จากที่ก่อนหน้านี้ เราอาจเคยได้ยินว่า โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก คือ ตัวการทำให้คนเกิดอาการซึมเศร้ากันมาแล้ว วันนี้มีผลวิจัยจาก Ditch the Label ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ต่อต้านการกลั่นแกล้งกันบนอินเทอร์เน็ตออกมาระบุว่า บริษัทในเครือเดียวกันอย่างอินสตาแกรม (Instagram) ก็ทำให้ผู้ใช้งาน โดยเฉพาะวัยรุ่นรู้สึกแย่กับตัวเองได้เช่นกัน
โดย 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินสตาแกรมบอกว่า รู้สึกแย่ถ้าไม่มีใครกดไลก์ให้กับภาพเซลฟี่ของตนเอง และ 35 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่า ความเชื่อมั่นในตัวเองนั้น เชื่อมโยงกับจำนวนของผู้ติดตามที่ตนเองมีบนแพลตฟอร์มดังกล่าว
ในจำนวนนี้มี 7 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นวัยรุ่นระบุว่า พวกเขา หรือเธอ เคยถูกกลั่นแกล้งบนแอปพลิเคชันอินสตาแกรมนี้ด้วย โดยถือว่าการกลั่นแกล้งบนอินสตาแกรมเกิดขึ้นในสถิติที่สูงสุด สูงกว่าเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่มี 6 เปอร์เซ็นต์ หรือสแนปแชต (5 เปอร์เซ็นต์) ด้วย
ด้านอินสตาแกรม ผู้บริหารอย่าง Michelle Napchan ได้ออกมาชี้แจงว่า บริษัทสนับสนุนให้ผู้ใช้งานรีพอร์ตการกลั่นแกล้งเหล่านั้น เพราะบริษัทรู้ดีว่า คอมเมนต์ที่โพสต์โดยบุคคลอื่นเหล่านี้สามารถสร้างบาดแผลในใจให้กับผู้ใช้งานได้ นอกจากนั้น ทางบริษัทได้มีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้อินสตาแกรมเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการใช้งานมากขึ้นด้วย
“เรามีการนำเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงเข้ามาจัดการกับคอมเมนต์รุนแรง โดยระบบจะบล็อกไม่ให้แสดงผลบนแอ็กเคานต์ของผู้ใช้งาน และเรายังเปิดโอกาสให้เลือกได้ว่าจะปิดช่องแสดงความคิดเห็นหรือไม่ด้วย”
“ส่วนใครที่กังวลมากกว่านั้น เราก็มีระบบให้ผู้ใช้งานสร้างลิสต์ของคำ หรืออิโมจิ ที่ตนเองต้องการแบนแบบส่วนบุคคลได้เลย”
ทั้งนี้ การสำรวจในเด็กกว่า 10,000 คนที่อายุระหว่าง 12-20 ปีของ Ditch the Label พบว่า การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตนั้นพบได้ทั่วไป โดย 70 เปอร์เซ็นต์ของเด็กวัยรุ่นยอมรับว่า ตนเองเคยไปล่วงละเมิดคนอื่น และ 17 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่า พวกตนเคยถูกกลั่นแกล้ง
“ในจุดนี้ทำให้มีถึง 47 เปอร์เซ็นต์ที่ระบุว่า จะไม่นำเรื่องไม่ดีในชีวิตขึ้นมาโพสต์บนโซเชียลมีเดียเด็ดขาด จนเกิดเป็นเทรนด์ที่ผู้คนต่างจำลองตัวตนบนโลกออนไลน์ขึ้นมา และปฏิเสธที่จะแสดงตัวตนตามที่เป็นจริง” Liam Hackett ผู้บริหารของ Ditch the Label ซึ่งทำการวิจัยในเรื่องนี้กล่าว
“การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของเด็กยุคนี้ แถมยังสร้างผลกระทบในด้านพฤติกรรม และบุคลิกภาพของเด็ก ๆ ด้วย”
Liam Hackett ยังได้เรียกร้องให้โซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลายพัฒนาระบบขึ้นมาตรวจจับคอมเมนต์ต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น และดูแลส่วนงานร้องเรียนให้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวนั้น ค่อนข้างตรงกันข้ามกับผลการสำรวจของ The Oxford Internet Institute (OII) ที่พบว่า การกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ตนั้นพบได้น้อยมาก โดยมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยอมรับว่าเคยเจอ ซึ่ง Lauren Seager-Smith ผู้บริหารขององค์กรการกุศลอย่าง Kidscape มองว่า ความแตกต่างด้านตัวเลขที่กว้างมากนี้ อาจมาจากแบบสำรวจทั้งสองชิ้นที่ใช้คำถามแตกต่างกัน คนที่ถูกถามก็แตกต่างกัน และอายุของผู้ตอบก็แตกต่างกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่เธอมั่นใจก็คือ มนุษย์ควรจะอยู่ห่างจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงเด็ก ๆ ที่ควรใช้มันให้น้อยลง
“บ่อยครั้งที่เราพบว่า ผู้ปกครองเองก็ติดโซเชียลมีเดียไม่แพ้กัน และปฏิเสธว่า ไม่มีผลกระทบใด ๆ กับครอบครัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีชีวิตในมุมอื่น ๆ นอกจากชีวิตบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก และมีภาพอื่น ๆ ที่น่าดูมากกว่าภาพบนนิวส์ฟีดอีกมากมาย” Lauren กล่าวปิดท้าย