย. นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ซึ่งหากรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ ได้ทันก็จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมด้วย” นพ.นิพนธ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น