xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแล้ว Surface Laptop ขายไทยราคาเริ่ม 34,900 บ. ไม่มีขยายประกันแบต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

(ในภาพจากซ้ายไปขวา) นางชนิกานต์ โปรณานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด, นางสาวเจน ดอร์ หัวหน้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เซอร์เฟส เอเชีย แปซิฟิก ไมโครซอฟท์, พร้อมด้วยลูกค้าคนสำคัญ นายวุฒิชัย เจริญผล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ไอที “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย (จำกัด) มหาชน และคุณวิสสุต เมธีสุวกุล หัวหน้ากลุ่มธุรกิจอาวุโส บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด
หลังจากเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์ จุดพลุนำ “เซอร์เฟสแล็ปท็อป” (Surface Laptop) เข้ามาทำตลาดไทยราคาเริ่มที่ 34,900 บาท ขณะที่เซอร์เฟซบุ๊กทู (Surface Book 2) ราคาเริ่ม 54,900 บาท เบื้องต้นไม่ประกาศขยายระยะเวลารับประกันแบตเตอรี เพื่อเรียกความมั่นใจกรณีรายงานรีวิวต่างประเทศเตือนภัยเครื่องไม่ทน ผู้บริหารระบุยกลูกค้ามาอันดับ 1 และเต็มที่กับบริการหลังการขายอยู่แล้ว มั่นใจสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ทุกกลุ่มที่ต้องการอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง ในยุคที่ทุกคนต้องปรับตัวกับยุคดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเงินรายได้ประชาชาติไทยเกิน 2 แสนล้านบาท

ชนิกานต์ โปรณานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า การเปิดตัว Surface Book 2 และ Surface Laptop ในประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นขยายฐานตลาด Surface อย่างจริงจัง เพื่อตอบโจทย์ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน บนพันธกิจหลักของไมโครซอฟท์เพื่อเป็นกลไกสำคัญของทุกคน ทุกองค์กรในการทำงานตามเป้าหมายให้ดีขึ้น



“การสำรวจบอกว่า ปี 2021 ราว 40% ของรายได้ประชาชาติของไทยจะมาจากดิจิทัลทรานฟอร์มเมชัน คิดเป็นมูลค่าราว 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ราว 2.8 แสนล้านบาท ที่จะเพิ่มขึ้นมา ดังนั้น ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันเป็นเทรนด์ของประเทศที่จะไป ทำให้อุปกรณ์ หรือดีไวซ์ และระบบสำหรับการทำงานร่วมกัน จะเป็นสิ่งจำเป็นของทุกคน”

Surface เป็นสินค้ากลุ่มฮาร์ดแวร์ ที่ไมโครซอฟท์ เริ่มทำตลาดมานาน 5-6 ปีแล้ว โดย Surface เป็นสินค้าอยู่ในประเภทคอมพิวเตอร์พกพาทูอินวัน (2 in 1) ที่สามารถใช้งานได้ทั้งรูปแบบคอมพิวเตอร์วางตัก และแท็บเล็ต ปัจจุบัน สินค้าหลัก Surface ประกอบด้วย 3 รุ่น คือ Surface Book 2, Surface Pro และ Surface Laptop ซึ่งถือเป็นสินค้า 2 ประเภท คือ แยกจอได้ และแยกจอไม่ได้



