xs
xsm
sm
md
lg

สามประเทศยักษ์ “รัสเซีย-จีน-อิหร่าน” ทำตัวเป็นสปาย ล้วงข้อมูลเยอรมนี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เยอรมนีเตรียมรับมือภัยทางไซเบอร์ หลังเผยรายงานที่ระบุว่า ประเทศของตนเองตกเป็นเป้าหมายใหญ่เป้าหมายหนึ่งของขบวนการจารกรรมข้อมูล และการโจมตีทางออนไลน์ โดยประเทศที่จ้องเล่นงานเยอรมนี ได้แก่ ตุรกี, รัสเซีย และจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมระบุว่า การโจมตีในลักษณะนี้เหมือนการใช้ระเบิดเวลา ที่เมื่อระเบิดขึ้นมาก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศได้เลยทีเดียว

โดยรายงานดังกล่าวมาจาก Bundesamt für Verfassungsschutz หรือ BfV ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษ (Intelligence Agency) ของเยอรมนี ที่ได้เผยแพร่รายงานประจำปีความยาว 339 หน้าออกมา และในรายงานฉบับนี้ระบุว่า มีการลักลอบเก็บข้อมูลในเยอรมนี เมื่อปี 2016 รวมถึงความพยายามของรัสเซีย ที่จะแทรกแซง และชี้นำการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 กันยายนนี้ด้วย

สำหรับภัยคุกคามที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้น รายงานดังกล่าวระบุว่า มีตั้งแต่การปล่อยให้กลุ่มอิสลามมีความเข้มแข็งขึ้น ไปจนถึงการเพิ่มขึ้นของผู้ที่มีแนวคิดขวาจัด ฯลฯ แต่ที่เป็นไฮไลต์ก็คือ การจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ พร้อมกับชี้ว่า มีตัวเลขที่ตรวจพบได้ว่า มีการลักลอบขโมยข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่พิเศษของตุรกีเกิดขึ้นในเยอรมนีเมื่อปี 2016

เป้าหมาย คือ กระทรวงต่างประเทศ และสำนักงานของกระทรวงในต่างแดน, กระทรวงการเงินและเศรษฐกิจ, หน่วยงานด้านการทหาร และสถานเอกอัครราชทูต นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของภาคอุตสาหกรรม เช่น การผลิตอาวุธ, บริษัทด้านอวกาศและการบิน, อุตสาหกรรมรถยนต์ และสถาบันวิจัยต่าง ๆ ด้วย

เยอรมนียังได้ข้อมูลจากพันธมิตรด้านการทหารอย่างนาโต้ (NATO) และข้อมูลจากบริษัทโทรคมนาคมที่ระบุว่า นอกจากการจารกรรมข้อมูลแล้ว “มัลแวร์” ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ถูกใช้ในครั้งนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลเปรียบมัลแวร์เป็นระเบิดเวลาที่รอการระเบิด พร้อมยกตัวอย่างกรณีแซนเวิร์ม (Sandworm) ที่ผู้เชี่ยวชาญพบว่า มันมีความเกี่ยวข้องกับรัสเซีย และมีเป้าหมายไปที่เว็บไซต์ของรัฐบาลเยอรมนีด้วย

โดยผู้ให้ข้อมูลระบุว่า ประเทศที่จ้องเล่นงานเยอรมนีมีสามประเทศได้แก่ รัสเซีย, จีน และอิหร่าน แต่ว่าต่างคนต่างมีเหตุผลในการโจมตีที่ต่างออกไป

กรณีของรัสเซียนั้น ต้องการให้เกิดการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยสหภาพยุโรปต่อการกระทำของรัฐบาลกรุงมอสโค ในยูเครน และต้องการชี้นำการเลือกตั้งในเยอรมนีผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น LinkedIn และเฟซบุ๊ก (Facebook) และสื่อของรัสเซียเอง

ส่วนอิหร่านนั้น มุ่งไปที่กลุ่มชาวยิว และศัตรูทางการเมืองของรัฐบาล ด้านทางการจีนนั้น พบว่า มีการจารกรรมข้อมูลสูงขึ้นนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2013 โดยโฟกัสไปที่กิจกรรมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น เช่น งานประชุม G20 ที่เมือง Hamburg
กำลังโหลดความคิดเห็น