xs
xsm
sm
md
lg

“องค์กรที่น่าทำงานที่สุด”แสนสิริทำอย่างไรใน 3 ปี / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บมจ.แสนสิริ กิจการชั้นนำในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตั้งเป้าหมายองค์กรสู่ “Dream Place to Work” (องค์กรที่น่าทำงานที่สุด) ภายใน 3 ปี โดยเริ่มใช้ระบบการทำงานยุคใหม่ที่เรียกว่า “Agile” (เอจาวล์) ที่แหวกแนวเดิมเพื่อบริหารองค์กรด้วยการทำงานที่คล่องตัวและเพิ่มผลิตภาพ กลยุทธ์นี้จะนำมาปรับใช้ทั้งองค์กรเต็มรูปแบบภายในปลายปี 2561
นับเป็นการปรับระบบการบริหารครั้งใหญ่ ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพพนักงานและสร้างดาวเด่น (Top Talent) จนการขับเคลื่อนควบคู่กับองค์กรที่เติบโตก้าวกระโดด เพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาโครงการและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้รวดเร็วขึ้นสูงสุดถึง 20% สภาวะเช่นนี้น่าจะดึงดูดวัยทำงานรุ่นใหม่ยุคมิลเลนเนียลอยากเข้ามาร่วมงานด้วย

ขณะนี้บมจ.แสนสิริกำลังอยู่ในช่วงปฏิรูประบบการบริหารครั้งสำคัญที่เปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรยุคใหม่ ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 มิติ
1.ลักษณะวิธีการทำงาน (Way of working)
การปรับเปลี่ยนระบบการทำงานแบบ Agile จากการแบ่งเป็นฝ่ายหรือสายงาน ให้เป็นลักษณะทำงานร่วมกันของกลุ่ม
2.สถานที่ทำงาน (“Work place)
-ปรับปรุงสถานที่ทำงานและบรรยากาศแวดล้อม
-มีพื้นที่ร่วมใช้ทำงานเป็นส่วนกลาง (Co-working space)
-มีห้องประชุมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ (Creative meeting space)
-พนักงานแต่งตัวมาทำงานตามสไตล์ตัวเองได้ทุกวัน
3.ธุรกิจใหม่ (New business)
ร่วมทุนกับหุ้นส่วนระดับโลกที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและวิถีการใช้ชีวิตยุคใหม่
4.การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)
มีการปรับบทบาทกิจกรรมองค์กรให้ทันยุคสมัยและออกแบบ SANSANOOK application
5.พัฒนาคนและสร้างดาวเด่นที่มีความสามารถสูง (People&Talent)
อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า “ปัจจุบันคนวัยทำงานเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ในยุคมิลเลนเนียล (Millennial) ที่มีความเป็นตัวตนสูง มีพฤติกรรมและการทำงานที่ต้องการความรวดเร็ว เนื่องจากเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เห็นชัดในธุรกิจไอทีและสตาร์ทอัพ"
แสนสิริมีพนักงานที่เป็นกลุ่มนี้ถึง 70% จึงต้องรีบปรับระบบการทำงานให้มีความคล่องตัวสูง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่ตอบโจทย์ทั้งพนักงานและองค์กรแสนสิริในปัจจุบัน จึงนำแนวคิดการทำงานแบบ “Agile” บริหารองค์กรด้วยระบบการทำงานที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ โดยรวมพนักงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากแต่ละแผนกเข้าไว้ด้วยกันในหนึ่งทีม เพื่อการประสานความคิดและสร้างงานที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและตัดสินใจได้เร็วขึ้น
“การประเมินผลสำเร็จก็จะได้รับทั้งทีมที่ทำโครงการร่วมกัน ระบบนี้จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และขับเคลื่อนไปพร้อมกับองค์กรที่จะก้าวสู่การเป็น “Dream Place to Work” เป็นบริษัทที่น่าทํางานที่สุดของประเทศภายใน 3 ปี ที่จะสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ๆที่มีความสามารถมาร่วมงานกับแสนสิริ รวมถึงผลักดันสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการบริหารบุคลากรในองค์กรของไทย แสนสิริจึงนับเป็นบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกในโลกและองค์กรแรกในไทยที่นำแนวคิด Agile มาปรับใช้ทั้งองค์กร”