เจน ดอร์ หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเซอร์เฟส เอเชียแปซิฟิก ไมโครซอฟท์ ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทไม่ได้วางเป้าหมายว่า ลูกค้าเซอร์เฟสต้องเป็นผู้บริโภค หรือองค์กร แต่จะโฟกัสที่คนที่ต้องการกำลังประมวลผลสูง โดยยอมรับว่าให้ความเห็นไม่ได้กรณีที่คอนซูเมอร์รีพอร์ต (Consumer Report) สื่อคุ้มครองผู้บริโภคสหรัฐฯ ระบุว่า Surface มีความเสี่ยงเครื่องเสียหายช่วงหลังการใช้งานนาน 2-3 ปี โดยระบุว่า ไมโครซอฟท์พยายามทำให้ฮาร์ดแวร์ของบริษัทมีความเสถียรมากที่สุด ด้วยบริการหลังการขาย และยังไม่มีการปรับรูปแบบการประกันในขณะนี้
ชนิกานต์ โปรณานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด
การเปิดตัว Surface รุ่นใหม่ในรูปคอมพิวเตอร์วางตักฝาปิดถอดจอไม่ได้ หรือ Clamshell ถือเป็นการเพิ่มจาก Surface รุ่นปกติที่เน้นการใช้งานแบบแท็บเล็ตลูกผสมถอดจอได้ จุดนี้ผู้บริหารไมโครซอฟท์ ย้ำว่า ไม่ได้เป็นเพราะการหวนคืนสู่รูปแบบปกติของคอมพิวเตอร์ แต่เป็นเพราะผลสำรวจระบุว่า ผู้ใช้ต้องการรูปแบบที่วางบนตักแล้วพิมพ์ได้ จึงต้องพัฒนารูปแบบเครื่องฝาปิดแบบปกติ

“เราไม่ได้บอกว่า เป็นการกลับมา เพื่อสร้างคอมพิวเตอร์พกพาแบบเดิม แต่เป็นการนำความเห็นกลับมาแล้วสร้างเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ เพื่อเติมเต็มให้ตอบโจทย์ทุกคน เราฟังทั้งความเห็นลูกค้าองค์กร และผู้ใช้ทั่วไป ไม่แยกตามอายุ จากสินค้ารุ่นเดียวจึงถูกแยกเป็น 3 ไลน์ เกิดขึ้นเพื่อสร้างฮาร์ดแวร์เพื่อรวมประสบการณ์ไมโครซอฟท์ที่ดีที่สุดเข้าด้วยกัน”

สำหรับ Surface Book 2 และ Surface Laptop ถือเป็นสินค้าล่าสุดของไมโครซอฟท์ตระกูล Surface หลังจากเปิดตัวมา 4 รุ่น (Surface Book 2 เปิดตัวพฤศจิกายน 2017, Surface Laptop และ Surface Pro ใหม่เปิดตัวพฤษภาคม 2017) จุดนี้เจนระบุว่า ไมโครซอฟท์ตั้งใจให้ Surface เปลี่ยนวิถีการทำงานของอุปกรณ์ไอที โดยจะทดแทนได้ทั้งพีซี, แล็ปท็อป, แท็บเล็ต รวมถึงปากกาที่ทุกคนใช้กัน

“ไมโครซอฟท์ ลงทุนจริงจังในการบุกตลาดไทย เรารู้ว่า ลูกค้าต้องการแบตเตอรีที่ดี ต้องการปากกา ต้องการใช้หลายรูปแบบในอุปกรณ์เดียว เราจึงเปิดตัวอุปกรณ์ที่เป็นได้ทั้งพีซี แท็บเล็ต และสตูดิโอในการสร้างสรรค์งาน โดย Surface รุ่นล่าสุดมีประสิทธิภาพเหนือกว่ารุ่นก่อน 5 เท่า รวมฮาร์ดแวร์ที่ดีเข้ากับซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการที่ผู้ใช้ชื่นชอบ”

Surface Laptop เหมาะกับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องเรียนต่อเนื่อง หน้าจอ 13.5 นิ้ว แต่ให้ความรู้สึกเหมือนหน้าจอ 15 นิ้ว หน้าจอทัชสกรีน รองรับปากกา และนิ้วมือ แบตเตอรีนาน 14.5 ชั่วโมง ไม่ต้องพกอแดปเตอร์ คีย์บอร์ดคลุมผ้าอัลคันทารา (Alcantara) จากอิตาลี วางเป้าหมายไว้ที่ผู้หญิง น้ำหนักเบา ราคาเริ่มที่ 34,900 บาท

ขณะที่ Surface Book 2 จะรองรับโปรแกรมตัดต่อได้เร็วขึ้น มี RAM ตอบโจทย์การทำงานหนัก 1 TB มีระบบประมวลผลกราฟิกมากกว่า Surface ปกติ 5 เท่าตัว แบตเตอรีใช้ต่อเนื่อง 17 ชั่วโมง หากเชื่อมต่อหน้าจอกับคีย์บอร์ด รองรับปากกา รุ่น 13 นิ้ว 1.5 กิโลกรัม ราคาเริ่มที่ 54,900 บาท รุ่น 15 นิ้ว 1.9 กิโลกรัม ราคาเริ่ม 103,900 บาท
Surface Book 2 เปิดตัวพฤศจิกายน 2017, Surface Laptop และ Surface Pro ใหม่เปิดตัวพฤษภาคม 2017
อีกสินค้าที่น่าสนใจในการเปิดตลาด Surface ครั้งนี้ คือ ไมโครซอฟท์เซอร์เฟซพรีซิเชียส (Microsoft Surface Precision) เมาส์รุ่นใหม่ที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สูงสุด 3 เครื่อง ทำให้เมาส์ตัวเดียวสามารถเลื่อนเมาส์ผ่านหน้าจออุปกรณ์ 3 ตัวได้แบบรวดเดียว โดยที่เมาส์ตรวจจับได้เองอัตโนมัติ ราคาเริ่มที่ 3,900 บาท กำหนดการจำหน่ายเมษายนนี้

***ขายไทยพร้อมสิงคโปร์

ผู้บริหารไมโครซอฟท์ ระบุว่า การเปิดจำหน่าย Surface Book 2 และ Surface Laptop ในประเทศไทย ถือเป็นช่วงเวลาเดียวกับสิงคโปร์ ซึ่งเปิดจำหน่ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ รวมถึงมาเลเซีย ซึ่งเปิดตัวก่อนประเทศไทย 1 วัน

สำหรับเป้าหมายรายได้ ผู้บริหารไมโครซอฟท์ ระบุว่า เปิดเผยไม่ได้ แต่เชื่อว่า 5 ตลาดเอเชียที่ Surface ปักหลัก คือ ไทย, สิงคโปร์, นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้, มาเลเซีย ล้วนเป็นประเทศที่ยอดขายเติบโตเร็ว โดยจากการขยายไลน์สินค้าจากรูปแบบเดียว เพิ่มเป็น 3 รุ่น เชื่อว่าจะทำให้มีตลาดเพิ่มมากขึ้น

“ช่วง 5-6 ปี ที่เริ่มทำตลาด Surface ตัวแรก การสำรวจช่วงไตรมาส 3-4 ปีที่แล้ว เราพบว่ามียอดใช้งานเติบโตทั่วโลก 1% ยังไม่มีตัวเลขใน APAC”

อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ ขึ้นชื่อเรื่องไม่เคยทำโปรโมชั่นเพื่อลดราคาจำหน่ายฮาร์ดแวร์ แต่มีแผนทำโปรโมชั่นลดราคาซอฟต์แวร์เป็นหลัก ทำให้ยังไม่มีแผนการจับมือกับพันธมิตรรายอื่นนอกเหนือจากภาคธุรกิจที่ทำโครงการให้พนักงานซื้อ Surface เป็นอุปกรณ์ส่วนตัวสำหรับใช้ทำงาน (BYOD) ซึ่งบริษัท KTC เริ่มให้พนักงานซื้อแล้ว

ปัจจุบัน ผู้ใช้ 600 ล้านคนทั่วโลกใช้วินโดวส์ 10 คาดว่าการเปิดตัว Surface รุ่นใหม่จะสามารถครองส่วนแบ่งไม่มากก็น้อยจากตัวเลขการใช้จ่ายสินค้าไอทีคนไทยที่อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ตัวเลขปี 2018) คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 6.6% ซึ่งจะช่วยให้ไมโครซอฟท์ขยายเม็ดเงินหมุนเวียน จากที่ทำได้เฉพาะในตลาดซอฟต์แวร์ โดยล่าสุด มูลค่าตลาดซอฟต์แวร์แท้ในไทยขณะนี้ คือ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 12% ต่อปี.


กำลังโหลดความคิดเห็น