Agile (เอจาวล์) เป็นแนวคิดใหม่ที่พลิกโฉมการทำงานในองค์กรที่เคยแยกเป็นสายงานแบบแท่งไซโล ซึ่งมีหลายระดับชั้นให้มีความคล่องตัว รวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งเริ่มมาจากแนวคิดในการพัฒนาซอฟต์แวร์ และเป็นที่ยอบรับอย่างมากในวงการ IT และ Tech Start-up ก่อนที่จะขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ด้วยการทำงานแบบประสานงานข้ามสายงาน Cross-functional teams โดยรวมกลุ่มทีมพนักงาน (Squad) ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากแต่ละแผนกจัดรวมเป็นทีมรับงานแต่ละโครงการ เพื่อการประสานงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัดสินใจได้เร็วขึ้น มุ่งเน้นมุมมองที่ให้
ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่มีกับลูกค้า (Customer-centric) และแลกเปลี่ยนมุมมอง เจาะลึกถึงผู้บริโภค consumer insight ร่วมกัน เพื่อพัฒนาโครงการและบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงจุดและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน แสนสิริเริ่มก้าวสู่องค์กรแบบ Agile ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาโดยเริ่มปรับใช้แล้วกับ 3 ส่วนงานหลัก ได้แก่ ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายก่อสร้างและฝ่ายการตลาด เพื่อช่วยกันระดมสมอง สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ และตัดสินใจร่วมกัน โดย 3 เดือนที่ผ่านมา เริ่มต้นที่โครงการสร้างตึกสูงและช่วงต่อไปจะทำกับโครงการบ้านเดี่ยว
โครงสร้างตามหลัก Agile จึงจัดเป็นแนวราบและลดความซับซ้อน มีหลายโครงการก็จัดเป็นหลายกลุ่ม และกำหนดผู้มีคุณลักษณะเหมาะสม (Competencies) ทำหน้าที่ผู้ดูแลโครงการ (Product Owners) โดยไม่ติดยึดเรื่องอาวุโส
ขณะที่คนเคยเป็นผู้จัดการหรือหัวหน้าสายงานเดิมในบทบาทใหม่ เรียกว่า Chapter Lead จะเป็นคล้ายที่ปรึกษา และใช้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพตัดสินใจในประเด็นเฉพาะด้านของตนในทุกโครงการที่อยู่ในเครือข่ายที่หมู่เหล่า ภายใต้ผู้ดูแลสูงสุด (Tribe Lead) เดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารจากสายงานบริหารบุคคลและสายงานพัฒนาองค์กร ซึ่งรับการถ่ายทอดระบบกระบวนการ Agile จาก BCG มา ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก จะทำหน้าที่ส่งเสริมการเดินหน้าระบบนี้ให้กับทุกโครงการ
ตัวอย่างบริษัทในระดับโลกที่นำแนวทางแบบ Agile ไปใช้ในการปรับองค์กร เช่น Google, Zappos.com, BMW, DELL, Microsoft, ING, BOSCH, GE Energy ทั้งนี้ ก็เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและเพิ่มอิสระทางความคิดในการทำงาน โดยมุ่งสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ นอกจากนี้ ยังทำให้การทำงานร่วมกับพันธมิตรและคู่ค้ามีความรวดเร็วยิ่งขึ้นตามประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรภายในองค์กร
“ปัจจุบัน แสนสิริ มีพนักงานกว่า 2,500 คน มีหลากหลายเจเนอเรชัน เราเชื่อว่า พนักงานทุกคนมีศักยภาพในแบบของตนเอง หน้าที่หลักของผม คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ๆให้ก้าวทันกับยุคและสถานการณ์ สร้างเสริมพัฒนาบุคลากรและวัฒนธรรมให้มีบรรยากาศการทำงานที่เป็นกันเองมากขึ้น เป็นเสมือนพี่ ที่ช่วยสร้างแรงผลักดันให้กับพนักงานทุกคนได้แสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และสร้าง Top Talent ที่มีคุณค่า พัฒนาความรู้ความสามารถและเติบโตไปสู่ความสำเร็จได้ในระยะยาว (Life-Long Employability) เราเชื่อว่า การเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรแบบ Agile จะสามารถตอบโจทย์การทำงานของคนรุ่นใหม่ในยุคมิลเลนเนียลได้แน่นอน” coo แสนสิริกล่าว

เป้าหมายหลัก 5 ประการ สู่การสร้าง Value ให้กับองค์กร
1.ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ Impact and Efficiency
•เพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เร็วขึ้นถึง 10 -20% • เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน ลดลำดับชั้น (hierarchy) ของแผนผังองค์กร
2.ผลิตผลงานรวดเร็ว Faster time to market
•ลดระยะเวลาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เข้าถึงและตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายขึ้น
3.ความรู้สึกเป็นเจ้าของผลงานและได้อำนาจตัดสินใจOwnership & empowerment
•พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นเจ้าของผลงานและกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างมั่นใจ •
•เพิ่มอำนาจการตัดสินใจให้กับพนักงาน ลดการตัดสินใจโดยผู้บริหารระดับสูง
4.พนักงานมีความผูกพันEmployee engagement
•ยกระดับการมีส่วนร่วมของพนักงาน
•พนักงานมีความสุขและความพึงพอใจในการทำงานเพิ่มขึ้น
5.มุ่งลูกค้าเป็นสำคัญ Customer centric
•ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดและสร้างความพึงพอใจมากขึ้น
COO แสนสิริ จึงเชื่อว่า “การทำงานในระบบ Agile จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างบุคลากรจากแต่ละส่วนงานมากยิ่งขึ้น และน่าจะดีกว่าระบบเดิมที่ทำงานแบบแยกแผนก มีลำดับชั้นของแผนผังองค์กรซับซ้อน และทีมงานต้องรายงานกับหัวหน้างานของตนเอง ซึ่งทำให้การตัดสินใจในบางครั้งทำได้ช้า การนำแนวคิด Agile มาปรับใช้จะช่วยยกระดับความร่วมมือของสมาชิกในทีม ด้วยการให้อำนาจการตัดสินใจได้เอง ทำให้ทีมสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น จึงเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้พนักงานได้คิดค้นและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วยตัวเอง”

ข้อคิด...
นี่เป็นปรากฎการณ์ของการใช้นวัตกรรมการบริหารที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทรัพยากรมนุษย์ที่มีการปฏิรูประบบจากโครงสร้างการแบ่งสายงานที่มีการพิจารณาอนุมัติตามระดับชั้นให้เป็นลักษณะ “กลุ่มงาน” ที่ผสมผสานจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมคิด ร่วมวางแผนและร่วมทำงาน ชนิดที่ไม่มีกำแพงสายงานที่อยู่กันเป็นแท่งแบบเก่า
ด้วยหลักคิดและแนวปฏิบัติเช่นนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่รู้จักปรับตัวและปฏิรูประบบให้ทันกับปัจจัยภายนอก คือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วและทันสมัย อาจสร้างผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ หลายวงการที่เรียกว่า เกิดจาก Disruption
แม้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เห็นชัดว่าเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคใหม่ แต่แสนสิริก็ตื่นตัวทำก่อน เพราะในอนาคตพฤติกรรมผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปจากการลงทุนซื้อทรัพย์สินมาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยแบบเดิมๆ แต่อาจจะมีรูปแบบการได้ที่พักอาศัยโดยไม่นิยมการซื้อหรือถือครองทรัพย์สิน และสามารถสร้างรายได้ในรูปแบบที่เทคโนโลยีดิจิทัลเอิ้ออำนวยมากขึ้น
รูปลักษณ์การทำธุรกิจมีแนวโน้มเปลี่ยนไปได้อีกมาก การปรับตัวครั้งนี้จึงเป็นการเตรียมรับธุรกิจในอนาคต พร้อมกับการคำนึงถึงทรัพยากรบุคคลที่มีระบบการทำงานและสภาพแวดล้อมที่จูงใจคนทำงานและดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมงาน
ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทั้งการสร้างผลประกอบการที่ดี มีความเป็นธรรมต่อผู้ลงทุนและพนักงานหรือมี CSR ภายในองค์กรนั่นเอง
suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น